แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ในส่วนข้อกำหนดและเงื่อนไขของตราสารหนี้ ข้อ 16 การบังคับสิทธิเรียกร้องกำหนดให้เฉพาะทรัสตีใช้ดุลพินิจดำเนินการต่อ บ. และจำเลย เพื่อบังคับตามสิทธิของผู้ถือตราสารหนี้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน แต่ไม่ผูกพันทรัสตีที่จะต้องดำเนินการดังกล่าว เว้นแต่เป็นมติพิเศษของผู้ถือตราสารหนี้หรือผู้ถือตราสารหนี้อย่างน้อยหนึ่งในสี่ร้องขอเป็นหนังสือและทรัสตีได้รับการประกันความเสียหายตามที่พอใจ ผู้ถือตราสารไม่มีสิทธิดำเนินการโดยตรงต่อ บ. และจำเลย เว้นแต่ทรัสตีไม่กระทำการภายในระยะเวลาที่สมควรและไม่กระทำการใด ๆ ต่อไป ข้อ 16 จึงเป็นเพียงกรณีกำหนดอำนาจและหน้าที่ของทรัสตีในการดำเนินการบังคับสิทธิเรียกร้องต่อ บ. และจำเลยแทนผู้ถือตราสารหนี้ หากทรัสตีไม่กระทำการผู้ถือตราสารหนี้ก็มีสิทธิบังคับสิทธิเรียกร้องโดยตรงต่อ บ. และจำเลย นอกจากนั้น ข้อ 14 อายุความ กำหนดว่า สิทธิเรียกร้องเงินต้น พรีเมียมและดอกเบี้ยจะขาดอายุความถ้าไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลา 10 ปี สำหรับเงินต้นหรือพรีเมียม หรือ 5 ปี สำหรับดอกเบี้ยตามลำดับ นับแต่วันที่เกี่ยวข้องตามที่ให้คำจำกัดความไว้ในข้อ 12 (c) และข้อ 12 (c) (i) ระบุว่า วันที่เกี่ยวข้องหมายถึงวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ถือตราสารหนี้ก่อนโจทก์ใช้สิทธิไถ่ถอนตราสารหนี้แล้ว วันดังกล่าวจึงเป็นวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้ อายุความจึงเริ่มนับแต่ดังกล่าวอันเป็นวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้และอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ไม่ใช่นับแต่วันที่ทรัสตีบอกกล่าวให้ บ. และจำเลยชำระเงินตามตราสารหนี้
การรับสภาพหนี้ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความ รายงานประจำปีของจำเลย ไม่ใช่เอกสารที่จำเลยทำให้ไว้ต่อโจทก์โดยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ แต่เอกสารดังกล่าวแสดงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการเงินของบริษัทจำเลย จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,665,810.38 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 4.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,107,300 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์โดยสรุปว่า ตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ข้อ 16 ผู้ถือตราสารหนี้ไม่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องตามตราสารหนี้ได้เอง ต้องให้ทรัสตีเป็นผู้ดำเนินการ เมื่อทรัสตีไม่ฟ้องผู้ถือตราสารหนี้หรือโจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องต่อบริษัทบางกอกแลนด์ (เคย์แมน ไอส์แลนด์) จำกัด และจำเลยนับแต่วันบอกกล่าวคือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 หรือวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 ไม่ใช่นับแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2541 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลา 10 ปี ประกอบกับจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ตลอดมา ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า ตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ในส่วนข้อกำหนดและเงื่อนไขของตราสารหนี้ ข้อ 16 การบังคับสิทธิเรียกร้องกำหนดให้เฉพาะทรัสตีใช้ดุลพินิจดำเนินการต่อบริษัทบางกอกแลนด์ (เคย์แมน ไอส์แลนด์) จำกัด และจำเลยเพื่อบังคับตามสิทธิของผู้ถือตราสารหนี้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน แต่ไม่ผูกพันทรัสตีที่จะต้องดำเนินการดังกล่าว เว้นแต่เป็นมติพิเศษของผู้ถือตราสารหนี้ หรือผู้ถือตราสารหนี้จำนวนอย่างน้อยหนึ่งในสี่ของตราสารหนี้ที่ต่อมาค้างชำระร้องขอเป็นหนังสือและทรัสตีได้รับการประกันความเสียหายตามที่พอใจ ผู้ถือตราสารหนี้ไม่มีสิทธิดำเนินการโดยตรงต่อบริษัทบางกอกแลนด์ (เคย์แมน ไอส์แลนด์) จำกัด และจำเลย