คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1336/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมลูกหนี้ได้เอาที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงงานพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างจำนองค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด แล้วธนาคารนั้นได้โอนสิทธิการจำนองให้ธนาคารผู้ร้องโดยความยินยอมของลูกหนี้ ต่อจากนั้นลูกหนี้ได้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารผู้ร้องเรื่อยมา ต่อมาลูกหนี้ต้องการเงินกู้เพิ่มขึ้น จึงได้ขายฝากเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตน้ำตาลซึ่งติดตั้งและเก็บรักษาไว้ในโรงงานของลูกหนี้ไว้กับธนาคารผู้ร้องเป็นเงิน 4 ล้านบาท มีกำหนดสามปี และในวันเดียวกันนั้นลูกหนี้ได้นำเงิน 4 ล้านบาทที่ธนาคารผู้ร้องจ่ายเป็นค่าขายฝากดังกล่าว ฝากประจำไว้กับธนาคารผู้ร้องโดยลูกหนี้ตกลงให้ธนาคารผู้ร้องมีสิทธิรับเงินตามใบฝากนี้ตลอดจนดอกเบี้ยเงินฝากแทนลูกหนี้เพื่อชดใช้บรรดาหนี้สินและภาระผูกพันทั้งมวลของลูกหนี้ซึ่งมีต่อธนาคารผู้ร้องได้โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งได้บันทึกข้อความนี้ไว้ด้านหลังใบรับฝากเงินประจำดังกล่าว ต่อมาลูกหนี้ขอเบิกเงินที่ได้ฝากไว้กับธนาคารผู้ร้อง 1 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในการดำเนินงานผลิตน้ำตาล ธนาคารผู้ร้องไม่ยอมให้เบิก ลูกหนี้จึงมีหนังสือขอบอกเลิกสัญญาขายฝาก เพื่อจะได้นำหลักทรัพย์ไปใช้เป็นหลักประกันในอันที่จะได้เงินมาดำเนินงานของลูกหนี้ ธนาคารผู้ร้องยอมให้เลิกสัญญาได้ ฉะนั้น เมื่อธนาคารผู้ร้องตกลงยกเลิกการขายฝากตามที่ลูกหนี้เสนอ ธนาคารผู้ร้องย่อมมีสิทธิเอาเงินฝากดังกล่าวของลูกหนี้กลับคืนมาเป็นของธนาคารผู้ร้องได้ เพราะเมื่อคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม อนึ่ง จำนวนเงินตามใบฝากประจำก็มีอยู่เท่าจำนวนเงินที่ขายฝากไว้ ธนาคารผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อฝากก็ได้เป็นผู้รับฝากเงินจำนวนนี้จากลูกหนี้ผู้ขายฝากอยู่แล้วจึงย่อมยกเลิกใบฝากเงินนั้นเสีย โดยอาศัยสิทธิที่ลูกหนี้ได้สลักหลังใบฝากเงินนั้นไว้ นำเงินดังกล่าวชำระหนี้ค่าขายฝากได้

ย่อยาว

ผู้ร้องร้องว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งว่าผู้ร้องยังเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นเงินค่าฝากประจำ – เผื่อเรียก จำนวน ๔ ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย ให้ผู้ร้องนำเงินไปชำระกรณีเดิมมีว่าลูกหนี้เปิดบัญชีเดินสะพัดและกู้เบิกเงินเกินบัญชีไปจากธนาคารผู้ร้องโดยจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน ลูกหนี้ได้เบิกเงินเกินบัญชีจนยอดเงินสูงขึ้น เพื่อความมั่นคงในหลักประกัน ผู้ร้องกับลูกหนี้จึงตกลงกันโดยลูกหนี้ขายฝากเครื่องกลเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิตน้ำตาลแก่ผู้ร้องเป็นเงิน ๔ ล้านบาท และมีข้อตกลงกันว่าลูกหนี้ต้องนำเงินที่ได้จากการขายฝากเข้าฝากไว้กับธนาคารผู้ร้องในประเภทการฝากเพื่อประกันการชำระหนี้ โดยจะถอนไม่ได้และต้องมอบสิทธิในเงินจำนวนนี้พร้อมดอกเบี้ยให้ผู้ร้องเป็นผู้รับเพื่อชดใช้บรรดาหนี้สินและภาระผูกพันที่มีอยู่กับผู้ร้องโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ต่อมาลูกหนี้จะขอเบิกเงินที่ฝากไปใช้ ผู้ร้องไม่ยอมลูกหนี้ได้บอกเลิกการขายฝาก ผู้ร้องตกลง และได้เอาเงินที่ฝากนั้นชำระหนี้การไถ่ถอนการขายฝากเสียทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้ยึดเครื่องกลเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตน้ำตาลรวมเข้ากับกองทรัพย์สินของลูกหนี้แล้ว จะเรียกให้ผู้ร้องส่งเงินค่าขายฝากอีกไม่ได้ ขอให้ศาลสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยลูกหนี้คัดค้านว่า เงินฝากประจำเผื่อเรียกจำนวน ๔ ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยยังเป็นของลูกหนี้ ลูกหนี้มิได้รับทราบเรื่องยกเลิกการขายฝากการกระทำของผู้ร้องเป็นการทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายชื่อธนาคารผู้ร้องออกจากบัญชีลูกหนี้
