คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1337/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีข้าวไว้ในครอบครอง 6 เกวียนหลวงกับ 10 ถัง แต่จำเลยได้แจ้งปริมาณเพียง 3 เกวียนหลวง การที่จำเลยไม่แจ้งประมาณให้ครบถ้วน เช่นนี้ แสดงว่าจำเลยเจตนาปกปิดข้าวนอกจากที่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บไว้นั้น จำเลยย่อมมีผิดฐานไม่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บสำหรับข้าวอีก 3 เกวียนหลวงกับ 10 ถัง
พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 5 บัญญัติให้ใช้บังคับแก่ความผิดซึ่งเกิดตามกฎหมายที่ระบุไว้ ส่วน พ.ร.บ.การค้าข้าวออกใช้ในภายหลัง และไม่มีบัญญัติให้นำ พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแต่อย่างใด ฉะนั้นจะยกเอาการให้บำเหน็จตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาใช้แก่ความผิดตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว ย่อมไม่ได้

ย่อยาว

ความว่า จำเลยได้ใช้นายบุญมีบุตรชายของจำเลยไปแจ้งความให้ถ้อยคำเท็จในการแจ้งปริมาณข้าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการค้าข้าวว่า จำเลยมีข้าวเปลือกไว้ในครอบครอง 3 เกวียนหลวง ซึ่งความจริงจำเลยมีข้าวเปลือกไว้ในครอบครองทั้งหมด 6 เกวียนหลวง 10 ถัง โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่แจ้งปริมาณสถานที่เก็บข้าวของจำเลยอีก 3 เกวียนหลวง 10 ถัง จำเลยรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 1 เดือน 15 วัน ปรับ 500 บาท ตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว (ฉะบับที่ 2) 2489 มาตรา 10 กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 59 โทษจำให้รอการลงอาญา ข้าว 3 เกวียนหลวงที่แจ้งปริมาณให้คืนจำเลย นอกนั้นริบและให้จ่ายสินบลและรางวัลแก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงาน
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยมีผิดฐานแจ้งเท็จตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว พ.ศ.2489 มาตรา 20 ลดฐานรับสารภาพคงปรับ 100 บาท การริบของกลางยืน แต่ไม่ต้องจ่ายสินบลและรางวัลนำจับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ความจริงจำเลยมีข้าว 6 เกวียนหลวง 10 ถัง แต่จำเลยได้แจ้งปริมาณเพียง 3 เกวียนหลวง แสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยเจตนาไม่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บสำหรับข้าวอีก 3 เกวียนหลวง 10 ถัง อีกประการหนึ่งตามฟ้องกล่าวชัดว่า จำเลยมีเจตนาขัดขืนฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บข้าวของจำเลยอีก 3 เกวียนหลวง 10 ถัง เมื่อจำเลยรับสารภาพ ข้อเท็จจริงก็ต้องฟังว่าจำเลยมีผิดฐานไม่แจ้งปริมาณและสถานที่เก็บสำหรับข้าวอีก 3 เกวียนกับ 10 ถัง ดังฟ้อง
ส่วนข้อที่ขอให้สั่งจ่ายเงินสินบลและรางวัลนำจับนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 5 บัญญัติให้ใช้บังคับฉะเพาะแก่ความผิด ซึ่งเกิดตามกฎหมายที่ระบุไว้ ส่วนพระราชบัญญัติการค้าข้าวออกภายหลังและไม่มีบทบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแต่อย่างใด จะยกการให้บำเหน็จตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาใช้แก่พระราชบัญญัติการค้าข้าวย่อมไม่ได้
พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีผิดตามพระราชบัญญัติการค้าข้าว (ฉะบับที่ 2) พ.ศ.2489 มาตรา 10 ส่วนการลงโทษให้บังคับตามศาลชั้นต้น นอกจากนี้ยืนตามศาลอุทธรณ์

Share