คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 765/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ใบอนุญาตระบุข้อความว่า ให้จำเลยค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยมีสถานการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองชื่อห้องภาพสุราษฎร์ ฯลฯ อำเภอเมืองฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และระบุว่าจำเลยตั้งสถานการค้าอยู่ ณที่ใดเท่านั้น แต่จะใช้คุ้มครองได้ภายในเขตท้องที่ใดเพียงใดไม่มีระบุไว้ ทั้งไม่มีข้อห้ามว่าจำเลยจะทำการค้านอกสถานที่ดังกล่าวไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 และกฎกระทรวงฉบับที่ 3(พ.ศ. 2505) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวก็มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตของใบอนุญาตหรือมีข้อห้ามประการใดเกี่ยวกับวิธีการทำการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองนอกสถานที่ ทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองก็กำหนดไว้เพียงอัตราเดียว มิได้กำหนดให้แบ่งแยกเขตไว้อย่างใบอนุญาตให้ล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ใบอนุญาตให้ค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองจึงใช้ได้ทั่วไปในจังหวัดที่ได้รับใบอนุญาต การที่จำเลยไปซื้อนกขุนทองและถูกจับพร้อมด้วยนกขุนทองที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดเดียวกัน จึงไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2512 เวลากลางวันจำเลยบังอาจค้าและมีไว้ในความครอบครองเพื่อการค้าซึ่งนกขุนทองอันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตามบัญชีหมายเลข 1 อันดับ 35 ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จำนวน 62 ตัว ราคา 620 บาท โดยจำเลยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ในวันดังกล่าวพร้อมด้วยนกขุนทอง 62 ตัวเป็นของกลาง เหตุเกิดที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 มาตรา 15,42กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ข้อ 1 ริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ก่อนสืบพยานโจทก์จำเลยรับกันว่า นายพิลาศ ดุศลกรรมบทจับจำเลยได้พร้อมด้วยนกขุนทอง 62 ตัว ซึ่งจำเลยซื้อมาได้ที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจำเลยมีใบอนุญาตดังสำเนาใบอนุญาตที่โจทก์ส่งอ้างต่อศาลจริง และรับกันต่อไปว่านายอุดม หิรัญพฤกษ์ ป่าไม้ จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีความเห็นว่า ตามใบอนุญาตได้ระบุให้มีสถานการค้าและสถานเก็บสัตว์อยู่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จำเลยจะไปหาซื้อสัตว์หรือค้านอกเขตที่ระบุไว้ในใบอนุญาตไม่ได้ ถ้าจะค้าทั่วเขตจังหวัดจะต้องมีข้อความระบุเพิ่มเติม โดยใช้แบบ ส.ป.5 เหมือนกัน แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นผู้อนุญาต ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีไม่จำเป็นต้องสืบพยาน สั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย

ศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่า จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ค้า ย่อมหาสินค้ามาขายได้ การที่ใบอนุญาตระบุสถานที่ค้าและสถานที่เก็บสัตว์ไว้ ก็เพื่อสะดวกในการควบคุมตรวจตราให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้นมิได้หมายถึงการที่พ่อค้าหาซื้อสินค้าจากที่อื่นมาใส่ร้าน และส่งสินค้าให้แก่ผู้สั่งซื้อ ถึงแม้สถานที่หาซื้อสินค้าและผู้ซื้ออยู่นอกเขตท้องที่ที่คนได้รับใบอนุญาตก็ตาม ดังนั้น จำเลยไปซื้อนกขุนทองจากอำเภอเกาะสมุยมาขาย ถือได้ว่าพ่อค้าหาสินค้ามาขายตามปกติ จำเลยจึงไม่มีความผิด พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้คืนของกลางแก่เจ้าของทรัพย์ไป

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่าจำเลยควรมีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2503 มาตรา 15, 42 กฎกระทรวง ฉบับที่ 1(พ.ศ. 2504) ออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ข้อ 1สมควรให้ปรับ 250 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ของกลางริบ แต่เป็นความเห็นข้างน้อย

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้ข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างฟังว่าจำเลยได้รับใบอนุญาตให้ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งนายอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ออกให้โดยได้รับอนุมัติจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีตามสำเนาใบอนุญาต เอกสารอันดับที่ 14 ในสำนวน จำเลยได้ซื้อนกขุนทอง 62 ตัวและถูกจับพร้อมด้วยนกขุนทองดังกล่าวที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดเดียวกัน ปัญหาว่าจำเลยจะมีความผิดฐานค้านกขุนทอง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายดังโจทก์ฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์ใบอนุญาตให้ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง (อันดับที่ 14 ในสำนวน) ที่ทางการออกให้แก่จำเลยแล้ว ใบอนุญาตนั้นระบุข้อความว่า อนุญาตให้จำเลยค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองประจำพ.ศ. 2512 โดยมีสถานการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองชื่อ ห้องภาพสุราษฎร์ เลขที่ 211 ถนนหน้าเมือง ตำบลตลาด อำเภอเมืองฯจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามใบอนุญาตดังกล่าวได้ระบุว่า จำเลยตั้งสถานการค้าอยู่ ณ ที่ใดเท่านั้น ส่วนใบอนุญาตนั้นจะใช้คุ้มครองได้ภายในเขตท้องที่ใดเพียงใดไม่มีระบุไว้ ทั้งไม่มีข้อห้ามว่าจำเลยจะทำการค้านอกสถานที่ดังกล่าวไม่ได้ พิจารณาพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503และกฎกระทรวงฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2505) ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวกับการขอรับใบอนุญาตให้ค้าหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองแล้ว มิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเขตของใบอนุญาต หรือมีข้อห้ามประการใดเกี่ยวกับวิธีการทำการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองนอกสถานที่ไว้ และเมื่อพิเคราะห์ถึงอัตราค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตที่บัญญัติไว้ท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ซึ่งต่อมาได้ถูกยกเลิกโดยให้ใช้บัญชีอัตราค่าธรรมเนียมท้ายประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 228 แทน ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2505)และกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2505) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 แล้ว เห็นว่ากำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาตให้ล่าสัตว์ป่าคุ้มครองกับใบอนุญาตให้ค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ต่างกัน กล่าวคือ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ล่าสัตว์ป่าคุ้มครองกำหนดไว้ 2 ประเภท คือใบอนุญาตให้ล่าได้ทั่วราชอาณาจักร และใบอนุญาตให้ล่าได้ภายในเขตจังหวัดที่ผู้รับอนุญาตมีภูมิลำเนา ซึ่งมีอัตราค่าธรรมเนียมแตกต่างและลดหลั่นกัน แต่ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองกำหนดไว้เพียงอัตราเดียว ไม่มีกำหนดให้แบ่งแยกเขตไว้อย่างใบอนุญาตให้ล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ด้วยเหตุนี้ศาลฎีกาเห็นว่าใบอนุญาตให้ค้าซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง ใช้ได้ทั่วไปในจังหวัดที่รับใบอนุญาต ดังนั้น การกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่กล่าวข้างต้น จำเลยจึงไม่มีความผิด ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์

Share