เว้นแต่ทรัสตีซึ่งผูกพันที่จะต้องดำเนินการดังกล่าวนั้นไม่กระทำการภายในระยะเวลาที่สมควรและไม่กระทำการใด ๆ ต่อไป ดังนั้น ข้อ 16 จึงเป็นเพียงกรณีที่กำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของทรัสตีในการดำเนินการบังคับสิทธิเรียกร้องต่อบริษัทบางกอกแลนด์ (เคย์แมน ไอส์แลนด์) จำกัด และจำเลยแทนผู้ถือตราสารหนี้ หากทรัสตีไม่กระทำการผู้ถือตราสารหนี้ก็มีสิทธิบังคับสิทธิเรียกร้องโดยตรงต่อบริษัทบางกอกแลนด์ (เคย์แมน ไอส์แลนด์) จำกัด และจำเลย นอกจากนั้น ข้อ 14 อายุความ กำหนดว่า สิทธิเรียกร้องเงินต้น พรีเมียม และดอกเบี้ย จะขาดอายุความถ้าไม่ใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลา 10 ปี (สำหรับเงินต้นหรือพรีเมียม) หรือ 5 ปี (สำหรับดอกเบี้ย) ตามลำดับ นับแต่วันที่เกี่ยวข้องตามที่ให้คำจำกัดความไว้ในข้อ 12 (C) และข้อ 12 (C) (i) ระบุว่า วันที่เกี่ยวข้องหมายถึงวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้ ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ถือตราสารหนี้ก่อนโจทก์ใช้สิทธิไถ่ถอนตราสารหนี้แล้วเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2541 ตามข้อ 10 (C) วันที่ 13 ตุลาคม 2541 จึงเป็นวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้ดังกล่าว สอดคล้องกับหนังสือที่ทรัสตีแจ้งบริษัทบางกอกแลนด์ (เคย์แมน ไอส์แลนด์) จำกัด ซึ่งระบุว่า … 1. บริษัทบางกอกแลนด์ (เคย์แมน ไอส์แลนด์) จำกัด ไม่ได้ชำระเงินต้นและพรีเมียมตามตราสารหนี้ที่ผู้ถือตราสารหนี้ใช้สิทธิไถ่ถอนและถึงกำหนดชำระเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2541 … 2. ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 13 ผู้ถือตราสารหนี้อย่างน้อยร้อยละ 25 ของจำนวนเงินตามตราสารหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระร้องขอเป็นหนังสือให้ทรัสตีแจ้งบริษัทบางกอกแลนด์ (เคย์แมน ไอส์แลนด์) จำกัด ว่าตราสารหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาสำหรับการไถ่ถอนถือว่าถึงกำหนดชำระทันที … เพื่อหลีกเลี่ยงข้อสงสัย ตราสารหนี้ที่ถึงกำหนดชำระสำหรับการไถ่ถอนในวันที่ 13 ตุลาคม 2541 นั้นถึงกำหนดชำระในวันดังกล่าวและต้องชำระเป็นจำนวนร้อยละ 110.73 ของจำนวนเงินตามตราสารหนี้ … ดังนั้น อายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2541 อันเป็นวันถึงกำหนดชำระของตราสารหนี้และอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ไม่ใช่นับแต่วันที่ทรัสตีบอกกล่าวให้บริษัทบางกอกแลนด์ (เคย์แมน ไอส์แลนด์) จำกัด และจำเลยชำระเงินตามตราสารหนี้เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542 และวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2542 ตามลำดับ
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามรายงานประจำปี ข้อมูลรายงานโครงสร้างเงินทุน งบการเงิน ข้อมูลของบริษัทจำเลยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และรายงานประจำปีของจำเลยระบุถึงรายละเอียดของตราสารหนี้และการผิดนัดชำระหนี้ แสดงว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของผู้ถือตราสารหนี้และโจทก์แล้วนั้น เห็นว่า การรับสภาพหนี้ต้องกระทำภายในกำหนดอายุความ และเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารที่จำเลยทำให้ไว้ต่อโจทก์โดยยอมรับรองว่าเป็นหนี้โจทก์แต่เอกสารดังกล่าวแสดงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการเงินของบริษัทจำเลยและมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้เพียงว่า … บริษัทบางกอกแลนด์ (เคย์แมน ไอส์แลนด์) จำกัด ผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้นตามตราสารหนี้ซึ่งใช้สิทธิไถ่ถอนแล้วตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2541 จนถึงปัจจุบัน จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2552 สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและโจทก์มิใช่ผู้ถือตราสารหนี้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยให้เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