คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินจากจำเลย ถึงวันนัดสืบพยานจำเลย จำเลยขอเลื่อนอ้างว่าป่วย โจทก์คัดค้านศาลจึงให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ศาลไปตรวจอาการจำเลยปรากฏผลว่าไม่ได้ป่วย ศาลจึงตัดไม่ให้สืบจำเลยเป็นพยาน จำเลยจึงร้องคัดค้านคำสั่งศาลว่า จำเลยป่วยมาศาลไม่ได้จริงๆ ขอให้ศาลไต่สวนและเพิกถอนคำสั่งที่ให้ตัดการสืบตัวจำเลยเสียศาลไต่สวนแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานจำเลยไม่พอฟังลบล้างคำของเจ้าหน้าที่ศาลและนายแพทย์ผู้ตรวจอาการจำเลยได้ให้ยกคำร้องเสีย โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาฐานเบิกความเท็จ แสดงหลักฐานเท็จ ดังนี้ เห็นได้ว่าการที่จำเลยเข้าเบิกความและแสดงหลักฐานต่อศาลนั้นก็เพียงให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ตัดการสืบตัวจำเลยเพื่อจำเลยจะได้มีโอกาสในการต่อสู้คดีให้เต็มที่เท่านั้นไม่ใช่เป็นการกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิดอันจะเป็นความเสียหายแก่โจทก์ในตัวถึงแม้จะเป็นการกระทำในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินจำเลยก็ตามศาลก็มิได้เชื่อถ้อยคำจำเลยไม่ได้เพิ่มภาระในการพิสูจน์ในการดำเนินคดีนั้นให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

คดีนี้ มูลเดิมเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องเรียกเงินจากจำเลยกับพวกตามสำนวนคดีดำของศาลแพ่งที่ 1005/2506 ในคดีนั้นศาลให้จำเลยมีหน้าที่นำสืบก่อน ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2506 ถึงวันนัดจำเลยอ้างป่วยศาลให้เลื่อนไปวันที่ 19 สิงหาคม 2506 ครั้นถึงวันนัด ทนายจำเลยขอเลื่อนอ้างว่าจำเลยป่วยอีกโจทก์คัดค้าน ศาลให้เจ้าหน้าที่ศาลนำแพทย์ไปตรวจอาการจำเลย ตรวจแล้วจำเลยไม่ได้ป่วยสามารถไปให้การที่ศาลได้ ศาลเห็นว่าการที่จำเลยจะเบิกความเป็นพยานไม่มาศาลโดยไม่มีข้อแก้ตัว จึงสั่งตัดไม่ให้สืบจำเลยเป็นพยานโดยให้เลื่อนไปสืบพยานอื่นในวันที่ 26 กันยายน 2506 ต่อมาวันที่ 26 สิงหาคม 2506 จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาลโดยอ้างว่าจำเลยป่วยมาศาลไม่ได้จริง ๆ ขอให้ศาลไต่สวนและเพิกถอนคำสั่งที่ให้ตัดการสืบตัวจำเลยนั้นเสีย ศาลสั่งไต่สวน จำเลยเบิกความประกอบหลักฐานที่ส่งต่อศาลในชั้นไต่สวนเมื่อ 16 กันยายน 2506 ว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นั้น จำเลยป่วยจริง ๆ ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานจำเลยไม่พอฟังลบล้างคำของเจ้าหน้าที่ศาลและนายแพทย์ที่ไปตรวจอาการ สั่งยกคำร้องจำเลย โจทก์จึงฟ้องจำเลยหาว่าเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2506 เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจใช้ให้ทนายเรียบเรียงถ้อยคำซึ่งจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ โดยจำเลยมิได้ป่วยจริง ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลแพ่งว่าจำเลยป่วย ขอเลื่อนคดีถ้าศาลแพ่งหลงเชื่อสั่งเลื่อนคดีไปจะทำให้โจทก์เสียหาย และเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2506 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจนำเอาความซึ่งรู้ว่าเป็นเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีมาเบิกความต่อศาลแพ่งประกอบหลักฐานของจำเลยซึ่งมีข้อความสำคัญว่า จำเลยป่วยเป็นบิดและไข้หวัดมาแต่ 14 สิงหาคม 2506 ความจริงจำเลยไม่ได้ป่วยดังจำเลยเบิกความและหลักฐานที่จำเลยแสดงทำให้โจทก์เสียหาย เหตุเกิดที่ศาลแพ่ง ตำบลพระราชวัง อำเภอพระนคร จังหวัดพระนครขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 177, 180, 83, 90, 91

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ข้อหาฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 นั้น อยู่ในอำนาจของศาลแขวงพิจารณาพิพากษาสั่งประทับฟ้องโจทก์เฉพาะในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 177, 180

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ 1 คน เห็นว่ารูปคดีพอวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยเสีย โดยเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่อ้างว่าจำเลยทำและแสดงเป็นเท็จนั้น ล้วนแต่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงที่โต้เถียงกันว่าจำเลยป่วยจริงหรือไม่เท่านั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงในเรื่องผิดสัญญาต่างตอบแทนและเรียกค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นข้อพิพาทในคดีดำที่ 1005/2506 อันเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อข้อความที่โจทก์อ้างตามฟ้องไม่เป็นข้อสำคัญในคดี ก็รับฟังลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 180 ไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อสำคัญในคดีไม่จำเป็นต้องเป็นข้อพิพาทในประเด็นของคดีแต่ประการเดียว ทุกระยะและทุกตอนในการพิจารณาของคดีอาจแยกออกจากกันได้ และต้องพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไปตามความสำคัญที่มีอยู่ ในกรณีนี้อยู่ในระยะกำลังมีการวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า จำเลยป่วยจริงอันจะเป็นเหตุสมควรให้เลื่อนคดีหรือไม่ซึ่งจำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้ทำผิด ฉะนั้น การที่จำเลยป่วยจริงหรือไม่จึงเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องสืบให้ได้ความแน่นอน จึงจะวินิจฉัยการกระทำของจำเลยได้พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานให้สิ้นกระแสความ และพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกาว่า การดำเนินการสืบพยานต่อไป แม้จะได้ความว่าจำเลยป่วยจริงหรือไม่ ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีแพ่งดำที่ 1005/2506 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 บัญญัติว่า”บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล 1. พนักงานอัยการ 2. ผู้เสียหาย และในมาตรา 2(4) บัญญัติ “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ฯลฯ” ได้พิเคราะห์ถึงมูลเหตุในการที่จำเลยเข้าเบิกความและแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว ปรากฏว่า เนื่องมาจากศาลแพ่งสั่งตัดไม่ให้สืบตัวจำเลยเป็นพยาน ซึ่งเป็นการกระทำต่อศาลแพ่งเพียงให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้ตัดการสืบตัวจำเลยเพื่อจำเลยจะได้มีโอกาสในการต่อสู้คดีให้เต็มที่เท่านั้น ไม่ใช่เป็นการกล่าวหาว่าโจทก์กระทำผิด อันจะเป็นความเสียหายแก่โจทก์ในตัว ถึงแม้จะเป็นการกระทำในคดีที่ฟ้องโจทก์เรียกเงินจากจำเลยก็ตาม ศาลก็มิได้เชื่อถ้อยคำจำเลย ไม่ได้เพิ่มภาระในการพิสูจน์ในการดำเนินคดีนั้นให้แก่โจทก์แต่อย่างใด จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้ว จะให้สืบพยานให้สิ้นกระแสความก็ไม่เกิดประโยชน์ที่จะทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share