คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13566/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเป็นบุคคลคนเดียวกับคริสตจักรในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทซึ่งเป็นโบสถ์และที่ดินที่ตั้งโบสถ์ของคริสตจักรใจสมาน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินและอาคารให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่จะเอาไปจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจหรือมีพระราชกฤษฎีกา ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 เอาไปขายให้โจทก์ จึงเป็นโมฆะ แม้โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทโดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วก็ไม่มีผล โจทก์จึงไม่ใช่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาท ดังนั้น โจทก์จะเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาบังคับขับไล่ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองให้ออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทโดยถือว่าเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เนื่องจากที่ดินและอาคารพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองครอบครองใช้ประโยชน์อยู่โดยมีสิทธิ ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองจึงสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้เห็นได้ว่า ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลฎีกาจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลฎีกามีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3477 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 45.2 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินอาคารคอนกรีตเลขที่ 10 ถึง 12 ถนนสุขุมวิท ซอยใจสมาน (ซอย 6) แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร โดยปลอดจำนองและภาระผูกพันใด ๆ พร้อมโทรศัพท์หนึ่งเลขหมาย มิเตอร์ไฟฟ้า และมิเตอร์ประปาในอาคารดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยโจทก์เป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมและค่าภาษีในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 โดยให้โจทก์ชำระค่าซื้อที่ดินและทรัพย์สินจำนวน 34,000,000 บาท แก่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับแก่โจทก์เป็นเงิน 5,000,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 กับบริวารออกจากที่ดินพิพาทภายใน 30 วัน นับแต่วันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้โจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทหลังจากจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว และเจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนด 8 วัน
ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดีของโจทก์และรายการจดทะเบียนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และมีคำสั่งว่าผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองมีอำนาจพิเศษที่จะอยู่ในที่ดินและอาคารพิพาท
โจทก์ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณาผู้ร้องที่ 117 ที่ 128 ที่ 205 ที่ 245 ที่ 249 ที่ 271 ที่ 274 ที่ 280 ที่ 290 ที่ 304 ที่ 306 ที่ 311 ที่ 314 ที่ 317 ที่ 321 ที่ 331 ที่ 332 ที่ 340 ที่ 349 ที่ 360 ที่ 363 ที่ 372 ที่ 383 ที่ 389 และที่ 419 ขอถอนคำร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 61 ที่ 64 ถึงที่ 67 ที่ 69 ถึงที่ 75 ที่ 77 ถึงที่ 79 ที่ 81 ถึงที่ 86 ที่ 88 ถึงที่ 91 ที่ 93 ถึงที่ 115 ที่ 118 ถึงที่ 123 ที่ 126 ที่ 127 ที่ 130 ที่ 131 ที่ 133 ถึงที่ 138 ที่ 140 ถึงที่ 167 ที่ 169 ที่ 171 ถึงที่ 181 ที่ 183 ถึงที่ 204 ที่ 206 ถึงที่ 209 ที่ 211 ที่ 213 ถึงที่ 230 ที่ 232 ถึงที่ 235 ที่ 237 ถึงที่ 244 ที่ 246 ถึงที่ 248 ที่ 250 ถึงที่ 270 ที่ 272 ที่ 273 ที่ 275 ถึงที่ 