คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1291/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องโดยใช้ข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ว่า “…และกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว …” แต่ใช้คำว่า “ประเทศ”แทนคำว่า “กฎหมาย” ก็พอที่จะแปลความหมายตามฟ้องของโจทก์ได้ว่ารวมถึงกฎหมายของประเทศนั้นด้วย มิใช่กรณีที่โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องเสียเลยว่า กฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ ฟ้องของโจทก์จึงมีสาระสำคัญที่แสดงให้เห็นว่างานตามฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ที่อาจได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 ดังกล่าว และเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521มาตรา 4, 13, 25, 26, 27, 42, 43, 44, 47 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526มาตรา 3 และ 4 และสั่งให้วีดีโอเทปของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 มาตรา 44 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ20,000 บาท จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูกเป็นมาตรา 56)มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ให้แถบบันทึกภาพยนตร์ของกลางตกแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทุกข้อหา ของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นขึ้นสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 หรือไม่เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา42 ได้บัญญัติเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยและกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว หรืองานอันมีลิขสิทธิ์ขององค์การระหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา” คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์โดยเสนอให้เช่า ให้เช่า เสนอขาย และขายแก่ประชาชนทั่วไปซึ่งงานสร้างสรรค์แถบบันทึกภาพ (วีดีโอเทป) ภาพยนตร์ เรื่อง”เดอะ บัทเตอร์ฟิว” มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า “สามก๊ก” ของโจทก์ร่วมซึ่งมีผู้ทำซ้ำ ดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าแถบบันทึกภาพดังกล่าวได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แถบบันทึกภาพของโจทก์ร่วมเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของประเทศฮ่องกง (ที่ถูกเมืองฮ่องกง) และได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทย เพราะประเทศไทยและประเทศอังกฤษ(ที่ถูกประเทศสหราชอาณาจักร) รวมทั้งประเทศฮ่องกง (ที่ถูกเมืองฮ่องกง) ซึ่งเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ (ที่ถูกประเทศสหราชอาณาจักร) ต่างเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ณ กรุงเบอร์น ซึ่งทั้งประเทศไทยและประเทศฮ่อ>กง (ที่ถูกเมืองฮ่องกง) ได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 ดังนี้ แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องโดยใช้ข้อความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ว่า “…และกฎหมายของประเทศนั้นได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคีอื่น ๆแห่งอนุสัญญาดังกล่าว…” แต่ใช้คำว่า “ประเทศ” แทนคำว่า “กฎหมาย”ก็พอที่จะแปลความหมายตามฟ้องของโจทก์ได้ว่ารวมถึงกฎหมายของประเทศฮ่องกงด้วย อันหมายถึงประเทศฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศภาคีอื่นแห่งอนุสัญญาและของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีอยู่ด้วย มิใช่กรณีที่โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องเสียเลยว่า กฎหมายของประเทศฮ่องกงได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ฟ้องของโจทก์จึงมีสาระสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า แถบบันทึกภาพตามฟ้องเข้าหลักเกณฑ์ที่อาจได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และเป็นฟ้องที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ทุกข้อหาโดยอาศัยเหตุที่ว่าฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share