แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้มาโดยการซื้อมาจากเอกชน มิใช่ดำเนินการเวนคืนมาตาม กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าช ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เท่านั้น ข้ออ้างที่ว่าใช้สำหรับเป็นทางออกหนีไฟของคลังก๊าช เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตราย ก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของโจทก์ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนและมีการดำเนินการทางธุรกิจในฐานะเดียวกับเอกชน ไม่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ กรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์อันร่วมกันเช่นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไว และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากบุคคลซึ่งรับโอนและครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไวตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาโดยสงบ เปิดเผย เป็นเวลาติดต่อกันมาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จำเลยทั้งสี่สามารถยกอายุความการครอบครองขึ้นมาต่อสู้ได้
จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย อ. ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายประไว โดยเริ่มต้นนายประไวซื้อที่ดินพิพาทมาจากพลอากาศตรีอำนวยเมื่อประมาณปี 2533 และมีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยก่อนจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยทั้งสี่ การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่
ย่อยาว
คดีสี่สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกจำเลยทั้งสี่สำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องทั้งสี่สำนวนขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่และบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ตามโฉนดเลขที่ 2549 ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ให้จำเลยที่ 1 และบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 75/2 ให้จำเลยที่ 2 และบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 75/5 ให้จำเลยที่ 3 และบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 75/1 และให้จำเลยที่ 4 และบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 75 ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างกับขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 303,300 บาท 109,080 บาท 303,300 บาท และ 381,720 บาท ตามลำดับให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 1,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามกฎหมาย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งทั้งสี่สำนวนขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้จำเลยทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2549 ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เฉพาะส่วนที่จำเลยแต่ละคนครอบครอง โดยจำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงที่ 4 และแปลงที่ 5 เนื้อที่ 33 ตารางวา และเนื้อที่ 53 ตารางวา ตามลำดับ จำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงที่ 1 เนื้อที่ 57 ตารางวา จำเลยที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงที่ 2 เนื้อที่ 27 ตารางวา และจำเลยที่ 4 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแปลงที่ 3 เนื้อที่ 33 ตารางวา โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ทั้งนี้ให้ถือแผนที่พิพาท เป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสี่ โดยกำหนด ค่าทนายความ 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ทั้งสี่สำนวน
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสี่สำนวนละ 5,000 บาท
โจทก์ฎีกาทั้งสี่สำนวนโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า เดิมโจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ต่อมาได้ถูกยกเลิกเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 โดยจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2549 ตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 2 ตารางวา โดยซื้อมาจากพลอากาศตรีอำนวย เมื่อปี 2527 ก่อนมีการขอออกโฉนดดังกล่าว ที่ดินพิพาทมีหลักฐานเป็น น.ส. 3 เลขที่ 151 เนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา และ น.ส. 3 เลขที่ 152 เนื้อที่ 2 งาน 72 ตารางวา ปรากฏตามสารบัญการจดทะเบียนและสัญญาซื้อขาย ต่อมาเมื่อปี 2533 พลอากาศตรีอำนวยได้ไปยื่นขอออกใบแทน น.ส. 3 เลขที่ 152 และขอทำการรังวัดเปลี่ยนเป็น น.ส. 3 ก เลขที่ 1063 เนื้อที่ 2 งาน 56 ตารางวา ปรากฏตามหลักฐาน จากนั้นได้โอนขายที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1063 ดังกล่าวให้แก่นายประไว พึ่งกลั่น ปรากฏตามสัญญาซื้อขาย ต่อมานายประไวได้ขอแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็น น.ส. 3 ก. เลขที่ 1196 เนื้อที่ 50 ตารางวา แล้วโอนขายให้แก่บุคคลอื่นเป็นทอด ๆ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อรายสุดท้ายและครอบครองทำประโยชน์มาตลอดตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน สำหรับที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 1063 ส่วนที่เหลือนั้น นายประไวได้จดทะเบียนโอนให้แก่พี่น้องของตน ซึ่งมีจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 รวมอยู่ด้วย จำเลยทั้งสี่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับโอนมาโดยปลูกบ้านอาศัยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาตลอด ต่อมาโจทก์ได้ไปยื่นคำขอตรวจสอบแนวเขตที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดชลบุรี สาขาบางละมุง ผลการรังวัดตรวจสอบปรากฏว่าได้รูปแผนที่และเนื้อที่เท่าเดิม จึงได้รู้ความจริงว่าที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 1063 และเลขที่ 1196 ออกทับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2549 ของโจทก์ และต่อมาเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2549 อธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งให้เพิกถอน น.