279 ที่ 281 ถึงที่ 289 ที่ 291 ถึงที่ 303 ที่ 305 ที่ 308 ถึงที่ 310 ที่ 312 ที่ 313 ที่ 315 ที่ 316 ที่ 318 ที่ 319 ที่ 322 ถึงที่ 324 ที่ 326 ถึงที่ 330 ที่ 333 ถึงที่ 339 ที่ 342 ถึงที่ 345 ที่ 347 ที่ 350 ที่ 352 ถึงที่ 359 ที่ 361 ที่ 362 ที่ 364 ถึงที่ 367 ที่ 369 ถึงที่ 371 ที่ 374 ที่ 375 ที่ 377 ถึงที่ 380 ที่ 382 ที่ 384 ถึงที่ 388 ที่ 390 ที่ 392 ถึงที่ 405 ที่ 407 ถึงที่ 412 ที่ 414 ถึงที่ 418 และที่ 420 ถึงที่ 432 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ผู้ร้องที่ 316 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้นางสาวอรกานต์ เข้าเป็นคู่ความแทน และผู้ร้องที่ 12 ที่ 48 ที่ 51 ที่ 52 ที่ 60 ที่ 72 ที่ 158 ที่ 161 ที่ 329 ที่ 345 ที่ 355 ที่ 394 ที่ 397 และที่ 416 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 9 ที่ 18 ถึงที่ 22 ที่ 24 ที่ 25 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 35 ที่ 37 ที่ 38 ที่ 40 ที่ 41 ที่ 44 ที่ 47 ที่ 53 ที่ 54 ที่ 56 ที่ 57 ที่ 59 ที่ 61 ที่ 65 ที่ 67 และที่ 69 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่ผู้ร้องที่ฎีกามีว่า ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ได้พิจารณาแล้ว ที่ดินและอาคารพิพาทไม่ใช่ที่ดินอันเป็นที่ตั้งอาคาร บ้านเรือนของเอกชนตามธรรมดาทั่วไป แต่เป็นโบสถ์และที่ดินที่ตั้งโบสถ์ของคริสตจักรใจสมาน อันเป็น ศาสนสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ โดยเงินที่ซื้อที่ดินพิพาทและเงินที่เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโบสถ์อาคารพิพาทได้รวบรวมมาจากเงินบริจาคของสมาชิกชาวคริสเตียนในประเทศไทย และในประเทศแคนาดาที่มีความเลื่อมใสศรัทธาบริจาคมาทั้งสิ้น หลังจากก่อสร้างเสร็จก่อนเปิดใช้อาคารการที่วันที่ 30 เมษายน 2522 คริสตจักรได้จัดพิธีการมอบถวายพระวิหารอาคารพิพาทซึ่งเป็นโบสถ์ของคริสตจักรใจสมานแด่พระเจ้า ตามหลักของคริสต์ศาสนา เช่นเดียวกับอาคารไม้ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จมาเป็นประธานในพิธีด้วย เช่นนี้ถือว่าคริสตจักรได้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินและอาคารพิพาท ซึ่งเป็นโบสถ์และที่ดินที่ตั้งโบสถ์ให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อให้ตกเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินไปแล้ว เมื่อรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเป็นบุคคลคนเดียวกับคริสตจักรในการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทอย่างที่โจทก์นำสืบ เนื่องจากผู้ร้องที่ฎีกานำสืบเจือสมโจทก์อยู่ว่า ในขณะนั้นจำเลยที่ 2 ศิษยาภิบาลอาวุโส ประธานคณะธรรมกิจ ผู้บริหารคริสตจักรก็เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 มิชชันนารีชาวแคนาดาด้วย ซึ่งบริษัทจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้ประกอบกิจการแสวงหากำไรอะไรอื่น โดยจำเลยที่ 1 มีสำนักงานอยู่ที่เดียวกับที่โบสถ์ของคริสตจักร จึงถือว่าจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาอุทิศที่ดินและอาคารพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินด้วยเช่นกัน ส่วนที่โจทก์แก้ฎีกาว่า เป็นเรื่องจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทแทนคริสตจักรฟังไม่ขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง การที่หลังจากนั้นต่อมา ได้มีการใช้อาคารพิพาท ซึ่งเป็นโบสถ์ของคริสตจักรอันเป็นศาสนสถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตลอดมา เช่นเดียวกับตอนที่โบสถ์ยังเป็นอาคารไม้มาตั้งแต่ปี 2515 แล้วจนถึงปี 2531 และจากนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ คริสตจักรยังเป็นองค์การสาธารณกุศล โดยคริสตจักรจัดให้มีกิจกรรมการกุศล