คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6221/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินแปลงที่จำเลยโอนขายให้ ด. เป็นแปลงเดียวกับที่โจทก์ขอซื้อจากจำเลยแต่จำเลยโอนให้ไม่ได้เพราะชื่อเจ้าของที่ดินยังเป็นของผู้อื่น ซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้ละทิ้ง หากยังติดตามที่ดินแปลงพิพาทอยู่ การที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปยื่นคำขอให้ยึดทรัพย์จำเลยโดยหนังสือมอบอำนาจมีข้อความชัดเจนว่าให้ยึดบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินแปลงนี้กับทรัพย์สินภายในบ้าน ดังนั้นการที่จำเลยโอนขายบ้านให้ ด. ก่อนที่โจทก์จะดำเนินการขอยึดนั้น โจทก์ก็ควรจะรู้หรือน่าจะรู้ว่าจำเลยขายที่ดินดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่การไปขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลย ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้วเกินกว่า 3 เดือน คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
ตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 44 ที่กำหนดให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้โอนสิทธิในที่ดินที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 1) ฯ ข้อ 7 และข้อ 8 เป็นกรณีอนุญาตให้มีการซื้อขายที่ดินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด หาใช่ไม่อาจทำการซื้อขายโดยเด็ดขาดไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาศาลจังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ตรวจดูสารบบการจดทะเบียนนิติกรรมที่ดินที่สำนักงานที่ดินที่จังหวัดราชบุรี ทราบว่าจำเลยได้โอนขายที่ดินของจำเลยให้นายเดือน พลอยดีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541 นอกจากที่ดินแปลงนี้แล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยก็เพื่อจะมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 350 จำคุก 3 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นฎีกาเพียงว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินแปลงที่จำเลยโอนขายให้นายเดือนเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่โจทก์ขอซื้อจากจำเลย ซึ่งคือทรัพย์แห่งหนี้ของต้นเหตุคดีนี้โจทก์ทำสัญญาจะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากจำเลยเมื่อปี 2535 เมื่อจำเลยโอนให้ไม่ได้ เพราะชื่อเจ้าของที่ดินยังเป็นของผู้อื่น แต่ในคำพิพากษาคดีนั้นปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้ละทิ้งหากยังติดตามที่ดินอยู่ ดังจะเห็นได้ว่าหลังทำสัญญา 2 ปี โจทก์เข้าไปปลูกบ้าน 1 หลังในที่ดิน ทั้งเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีแพ่ง โจทก์ยังได้ทำหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดราชบุรีมีข้อความว่า โจทก์มีคดีพิพาทอยู่กับจำเลยเกี่ยวด้วยที่ดินแปลงดังกล่าว เกรงว่าจำเลยจะจำหน่ายจ่ายโอน หากมีการทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ ขอให้แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์ยังคงติดตามเรื่องราวในที่ดินแปลงพิพาท หาได้ปล่อยปละละเลยไม่ ดังนั้น เมื่อพิจารณาหนังสือที่ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไปยื่นคำขอให้ยึดทรัพย์จำเลยลงวันที่ 18 มิถุนายน 2541 เอกสารหมาย ล.3ซึ่งมีข้อความชัดเจนว่าให้ยึดบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินแปลงนี้ โดยระบุที่ตั้งของบ้านอย่างชัดเจนว่าเป็นเลขที่ 52/2 ตำบลสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี กับทรัพย์สินภายในบ้าน ประกอบกับจำเลยโอนขายบ้านให้นายเดือน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2541อันเป็นการขายกันก่อนที่โจทก์จะดำเนินการขอยึดแต่เพียงบ้านและทรัพย์สินภายในบ้านและโจทก์มิได้มาเบิกความด้วยแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์จึงนับว่ามีข้อพิรุธ และทำให้มีเหตุน่าเชื่อว่าโจทก์รู้หรือน่าจะรู้ว่าจำเลยขายที่ดินดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่วันที่มีการไปขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยคือเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 ซึ่งหากนับถึงวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 20 มกราคม 2542 จึงเกินกว่า 3 เดือนคดีของโจทก์จึงย่อมขาดอายุความที่โจทก์กล่าวแก้ในฎีกาประการสุดท้ายว่า การที่โจทก์มิได้แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดที่ดินด้วย เพราะโจทก์ทราบว่าที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินซึ่งห้ามซื้อขาย จึงไม่นับเป็นพิรุธนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 มาตรา 44 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าเจ้าของที่ดินหรือผู้ได้รับสิทธิในที่ดินจะโอนสิทธิในที่ดินไปยังผู้อื่นมิได้ แต่มีข้อยกเว้นประการหนึ่งว่าเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลาง ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการจัดรูปที่ดินกลางว่าด้วยหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตให้โอนสิทธิในที่ดินที่ได้รับหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดินตามมาตรา 44แห่งพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2517 (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2536ข้อ 7 และข้อ 8 อนุญาตให้มีการซื้อขายที่ดินได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด หาใช่ไม่อาจทำการซื้อขายโดยเด็ดขาดไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share