คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1683/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องสอดจำนองเรือยนต์ไว้กับโจทก์ตามสัญญาหมายจ.1ต่อมาผู้ร้องสอดโอนเรือนี้ให้แก่จำเลยเพื่อหลบเจ้าหนี้ของผู้ร้องสอดโดยสมรู้กับจำเลย แล้วให้จำเลยทำสัญญาจำนองเรือนั้นกับโจทก์ใหม่เท่าจำนวนหนี้ตามสัญญาจำนองเดิม การจำนองครั้งหลังนี้ไม่มีการรับเงิน แต่ถือเอาเงินที่ผู้ร้องสอดจะต้องชำระตามสัญญาจำนองหมายจ.1 มาเป็นเงินรับจำนองตามสัญญาหมายจ.2 โดยโจทก์ก็ทราบว่าผู้ร้องสอดโอนเรือพิพาทให้แก่จำเลยเพื่อหลบเจ้าหนี้ ส่วนสัญญาจำนองหมายจ.1 ก็ยังไม่ได้จดทะเบียนไถ่ถอน ดังนี้ เห็นได้ว่าเจตนาของผู้ร้องสอดในการโอนเรือให้แก่จำเลยเป็นเจตนาลวงด้วยสมรู้กับจำเลย จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่มีสิทธิในเรือตลอดทั้งไม่มีสิทธิที่จะทำสัญญาจำนองเรือกับโจทก์แต่ประการใด โจทก์ก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยไม่สุจริตเพราะทราบเจตนาลวงของผู้ร้องสอดนั้นอยู่แล้ว จึงฟ้องบังคับจำนองตามสัญญาหมายจ.2 ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 11 พฤศจิกายน 2496 นายโฉมจำเลยจำนองเรือยนต์ “ศรีมัจฉา” ไว้กับโจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยไม่ส่งดอกเบี้ยเลย ทวงถามก็ผัดเรื่อยมา จึงขอให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ ถ้าจำเลยสามารถไถ่จำนองก็ให้ไถ่

นายโฉมจำเลยให้การว่า โจทก์เป็นอาจำเลย นายบุรีเป็นบุตรเขยบุญธรรมของโจทก์และเป็นพี่เขยนายโฉมเรือยนต์ “ศรีมัจฉา” เป็นของนายบุรีนายบุรีเกรงว่าถ้าการค้าที่ทำอยู่ผิดพลาด อาจสิ้นเนื้อประดาตัว เพื่อป้องกันเหตุนี้ นายบุรีจึงโอนเรือและที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของนายโฉม และเพื่อป้องกันว่า ถ้าเรือยนต์ไปชนเรืออื่นหรือนายโฉมไปก่อหนี้ขึ้น เจ้าหนี้อาจยึดเรือและที่ดินได้อีก จึงตกลงนำเรือและที่ดินไปทำสัญญาจำนองไว้กับโจทก์ โดยไม่มีการจ่ายเงิน ขอให้ยกฟ้อง

นายบุรี ตุนภรณ์ ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต

นายบุรีให้การเช่นเดียวกับจำเลย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้ยึดเรือพิพาทที่จำนองขายทอดตลาดนำเงินสุทธิชำระให้โจทก์ ถ้าจำเลยสามารถไถ่จำนองได้ก็ให้ไถ่

จำเลยและผู้ร้องสอดอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยและผู้ร้องสอดฎีกาว่า กรณีเป็นเรื่องโจทก์และผู้ร้องสอดสมยอมกันให้จำเลยทำสัญญาจำนองหมาย จ.2 กับโจทก์โดยปราศจากมูลหนี้จำเลยจึงไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระ ที่ศาลวินิจฉัยฟังว่าผู้ร้องสอดได้จำนองเรือพิพาทไว้กับโจทก์ตามสัญญาหมาย จ.1 แล้วโจทก์ตกลงกับผู้ร้องสอดและจำเลยให้ถือเอาเงินซึ่งเป็นหนี้ตามสัญญาจำนองหมาย จ.1 มาเป็นเงินรับจำนองตามสัญญาหมาย จ.2 และบังคับให้ผู้ร้องสอดรับผิดชอบต่อโจทก์ด้วยนั้นก็ไม่ชอบ เป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นเพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องถึงสัญญาหมาย จ.1 จะนำสืบถึงสัญญาหมายจ.1 ไม่ได้ ทั้งโจทก์ก็ไม่ได้ฟ้องขอบังคับตามสัญญาหมาย จ.1 อย่างใด

ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยฟ้องข้อเท็จจริงว่า เรือ “ศรีมัจฉา” ซึ่งพิพาทกัน เดิมเป็นของผู้ร้องสอดจำนองไว้กับโจทก์ตามสัญญาหมาย จ.1 ผู้ร้องสอดยังไม่ได้ชำระหนี้จำนองตามสัญญานี้ ต่อมาผู้ร้องสอดโอนเรือพิพาทให้แก่จำเลยเพื่อหลบเจ้าหนี้ของผู้ร้องสอดโดยสมรู้กับจำเลย แล้วให้จำเลยทำสัญญาจำนองเรือนั้นไว้กับโจทก์ใหม่เท่าจำนวนหนี้ตามสัญญาจำนองเดิม การจำนองครั้งหลังนี้ไม่มีการรับเงิน แต่ถือเอาเงินซึ่งเป็นหนี้ที่ผู้ร้องสอดจะต้องชำระตามสัญญาจำนองหมาย จ.1 มาเป็นเงินรับจำนองตามสัญญาหมาย จ.2 ส่วนสัญญาจำนองหมาย จ.1 ยังไม่ได้จดทะเบียนไถ่ถอนโจทก์นำสืบถึงสัญญาหมาย จ.1 ก็เป็นเรื่องนำสืบมูลเหตุที่มาสู่การทำสัญญาหมาย จ.2 ไม่เป็นการสืบนอกฟ้องนอกประเด็น ทั้งนี้ ตามเหตุผลที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้โดยละเอียดแล้ว นอกจากนี้ได้ความตามคำเบิกความโจทก์ว่า ก่อนทำสัญญาจำนองหมาย จ.2 โจทก์ก็ทราบว่าผู้ร้องสอดโอนเรือพิพาทให้แก่จำเลยเพื่อหลบหนี้เจ้าหนี้

รูปคดีเห็นได้ว่า เจตนาของผู้ร้องสอดในการโอนเรือพิพาทให้แก่จำเลยเป็นเจตนาลวงด้วยสมรู้กับจำเลย มาตรา 118 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งท่านว่าเป็นโมฆะ แต่จ้อไม่สมบูรณ์อันนี้ ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริต และต้องเสียหายแต่การแสดงเจตนาลวงนั้น ฯลฯ” ฉะนั้น ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น การโอนเรือพิพาทระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลยจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่มีสิทธิในเรือพิพาทตลอดทั้งไม่มีสิทธิที่จะทำสัญญาจำนองเรือพิพาทตลอดทั้งไม่มีสิทธิที่จะทำสัญญาจำนองเรือพิพาทกับโจทก์แต่ประการใดโจทก์ก็ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยไม่สุจริต เพราะทราบเจตนาลวงของผู้ร้องสอดนั้นอยู่ จำเลยและผู้ร้องสอดย่อมยกเหตุที่การแสดงเจตนาของผู้ร้องสอดเป็นโมฆะขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ สัญญาจำนองหมาย จ.2 จึงหาเกิดผลอย่างใดไม่ ฉะนั้น โจทก์จะฟ้องบังคับจำนองตามสัญญาหมาย จ.2 ไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้บังคับคดีตามสัญญาหมาย จ.2 ไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาจำเลยและผู้ร้องสอดฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องตามสัญญาหมาย จ.1 ต่อไป

Share