อย่างที่ผู้ร้องที่ฎีกานำสืบซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีสมาชิกและบุคคลทั่วไปที่มีความเลื่อมใสศรัทธามาเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาและเข้ามาใช้บริการที่คริสตจักรเป็นจำนวนมากจึงยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำว่าคริสตจักร และจำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาอุทิศที่ดินและอาคารพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปแล้วอย่างที่ผู้ร้องที่ฎีกา ฎีกาเนื่องจากหลังจากอุทิศให้แล้วได้มีการใช้อาคารพิพาท ซึ่งเป็นโบสถ์ของคริสตจักรอย่างสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันดังกล่าว โดยเหตุที่มีสมาชิก และบุคคลทั่วไปที่มีความเลื่อมใสศรัทธามาเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา และเข้ามาใช้บริการในกิจกรรมการกุศลที่คริสตจักรเป็นจำนวนมากตลอดมา ซึ่งการแสดงเจตนาอุทิศให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์จะมาถือว่า ผู้ร้องที่ฎีกากล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยโดยปราศจากหลักฐานอย่างที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ได้ และการที่ผู้ร้องไม่ได้ร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ในคดีเดิมเพื่อต่อสู้คดีกับโจทก์ว่า ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตั้งแต่ตอนแรกก็ไม่ใช่ข้อพิรุธของพยานผู้ร้องที่ฎีกาอย่างที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เนื่องจากเป็นสิทธิของผู้ร้องที่จะร้องสอดตั้งแต่ตอนแรกหรือจะมายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษ ภายหลังในชั้นบังคับคดีอย่างเช่นเรื่องนี้ก็ได้อย่างที่ผู้ร้องที่ฎีกาฎีกา ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) เป็นผลให้จะเอาไปจำหน่ายจ่ายโอนไม่ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายให้อำนาจหรือมีพระราชกฤษฎีกา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1305 ดังนั้น ภายหลังเดือนสิงหาคม 2531 คริสตจักรหรือจำเลยที่ 1 เองจะเอาไปขายโจทก์ก็ไม่ได้ แม้อาคารพิพาทซึ่งเป็นโบสถ์ของคริสตจักรเดิมจะคับแคบ คริสตจักรจึงต้องการขายที่ดินและอาคารพิพาท เพื่อนำเงินไปซื้อที่ดินที่ซอยอ่อนนุช และที่ซอยรามคำแหง 68 เพื่อสร้างโบสถ์ใหม่อย่างที่ผู้ร้องที่ฎีกานำสืบ ตามที่โจทก์แก้ฎีกาก็ตาม แม้ตามหนังสือ โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินบางส่วน 15,000,000 บาท ให้คริสตจักรเป็นผู้รับเงินไปอย่างที่โจทก์แก้ฎีกาก็ตาม และไม่ว่าคริสตจักรจะเอาเงินค่าที่ดินที่โจทก์จะชำระไปชำระเงินค่าที่ดินให้แก่ผู้ขายอย่างที่ผู้ร้องที่ฎีกานำสืบตามที่โจทก์แก้ฎีกาหรือไม่ก็ตาม และแม้ตามรายงานการประชุม ที่ประชุมสมัชชาของสมาชิกสมบูรณ์ในคริสตจักรจะมีมติในภายหลังว่าคริสตจักรจะไม่ยอมย้ายออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาท หากไม่ได้รับเงินค่าที่ดินที่ขายให้โจทก์ 49,000,000 บาท จากจำเลยที่ 1 ตามที่ตกลงไว้อย่างที่ผู้ร้องที่ฎีกานำสืบ ตามที่โจทก์แก้ฎีกาก็ตามและแม้ก่อนหน้านี้ในปี 2521 เคยนำที่ดินและอาคารพิพาทไปจำนองแก่ธนาคารก็ตาม การซื้อขายก็ไม่มีผลเนื่องจากไม่มีผลลบล้างให้ถือว่าที่ดินและอาคารพิพาทไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินลงไปได้เลย เมื่อตามที่โจทก์นำสืบ โจทก์ก็ทราบอยู่แล้วว่า ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นโบสถ์และที่ดินที่ตั้งโบสถ์ของคริสตจักรใจสมาน การซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์ถือว่าขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ผู้ร้องที่ฎีกาถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง แม้จะได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทโดยผลของคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์ไปแล้วก็ไม่มีผล โจทก์จึงไม่ใช่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาท ดังนั้นโจทก์จะเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาบังคับขับไล่ผู้ร้องที่ฎีกาให้ออกไปจากที่ดิน