แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2540) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ที่จำเลยที่ 3 แนบท้ายอุทธรณ์มารับฟังว่า กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อคนตามข้อ 2 (1) (ค) ที่ระบุว่า แปดหมื่นบาทต่อคนสำหรับความเสียหายต่อชีวิต แล้ววินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 3 ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 และกฎกระทรวงดังกล่าวให้ถูกต้อง แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้นำสืบกฎกระทรวงดังกล่าว ศาลก็ชอบที่จะนำมารับฟังได้ เพราะเมื่อมีการประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กฎกระทรวงย่อมมีผลบังคับเช่นกฎหมายอันเป็นที่รู้แก่บุคคลทั่วไปและศาลย่อมรู้ได้เอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 533,613.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย 485,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 2 กรกฎาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดไม่เกิน 145,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นมารดาของนางระวีวรรณ ผู้ตาย ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 82 – 3923 สระบุรี พ่วงรถหมายเลขทะเบียน 82 – 5575 สระบุรี บรรทุกเสาเข็มคอนกรีตอันเป็นกิจการขนส่งที่ทำร่วมกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 กระทำการเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ไปตามถนนพระราชวิริยาภรณ์ ตำบลบางพึ่ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางโค้ง จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความเร็วเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้ตายขณะเดินอยู่ ผู้ตายกระเด็นไปชนราวเหล็กริมถนนล้มหมดสติและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงคันที่จำเลยที่ 1 ขับ ประเภทคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หลังเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่โจทก์เป็นเงิน 15,000 บาท ในส่วนคดีอาญา ศาลฎีกาพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7083/2552 ในคดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ 485,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้โต้แย้งความรับผิดคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีเพียงประการเดียวว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังกฎกระทรวงที่จำเลยที่ 3 แนบมาท้ายอุทธรณ์ เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มิใช่กฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ จึงไม่มีสถานะเป็นกฎหมายที่ศาลรู้ได้เอง จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องนำสืบกฎกระทรวงดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่นำสืบ จึงฟังไม่ได้ว่ามีกฎกระทรวงจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังกฎกระทรวงที่จำเลยที่ 3 แนบมาท้ายอุทธรณ์ เป็นการรับฟังพยานหลักฐานนอกสำนวน คำพิพากษาที่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ย่อมมีความรับผิดตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนด เมื่อตามบทบัญญัติมาตรา 7 วรรคสอง ให้จำนวนเงินที่เอาประกันภัยเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงต้องพิจารณากฎกระทรวงที่มีผลใช้บังคับในขณะมีการทำประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ การที่จำเลยที่ 3 ให้การและนำสืบว่า จำเลยที่ 3 มีความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดกับบุคคลภายนอกรายละ 80,000 บาท ต่อคน จำเลยที่ 3 รับประกันรถทั้งส่วนหัวและส่วนพ่วง จึงรับผิดไม่เกินวงเงิน 160,000 บาท นั้น เท่ากับจำเลยที่ 3 กล่าวอ้างว่า กรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์มีจำนวนเงินเอาประกันภัยจำกัดไม่เกินคันละ 80,000 บาท ต่อคน ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ที่มีผลใช้บังคับในช่วงเวลานั้น การวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 3 จำต้องถือตามจำนวนเงินเอาประกันภัยที่กำหนดโดยกฎกระทรวงดังกล่าว เพราะหากจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดเกินไปกว่าที่ตนมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในฐานะผู้รับประกันภัยภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 นำกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2540) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ที่จำเลยที่ 3 แนบท้ายอุทธรณ์มารับฟังว่า กฎกระทรวงฉบับดังกล่าวกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยต่อคนตามข้อ 2 (1) (ค) ที่ระบุว่า แปดหมื่นบาทต่อคนสำหรับความเสียหายต่อชีวิต เป็นการวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 3 ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 โดยถูกต้อง แม้จำเลยที่ 3 ไม่ได้นำสืบกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ศาลก็ชอบที่จะนำมารับฟังได้ เพราะเมื่อมีการประกาศกฎกระทรวงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กฎกระทรวงย่อมมีผลบังคับเช่นกฎหมายโดยเป็นที่รู้แก่บุคคลทั่วไปและศาลย่อมรู้ได้เอง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้รับฟังพยานหลักฐานโดยไม่ชอบดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์ รวมรถ 2 คัน เป็นเงิน 160,000 บาท โดยให้หักค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้รับชดใช้แล้ว 15,000 บาท คงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิด 145,000 บาท จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 มีคำขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จากจำนวนเงิน 485,000 บาท เป็นจำนวนเงิน 145,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงมีเพียง 340,000 บาท ต้องเสียค่าขึ้นศาล 8,500 บาท แต่จำเลยที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลเกินมา 3,625 บาท จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลยที่ 3
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมา 3,625 บาท แก่จำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