ส. 3 ก. ทั้งสองแปลงดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นแรกตามข้ออ้างที่ว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่า เดิมโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 โดยเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดังนั้น ทรัพย์สินของโจทก์ไม่ว่าจะได้มาโดยทางใด ย่อมตกเป็นของแผ่นดิน โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากพลอากาศตรีอำนวยเพื่อใช้เป็นทางออกหนีไฟของคลังก๊าช เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงานในคลังก๊าชบ้านโรงโป๊ะ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางเก็บสำรองรับจ่ายและบรรจุผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเหลว เพื่อสนองความต้องการใช้และอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนทั้งชาติ ทั้งเป็นการรองรับความต้องการพลังงานในกรณีฉุกเฉิน เช่น ในกรณีมีน้ำท่วมหรือมีสงคราม เป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศชาติ ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) จำเลยทั้งสี่ไม่อาจยกอายุความครอบครองปรปักษ์ขึ้นมาต่อสู้ได้ เห็นว่า ที่ดินพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้มาโดยการซื้อมาจากเอกชน มิใช่ดำเนินการเวนคืนมาตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าช ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เท่านั้น ข้ออ้างที่ว่าใช้สำหรับเป็นทางออกหนีไฟของคลังก๊าช เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตราย ก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของโจทก์ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนและมีการดำเนินการทางธุรกิจในฐานะเดียวกับเอกชน ไม่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ กรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์อันร่วมกันเช่นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไว และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทจากบุคคลซึ่งรับโอนและครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไวตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาโดยสงบ เปิดเผย เป็นเวลาติดต่อกันมาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จำเลยทั้งสี่สามารถยกอายุความการครอบครองขึ้นมาต่อสู้ได้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นต่อมาเรื่องการครอบครองปรปักษ์ ซึ่งโจทก์โต้แย้งว่ามีได้แต่เฉพาะที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นเท่านั้น แต่คดีนี้จำเลยทั้งสี่อ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทสืบเนื่องต่อมาจากนายประไว ซึ่งซื้อที่ดินพิพาทมาจากพลอากาศตรีอำนวย และครอบครองโดยถือว่าเป็นที่ดินของตนเองมาโดยตลอด ไม่ได้ครอบครองโดยเชื่อว่าเป็นที่ดินของผู้อื่นที่มีกรรมสิทธิ์อยู่ก่อน จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการครอบครองปรปักษ์ ทั้งการครอบครองของจำเลยทั้งสี่ก็ถูกโจทก์โต้แย้งคัดค้านมาตลอด โดยเมื่อปี 2547 โจทก์ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปรังวัดสอบเขตจนทราบความจริงว่ามีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทับซ้อนโฉนดที่ดินพิพาท เป็นการไม่ชอบ ซึ่งต่อมาอธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวแล้ว การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสี่ จึงมิได้เป็นไปด้วยความสงบติดต่อกันนานถึง 10 ปี ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติไว้ จำเลยทั้งสี่จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ใด ๆ เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการนำสืบของจำเลยทั้งสี่ซึ่งโจทก์ไม่อาจหักล้างเป็นอื่น ฟังได้เป็นยุติแล้วว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายอนุรักษ์ ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายประไว โดยเริ่มต้นนายประไวซื้อที่ดินพิพาทมาจากพลอากาศตรีอำนวยเมื่อประมาณปี 2533 ตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขาย และมีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยก่อนจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยทั้งสี่ การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ที่โจทก์ฎีกาอ้างในทำนองว่า ภายหลังรับโอนมาจากนายอนุรักษ์และนายประไว จำเลยทั้งสี่ครอบครองที่ดินพิพาทโดยถือว่าเป็นของตนเองมาตลอด มิได้ครอบครองโดยเชื่อว่าเป็นที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงไม่เข้าลักษณะการครอบครองปรปักษ์ เพราะการครอบครองปรปักษ์ต้องครอบครองโดยรู้ว่าที่ดินเป็นของผู้อื่น เห็นว่า เป็นข้ออ้างที่คลาดเคลื่อน เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่ ข้ออ้างของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า จำเลยทั้งสี่เข้าใจมาตลอดว่าที่ดินพิพาทที่พวกตนยึดถือครอบครองเป็นที่ดินมีหลักฐานเป็น น.ส. 3 หรือ น.ส. 3 ก. ซึ่งเจ้าของมีได้เพียงสิทธิครอบครอง มิใช่กรรมสิทธิ์ การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสี่ จึงมีเพียงเจตนาเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเท่านั้น มิใช่การครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ซึ่งเป็นการครอบครองโดยเชื่อว่าเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น จำเลยทั้งสี่จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยทั้งสี่ เป็นการครอบครองเพื่อตน มิได้ครอบครองแทนผู้ใดดังกล่าวมาแล้ว พฤติการณ์จึงบ่งชี้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนามุ่งหมายในอันที่จะเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยตรง ฉะนั้น การที่จำเลยทั้งสี่จะเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานะของที่ดินพิพาทเป็นอย่างไร จึงไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติแล้วว่า ที่ดินพิพาทมีโฉนดเป็นหลักฐานทางทะเบียน ผู้ใดเข้าครอบครองทำประโยชน์อย่างเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ และด้วยความสงบติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้นั้นย่อมได้กรรมสิทธิ์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติไว้ ดังนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังต้องกันว่าจำเลยทั้งสี่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงชอบแล้ว อนึ่ง แม้จำเลยทั้งสี่จะเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทสืบเนื่องมาจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ได้สิทธิใด ๆ มาจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เหตุดังกล่าวคงมีผลเฉพาะการขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ออกทับโฉนดที่ดินของโจทก์โดยไม่ชอบเท่านั้น แต่ไม่เป็นเหตุให้กระทบกระเทือนถึงสิทธิของจำเลยทั้งสี่ซึ่งได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองโดยชอบและเป็นปรปักษ์อยู่ในตัว ดังนี้ ข้ออ้างของโจทก์ในข้อที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จึงนำมาใช้บังคับกับกรณีของจำเลยทั้งสี่ ซึ่งเป็นการได้กรรมสิทธิ์มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม หาได้ไม่ ฎีกาทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มิได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมในชั้นฎีกาและในส่วนฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