และอาคารพิพาทโดยถือว่าเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ เนื่องจากที่ดินและอาคารพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ผู้ร้องที่ฎีกาครอบครองใช้ประโยชน์อยู่โดยมีสิทธิ ผู้ร้องที่ฎีกาจึงสามารถแสดงอำนาจพิเศษให้เห็นได้ว่า ผู้ร้องที่ฎีกาไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 1 คำพิพากษาศาลฎีกาจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้องที่ฎีกาซึ่งเป็นบุคคลภายนอก อีกทั้งเมื่อคำพิพากษาศาลฎีกาพิพาทกันในเรื่องการโอนที่ดินและอาคารพิพาทเท่านั้นว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ใช่คำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทในอันที่จะมีผลผูกพันผู้ร้องที่ฎีกาซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง และ (2) เช่นกัน ดังนั้นผู้ร้องที่ฎีกา จึงสามารถยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่า ผู้ร้องที่ฎีกาไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 1 ตามที่กล่าวมาแล้วได้ กรณีไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอย่างที่โจทก์แก้ฎีกา ฎีกาของผู้ร้องที่ฎีกาฟังขึ้น และเนื่องจากเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ อาศัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 เห็นสมควรให้มีผลถึงผู้ร้องที่ไม่อุทธรณ์ และไม่ฎีกา ที่ยังไม่ถอนคำร้องและที่ยังไม่ถอนอุทธรณ์ด้วย คือ ผู้ร้องที่ 10 ที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 17 ที่ 23 ที่ 30 ที่ 36 ที่ 39 ที่ 42 ที่ 43 ที่ 45 ที่ 46 ที่ 49 ที่ 50 ที่ 55 ที่ 58 ที่ 63 ที่ 64 ที่ 66 ที่ 70 ที่ 71 ที่ 73 ถึงที่ 79 ที่ 81 ถึงที่ 116 ที่ 118 ถึงที่ 127 ที่ 129 ถึงที่ 157 ที่ 159 ที่ 160ที่ 162 ถึงที่ 204 ที่ 206 ถึงที่ 244 ที่ 246 ถึงที่ 248 ที่ 250 ถึงที่ 270 ที่ 272 ที่ 273 ที่ 275 ถึงที่ 279 ที่ 281 ถึงที่ 289 ที่ 291 ถึงที่ 303ที่ 305 ที่ 307 ถึงที่ 310 ที่ 312 ที่ 313 ที่ 315 ที่ 316 ที่ 318 ถึงที่ 320 ที่ 322 ถึงที่ 328 ที่ 330 ที่ 333 ถึงที่ 339 ที่ 341 ถึงที่ 344 ที่ 346 ถึงที่ 348 ที่ 350 ถึงที่ 354 ที่ 356 ถึงที่ 359 ที่ 361 ที่ 362 ที่ 364 ถึงที่ 371 ที่ 373 ถึงที่ 382 ที่ 384 ถึงที่ 388 ที่ 390 ถึงที่ 393 ที่ 395 ที่ 396 ที่ 398 ถึงที่ 415 ที่ 417 ที่ 418 และที่ 420 ถึงที่ 432
อนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลฎีกาว่า ภายหลังที่ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษเหนือที่ดินพร้อมอาคารที่พิพาทต่อศาลแพ่งคดีนี้แล้ว โจทก์คดีนี้ยื่นฟ้องนางพรพิไล ผู้ร้องที่ 165 เป็นจำเลย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในคดีหมายเลขดำที่ 3457/2548 และนายธนากร ผู้ร้องที่ 422 เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในคดีหมายเลขดำที่ 4220/2548 ข้อหาละเมิด ขับไล่ และวันที่14 ตุลาคม 2548 ศาลแพ่งได้มีคำวินิจฉัยคดีนี้ว่า ที่ดินพร้อมอาคารที่พิพาทไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสองไม่มีอำนาจพิเศษเหนือที่ดินพร้อมอาคารพิพาท จึงมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสี่ร้อยสามสิบสอง ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2549 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องนางพรพิไล ผู้ร้องที่ 165 เป็นจำเลย ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 6689/2549 และวันที่ 20 ธันวาคม 2549 มีคำพิพากษาคดีที่โจทก์ฟ้อง นายธนากร ผู้ร้องที่ 422 เป็นจำเลย ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10761/2549 ให้ขับไล่จำเลยทั้งสองคดีโดยวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่ดินพร้อมอาคารที่พิพาทไม่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำสั่งศาลแพ่ง แม้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างอุทธรณ์ แต่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแพ่งมีผลผูกพันคู่ความจนกว่าจะถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลับหรืองดเสีย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ฟังข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลแพ่ง แล้วพิพากษาว่าที่ดินพร้อมอาคารที่พิพาทไม่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5806/2556 ซึ่งวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณาศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11620/2556 วินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย โดยศาลฎีกาทั้งสองคดีดังกล่าวยังมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพร้อมอาคารที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ซึ่งในขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาทั้งสองคดีดังกล่าวนั้น คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ทั้งนี้เพื่อมิให้ขัดกันในคำพิพากษาศาลฎีกาคดีนี้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5806/2556และ 11620/2556 ในการวินิจฉัยเกี่ยวกับสถานะของที่ดินโฉนดเลขที่ 3477 ตำบลคลองตัน (บางกะปิฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง (บางกะปิ) กรุงเทพมหานคร พร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้าง ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเสียให้ถูกต้องว่าคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5806/2556 และ 11620/2556 ในประเด็นที่ว่าที่ดินพร้อมอาคารที่พิพาทไม่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายโดยอาศัยคำสั่งของศาลแพ่งที่มีผลผูกพันคู่ความตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงถึงสถานะที่ดินพร้อมอาคารที่พิพาทในคดีนี้ฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพร้อมอาคารที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ถือว่าคำสั่งศาลแพ่งที่เคยวินิจฉัยว่า ที่ดินพร้อมอาคารที่พิพาทไม่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลฎีกาที่สูงกว่า ดังนั้นคำสั่งศาลแพ่งจึงสิ้นผลผูกพันนางพรพิไล ผู้ร้องที่ 165 จำเลยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5806/2556 และนายธนากร ผู้ร้องที่ 422 จำเลย ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11620/2556 ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แล้ว
พิพากษากลับเป็นว่า ผู้ร้องต่อไปนี้ไม่ใช่บริวารของจำเลยที่ 1 คือ ผู้ร้องที่ 1ถึงที่ 11 ที่ 13 ถึงที่ 47 ที่ 49 ที่ 50 ที่ 53 ถึงที่ 59 ที่ 61 ที่ 63 ถึงที่ 67 ที่ 69 ถึงที่ 71 ที่ 73 ถึงที่ 79 ที่ 81 ถึงที่ 116 ที่ 118 ถึงที่ 127 ที่ 129 ถึงที่ 157 ที่ 159 ที่ 160 ที่ 162 ถึงที่ 204 ที่ 206 ถึงที่ 244 ที่ 246 ถึงที่ 248 ที่ 250 ถึงที่ 270 ที่ 272 ที่ 273 ที่ 275 ถึงที่ 279 ที่ 281 ถึงที่ 289 ที่ 291 ถึงที่ 303 ที่ 305 ที่ 307 ถึงที่ 310 ที่ 312 ที่ 313 ที่ 315 ที่ 316 ที่ 318 ถึงที่ 320 ที่ 322 ถึงที่ 328 ที่ 330 ที่ 333 ถึงที่ 339 ที่ 341 ถึงที่ 344 ที่ 346 ถึงที่ 348 ที่ 350 ถึงที่ 354 ที่ 356 ถึงที่ 359 ที่ 361 ที่ 362 ที่ 364 ถึงที่ 371 ที่ 373 ถึงที่ 382 ที่ 384 ถึงที่ 388 ที่ 390 ถึงที่ 393 ที่ 395 ที่ 396 ที่ 398 ถึงที่ 415 ที่ 417 ที่ 418 และที่ 420 ถึงที่ 432 โดยคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขแดงที่ 127/2539 ไม่มีผลผูกพันผู้ร้องดังกล่าว โจทก์จะเอาคำพิพากษาศาลฎีกามาบังคับขับไล่ผู้ร้องให้ออกไปจากที่ดินและอาคารพิพาทโดยถือว่าเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนผู้ร้องที่ฎีกา คือ ผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 9 ที่ 18 ถึงที่ 22 ที่ 24 ที่ 25 ถึงที่ 29 ที่ 31 ถึงที่ 35 ที่ 37 ที่ 38 ที่ 40 ที่ 41 ที่ 44 ที่ 47 ที่ 53 ที่ 54 ที่ 56 ที่ 57 ที่ 59 ที่ 61 ที่ 65 ที่ 67 และที่ 69 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท

Share