คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6175-6177/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงอยู่ในเขตป่าสงวนและเขตปฏิรูปที่ดิน ต้องห้ามแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังบุคคลอื่น ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะ เงินมัดจำที่โจทก์มอบให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 411 จึงหาอาจเรียกคืนได้ไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์ในสำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 2 เรียกโจทก์ในสำนวนที่สามว่า โจทก์ที่ 3 และเรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ทั้งสามสำนวนว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงิน 77,049.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 75,000 บาท นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ร่วมกันคืนเงิน 30,832.19 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 30,000 บาท นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 และร่วมกันคืนเงิน 15,416.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 15,000 บาท นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 3
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนเงินมัดจำ 75,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 ให้จำเลยที่ 2 คืนเงินมัดจำ 30,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และคืนเงินมัดจำ 15,000 บาท แก่โจทก์ที่ 3 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2554 ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสามต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงและผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงมาว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตั้งอยู่หมู่ที่ 6 หมู่บ้านไทรทอง ตำบลปงน้อย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ไม่มีเอกสารสิทธิ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกาและแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา โจทก์ที่ 1 มอบเงิน 75,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 มอบเงิน 30,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 และโจทก์ที่ 3 มอบเงิน 15,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 เป็นค่ามัดจำที่ดินที่โจทก์ทั้งสามซื้อไปจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 หาใช่เงินที่โจทก์ทั้งสามมอบให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพื่อให้ออกเอกสารสิทธิในที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ตามที่โจทก์ทั้งสามกล่าวอ้างมาในฟ้องไม่
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนเงินตามฟ้องแก่โจทก์ทั้งสามฐานลาภมิควรได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งต้องห้ามมิให้แบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่น นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ ดังที่โจทก์ทั้งสามฎีกาก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสามรู้อยู่ว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงอยู่ในเขตป่าสงวนและอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินได้เข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทอันเป็นการต้องห้ามตามกฎหมายเสียเอง เงินมัดจำที่โจทก์ทั้งสามมอบให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการชำระหนี้ที่ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 จึงหาอาจจะเรียกร้องคืนได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share