คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5180/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนซึ่งจะเข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 วรรคสาม จะต้องเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญาเอาไว้แน่นอนไม่มีการเปลี่ยนแปลงและจะต้องเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นด้วย กฎหมายเรื่องค่าชดเชยเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจะดูเจตนาของคู่สัญญาประกอบด้วยไม่ได้เมื่อสัญญาจ้างกำหนดให้โจทก์และจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อใดก็ได้โดยบอกกล่าวให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า สัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญาจึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 486,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายจำนวน972,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำงานตำแหน่งที่ปรึกษาผู้จัดการโครงการและออกแบบได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 162,000 บาท ได้ทำหนังสือสัญญาจ้างไว้ตามเอกสารหมาย จล.1 กำหนดวันเริ่มต้นของการจ้างงานในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2540เป็นเวลา 2 ปี ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 จำเลยแจ้งเลิกจ้างโจทก์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างในวันที่ 31 ตุลาคม 2541 ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 อันเป็นการเลิกจ้างก่อนครบกำหนด 2 ปี ตามสัญญาจ้างจำเลยมีสิทธิจะเลิกจ้างโจทก์เมื่อใดก็ได้ เวลาที่กำหนด 2 ปี จึงไม่มีผลบังคับอย่างแท้จริง โจทก์จึงมิใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสาม พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 486,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 ธันวาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์แต่เพียงว่า สัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนหรือไม่จะต้องดูเจตนาของคู่สัญญาประกอบด้วยจำเลยจ้างโจทก์ทำงานซึ่งเป็นงานครั้งคราวชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น งานในส่วนที่โจทก์รับผิดชอบดำเนินมาก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 5 ปี ใกล้แล้วเสร็จ โจทก์และจำเลยมีเจตนาว่าถ้างานเสร็จโจทก์และจำเลยสามารถบอกเลิกสัญญาได้โดยบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน ดังนั้น การกำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญาที่แน่นอนในภายหลังอันเกิดจากสัญญาหรือข้อตกลงและเปลี่ยนแปลงเวลาที่กำหนดสัญญาย่อมกระทำได้เพราะเป็นเจตนาของคู่สัญญา ถือได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้น เห็นว่า สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนซึ่งจะเข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 118 วรรคสาม จะต้องเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญาเอาไว้แน่นอนไม่มีการเปลี่ยนแปลงและจะต้องเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้นด้วย ประกอบกับกฎหมายเรื่องค่าชดเชยเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนจะดูเจตนาของคู่สัญญาประกอบด้วยไม่ได้ เมื่อสัญญาจ้างเอกสารหมาย จล.1 ข้อ 9 กำหนดให้โจทก์และจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างเมื่อใดก็ได้โดยบอกกล่าวให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้า 2 เดือน สัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ทั้งจำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อนครบกำหนดสัญญา จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายดังกล่าว ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share