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง ๕๐ บาท อุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ฟังไม่ขึ้นพิพากษาแก้ ให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับกันไป ให้คืนค่าขึ้นศาลแก่ผู้ร้องและผู้คัดค้านฝ่ายละ ๔๙,๙๕๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เดิมบริษัทลูกหนี้ได้เอาที่ดินอันเป็นที่ตั้งโรงงานพร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างจำนองค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาเชียงใหม่ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน๒๕๐๑ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด สาขาเชียงใหม่ กับธนาคารผู้ร้องได้ตกลงกันให้โอนสิทธิการจำนองดังกล่าวให้ธนาคารผู้ร้อง โดยความยินยอมของบริษัทลูกหนี้ ต่อจากนั้นบริษัทลูกหนี้ได้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารผู้ร้องเรื่อยมา ต่อมาบริษัทลูกหนี้ต้องการเงินกู้เพิ่มขึ้น เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๐๗ บริษัทลูกหนี้ได้ขายฝากเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตน้ำตาลที่ติดตั้งและเก็บรักษาไว้ในโรงงานของบริษัทลูกหนี้ไว้กับธนาคารผู้ร้องเป็นเงิน ๔ ล้านบาท มีกำหนดสามปี และในวันเดียวกันนั้นบริษัทลูกหนี้ได้นำเงิน ๔ ล้านบาทที่ธนาคารผู้ร้องจ่ายเป็นเงินค่าขายฝากดังกล่าวให้บริษัทลูกหนี้โดยเช็ค ฝากประจำไว้กับธนาคารผู้ร้อง โดยบริษัทลูกหนี้ตกลงให้ธนาคารผู้ร้องมีสิทธิรับเงินตามใบฝากนี้ ตลอดจนดอกเบี้ยเงินฝากที่เนื่องจากใบฝากนี้แทนบริษัทลูกหนี้ เพื่อชดใช้บรรดาหนี้สินและภาระผูกพันทั้งมวลของบริษัทลูกหนี้ซึ่งมีต่อธนาคารผู้ร้องได้โดยไม่มีเงื่อนไขได้บันทึกความนี้ไว้ด้านหลังใบรับฝากเงินประจำดังกล่าว และในวันนั้นบริษัทลูกหนี้ได้ทำสัญญาเช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตน้ำตาลจากธนาคารผู้ร้อง ต่อมาวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๘ บริษัทลูกหนี้ได้มีหนังสือขอเบิกเงินที่ได้ฝากไว้กับธนาคารผู้ร้องหนึ่งล้านบาทเพื่อนำไปใช้จ่ายในการดำเนินงานผลิตน้ำตาล ธนาคารผู้ร้องไม่ยอมให้เบิก บริษัทลูกหนี้จึงได้มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๐๘ ถึงธนาคารผู้ร้อง แจ้งว่าบริษัทลูกหนี้จำเป็นต้องหาเงินมาดำเนินงานให้ทันตามกำหนดเวลา จึงขอบอกเลิกสัญญาขายฝากที่บริษัทลูกหนี้ได้ทำไว้กับธนาคารผู้ร้อง เพื่อจะได้นำหลักทรัพย์ดังกล่าวไปเพื่อใช้เป็นหลักประกันในอันจะได้เงินมาเพื่อดำเนินงานของบริษัทลูกหนี้ ธนาคารผู้ร้องตกลงยอมให้เลิกสัญญาได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อเลิกสัญญาขายฝากแล้ว เงินตามใบรับฝากเงินประจำของบริษัทลูกหนี้ดังกล่าวจะยังคงอยู่กับธนาคารผู้ร้องหรือไม่นั้น ได้ความจากธนาคารผู้ร้องว่าที่ต้องทำสัญญาขายฝากเพราะเครื่องจักรของโรงงานน้ำตาลซึ่งเดิมได้เคยจำนองเป็นประกันเงินกู้ไว้นั้นต่อมาศาลฎีกาได้พิพากษาว่า เครื่องจักรไม่ใช่ส่วนควบกับสิ่งปลูกสร้างที่จำนอง จึงได้มาทำสัญญาขายฝากเครื่องจักรกันอีกอีกชั้นหนึ่ง และข้อเท็จจริงได้ความว่าเงินที่ขายฝากนั้นบริษัทลูกหนี้ไม่ได้รับไปได้นำฝากเป็นเงินฝากประจำกับธนาคารผู้ร้อง โดยบริษัทลูกหนี้ได้บันทึกข้อความไว้ด้านหลังใบรับฝากเงินประจำนั้นว่า บริษัทลูกหนี้ขอมอบให้ธนาคารผู้ร้องสาขาเชียงใหม่มีสิทธิรับเงินตามใบฝากนี้ตลอดจนดอกเบี้ยเงินฝากที่เนื่องจากเงินฝากนี้แทนบริษัทลูกหนี้ เพื่อชดใช้บรรดาหนี้สินและภาระผูกพันทั้งมวลของบริษัทลูกหนี้ซึ่งมีต่อธนาคารผู้ร้องโดยไม่มีเงื่อนไข ฉะนั้น เมื่อธนาคารผู้ร้องตกลงยกเลิกการขายฝากดังที่บริษัทลูกหนี้เสนอแล้วธนาคารผู้ร้องจึงมีสิทธิเอาเงินฝากดังกล่าวของบริษัทลูกหนี้กลับคืนมาเป็นของธนาคารผู้ร้องได้ เพราะเมื่อคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม อนึ่ง จำนวนเงินตามใบฝากประจำก็มีอยู่เท่าจำนวนเงินที่ขายฝากไว้ ธนาคารผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ซื้อฝากก็ได้เป็นผู้รับฝากเงินจำนวนนี้จากบริษัทลูกหนี้ผู้ขายฝากอยู่แล้ว จึงย่อมยกเลิกใบฝากเงินนั้นเสียโดยอาศัยสิทธิที่บริษัทลูกหนี้ได้สลักหลังในใบฝากเงินนั้นไว้นำเงินดังกล่าวชำระหนี้ค่าขายฝากได้ เหตุนี้ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าเงินค่าขายฝากของลูกหนี้ผู้ล้มละลายไม่เหลืออยู่ที่ธนาคารผู้ร้องนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share