คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาเป็นเหตุให้ไม่อาจ ทำอุทธรณ์ยื่นได้ภายในกำหนด ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่ต้องยื่นขอก่อนสิ้นระยะเวลาที่กำหนด โจทก์เพิกเฉยมิได้ยื่นคำขอขยายระยะเวลา เสียก่อนสิ้นระยะเวลาโดยอ้างว่าเข้าใจผิดอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการตรวจดูคำสั่งศาลชั้นต้นของเสมียนทนายโจทก์ เหตุดังกล่าวนี้ เป็นเรื่องความบกพร่องภายในของโจทก์เอง ยังไม่อาจถือได้ว่า เป็นเหตุสุดวิสัยตามความหมายของมาตรา 23

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งแรกมีกำหนด 30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดเดิม ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองเมื่อพ้นกำหนดขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งแรกแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ

โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์มิได้จงใจที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองเมื่อพ้นกำหนดขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งแรก แต่เป็นเพราะในการทราบคำสั่งศาลไม่สามารถตรวจดูจากสำนวนได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่าสำนวนอยู่ระหว่างพิมพ์คำพิพากษาเพื่อเสนอศาลและแจ้งให้โจทก์ทราบว่า ศาลอนุญาตให้ขยายออกไปถึงวันที่ 27 เมษายน2541 ซึ่งเป็นระยะเวลา 30 วันตามที่โจทก์ขอครั้งแรก โจทก์จึงเชื่อโดยสุจริตใจ และโจทก์ตรวจดูจากสมุดคำสั่งศาลชั้นต้นก็เป็นเช่นนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 21 เมษายน 2541 ถือว่าโจทก์ประสงค์จะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายในกำหนด แต่ถึงอย่างไรก็ตามโจทก์ไม่อาจยื่นอุทธรณ์ได้ทันภายในกำหนดที่ศาลชั้นต้นอนุญาตเพราะโจทก์ยังไม่ได้รับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเพื่อนำมาประกอบในการเขียนอุทธรณ์ ถือเป็นเหตุสุดวิสัย ขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 28 และที่ 30 ถึงที่ 35 ยื่นคำคัดค้านว่าการที่โจทก์ตรวจดูคำสั่งศาลจากสมุดคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกาผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นสั่งเป็นความบกพร่องของทนายโจทก์เอง มิใช่เหตุสุดวิสัยขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายกมล บุญญชโลธร ผู้จัดการมรดกของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์อนุญาต

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาคณะปกครองวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า กรณีของโจทก์เป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะขยายระยะเวลาให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า คดีนี้ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 26 มีนาคม 2541 แต่เมื่อวันที่ 24มีนาคม 2541 ทั้งโจทก์และฝ่ายจำเลยต่างยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์30 วัน ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์และฝ่ายจำเลยในวันรุ่งขึ้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้ฝ่ายจำเลย 30 วัน ส่วนโจทก์อนุญาตให้ 15 วันต่อมาวันที่ 21 เมษายน 2541 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สอง อ้างว่ายังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไว้ใกล้จะครบกำหนดที่ขอขยายไว้ถึงวันที่ 27 เมษายน 2541 แล้ว ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก30 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า อนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาครั้งแรกเพียง15 วัน ครบกำหนดในวันที่ 10 เมษายน 2541 โจทก์ยื่นคำร้องนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวโดยไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัย จึงให้ยกคำร้องขอของโจทก์ ส่วนฝ่ายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สอง ก่อนครบกำหนดที่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นอนุญาตให้อีก 15 วัน และเมื่อใกล้จะครบกำหนดฝ่ายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีกเป็นครั้งที่สาม อ้างว่าเพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไว้จากศาลชั้นต้น ไม่อาจดำเนินการได้ทัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้อีก 15 วัน แต่เมื่อครบกำหนดแล้วฝ่ายจำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์ เห็นว่าเหตุตามที่โจทก์อ้างมาในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองว่ายังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไว้จากงานศูนย์ถ่ายเอกสารของศาลชั้นต้น โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าสำนวนยังไม่ลงไปที่ศูนย์ถ่าย จึงยังไม่อาจยื่นอุทธรณ์ได้นั้นน่าจะเป็นความจริงเพราะแม้แต่ฝ่ายจำเลยซึ่งได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงสามครั้งก็ยังอ้างมาในการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สามว่า เพิ่งได้รับสำเนาคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายจากศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2541 อันเป็นเวลาหลังจากทนายโจทก์อ้างในการยื่นคำร้องขอดังกล่าวถึง 10 วัน การที่โจทก์ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาเป็นเหตุให้ไม่อาจทำอุทธรณ์ยื่นได้ภายในกำหนดเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์พิเศษตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 23 แต่ก็เป็นเพียงเหตุที่จะทำให้ศาลสามารถขยายระยะเวลาให้ได้ตามกฎหมายเท่านั้น ถึงแม้จะมีเหตุเช่นนี้อยู่คู่ความก็ต้องยื่นคำขอขยายระยะเวลาเสียก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายไว้ในครั้งแรก ดังที่บัญญัติไว้ในตอนท้ายของมาตรา 23 ซึ่งมีข้อยกเว้นอยู่อย่างเดียวคือ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งคำว่า “เหตุสุดวิสัย” ในที่นี้ต้องเป็นเหตุที่ทำให้คู่ความไม่อาจมายื่นคำขอขยายระยะเวลาต่อศาลได้ทันก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายหรือศาลกำหนดไม่ใช่กรณีที่มีเหตุจากการกระทำของฝ่ายโจทก์เองทำให้โจทก์ไม่อาจยื่นอุทธรณ์ได้ทัน เพราะถ้าโจทก์จะขอขยายระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้ในครั้งแรกก็เพียงแต่ยื่นคำขอระบุพฤติการณ์พิเศษที่ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นทราบเท่านั้น ศาลชั้นต้นก็สามารถอนุญาตให้ขยายระยะเวลาต่อไป ซึ่งโดยปกติโจทก์ก็น่าจะสามารถทำได้ แต่เหตุที่ทำให้โจทก์เพิกเฉยมิได้ยื่นคำขอขยายระยะเวลาเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 15 วัน ที่ศาลชั้นต้นขยายให้ในครั้งแรก ซึ่งโจทก์อ้างว่าเข้าใจผิด อันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการตรวจดูคำสั่งศาลชั้นต้นของเสมียนทนายโจทก์เองที่ดูผิดพลาดไปทำให้ทนายโจทก์เข้าใจผิดไปว่ายังไม่สิ้นระยะเวลา เหตุดังกล่าวนี้เป็นเรื่องความบกพร่องภายในของโจทก์เอง ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตามความหมายของมาตรา 23 เมื่อไม่มีเหตุสุดวิสัยโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้ามาหลังจากสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้แล้ว จึงต้องยกคำร้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share