คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2506/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ค่าใช้จ่ายและค่าควบคุมการซ่อมจะเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่โจทก์จะต้องใช้จ่ายอยู่แล้ว แต่เมื่อเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งที่โจทก์ต้องเสียไปในการซ่อมความเสียหายที่ได้รับ ซึ่งสามารถคิดคำนวณเฉลี่ยออกมาได้ จึงถือได้ว่าเป็นต้นทุนในการซ่อมที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์
เงินค่าแรงที่โจทก์ต้องจ่ายให้แก่พนักงานของโจทก์ในการซ่อมแซมความเสียหายเกี่ยวกับรถไฟ เสาโทรเลข สายควบคุมพร้อมอุปกรณ์และอื่น ๆ อันเกิดจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 แม้พนักงานของโจทก์จะได้รับเงินเดือนจากโจทก์เป็นประจำอยู่แล้ว แต่เมื่อโจทก์ต้องใช้พนักงานของโจทก์ไปซ่อมแซม เพราะถ้าไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น โจทก์ก็ย่อมไม่ต้องใช้พนักงานของโจทก์ไปทำงานนั้น หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องจ้างเหมาให้บุคคลอื่นทำการซ่อมแซมแทน จำเลยทั้งห้าจึงต้องรับผิดชดใช้เงินค่าแรงดังกล่าวให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างทำหน้าที่ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน ๘๐-๓๒๗๓ ฉะเชิงเทรา ให้แก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ โดยมีจำเลยที่ ๕ เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันดังกล่าว เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๖ เวลา ๙.๕๔ นาฬิกา จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์คันดังกล่าวในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไปตามถนนภายในย่านสถานีรถไฟฉะเชิงเทรา มุ่งหน้าไปออกถนนมหาจักรพรรดิ์ด้วยความประมาทข้ามทางรถไฟโดยไม่หยุดรถเพื่อให้ขบวนรถไฟที่กำลังแล่นมาผ่านไปก่อนตามป้ายสัญญาณ เป็นเหตุให้รถยนต์กันที่จำเลยที่ ๑ ขับ แล่นตัดหน้ารถไฟขบวนที่ ๒๐๓ อย่างกะทันหัน รถไฟชนรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ขับและรถไฟได้รับความเสียหาย ๑๐๐,๘๘๔.๗๔ บาท และรางคด เครื่องกลับประแจรางขนาด ๘๐ ปอนด์ ชำรุดไม้หมอนรองรางเสียหายต้องซ่อมเป็นเงิน ๑๑,๓๐๔.๗๐ บาท เสาโทรเลขหัก ๑ ต้น สายโทรเลขและโทรศัพท์ขาด โคมไฟฟ้าชำรุดต้องซ่อมแซมเป็นเงิน ๒๓,๗๓๖.๒๐ บาท ค่าเสียหายในการนำรถไฟกลับมาซ่อมที่โรงงานมักกะสันเป็นเงิน ๒,๖๗๙.๗๗ บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น ๑๒๘,๔๖๕.๔๑ บาท เมื่อคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันละเมิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๑ ปี เป็นเงิน ๑๐,๓๙๒.๔๑ บาท ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน ๑๙๘,๙๕๘ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน ๑๓๘,๕๖๕.๔๑ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ มิใช่ลูกจ้าง และไม่ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุในทางการที่จ้าง เหตุรถไฟชนรถยนต์เกิดขึ้นเพราะความประมาทของคนขับรถไฟ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป ค่าเสียหายที่แท้จริงของโจทก์เป็นเงินเพียง ๖๙,๒๘๒.๗๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน ๑๓๘,๕๖๕.๔๑ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๖ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน ๙๓,๓๒๙.๙๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๖ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ โดยประมาทตัดหน้ารถไฟในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้รถไฟชนรถยนต์คันที่จำเลยที่ ๑ ขับ ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ ๕ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนค่าเสียหายนั้นฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตามที่นำสืบ คือ ค่าแรงช่าง ๓ คน ที่ไปตรวจดูความเสียหาย ๒,๖๓๙.๗๗ บาท ค่าซ่อมแซม เป็นเงินค่าของ ๓๖,๑๓๙.๕๐ บาท ค่าแรง ๒,๖๓๙.๗๗ บาท ค่าซ่อมแซม เป็นเงินค่าของ ๓๖,๑๓๙.๕๐ บาท ค่าแรง ๒๑,๖๘๗.๗๓ บาท เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั่วไปและค่าควบคุมแล้วเป็นเงินค่าซ่อมรถไฟของโจทก์ทั้งสิ้น ๑๐๐,๘๘๔.๗๔ บาท ค่าซ่อมเสาโทรเลข สายควบคุมพร้อมอุปกรณืเป็นเงิน ๒๓,๗๓๖.๒๐ บาท ค่าซ่อมไม้หมอก กุญแจยึดสิ้นประแจ เครื่องดันกลับประแจ รวมทั้งค่าแรงเป็นเงิน ๑๑,๓๐๔.๗๐ บาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น ๑๓๘,๕๖๕.๔๑ บาท ที่จำเลยต่อสู้ว่าค่าใช้จ่ายและค่าควบคุมเป็นค่าใช้จ่ายประจำที่โจทก์ต้องใช้จ่ายอยู่แล้ว จึงไม่น่ามีสิทธิเรียกร้องเอากับจำเลยได้นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ค่าใช้จ่ายประจำและค่าควบคุมเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งที่โจทก์ต้องเสียไปในการซ่อมแซมความเสียหายที่ได้รับ ซึ่งสามารถคิดคำนวณเฉลี่ยออกมาได้ จึงถือเป็นต้นทุนในการซ่อมที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับค่าแรงที่จำเลยต่อสู้ว่า พนักงานที่นำไปซ่อมรถไฟกันเกิดเหตุได้รับเงินเดือนประจำของโจทก์อยู่แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าแรงจากจำเลยได้นั้น เห็นว่าแม้พนักงานของโจทก์จะได้รับเงินเดือนจากโจทก์เป็นประจำอยู่แล้วก็ดี แต่เมื่อโจทก์ต้องใช้พนักงานของโจทก์ไปซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายอันเกิดจากการละเมิดของจำเลยที่ ๑ แล้ว โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าแรงของพนักงานโจทก์จากจำเลยได้ เพราะถ้าไม่มีการละเมิดเกิดขึ้น โจทก์ก็ย่อมไม่ต้องใช้พนักงานของโจทก์ไปทำงานนั้น หรือหากจะใช้ก็คงนำไปใช้ประโยชน์ทางอื่น หรือหากโจทก์ไม่ใช้พนักงานของโจทก์เองก แต่ได้จ้างเหมาให้บุคคลอื่นทำการซ่อมแซมแทน จำเลยก็คงต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์เช่นเดียวกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share