แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2519 มาตรา 19 วรรคแรกโดยมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในครอบครองเกินกว่า 500 กรัมซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา 49 คือปรับสิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดนั้น ความผิดตามมาตรา 19 วรรคแรก เกิดจากการมียาสูบทั้งหมดไว้ในครอบครอง มิใช่เฉพาะจำนวนที่เกิน 500 กรัม จึงต้องปรับจำเลยตามจำนวนน้ำหนักของยาสูบทั้งหมดที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายและมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบมิใช่ปรับเฉพาะตามจำนวนน้ำหนักของยาสูบที่เกิน 500 กรัมเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งมิใช่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบได้มียาสูบต่างประเทศ (บุหรี่ซิกาแรต) ตรา 555 จำนวน 30 ซองหนัก 660 กรัม ตราวินสตัน จำนวน 60 ซอง หนัก 1,260 กรัมรวมจำนวน 90 ซอง หนัก 1,920 กรัม ที่ไม่ได้ปิดแสตมป์ยาสูบเป็นเงิน960 บาท ไว้ในครอบครองเกินกว่า 500 กรัม โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2519มาตรา 19, 44, 49 พระราชบัญญัติยาสูบ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2513มาตรา 17 กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2523) ลงวันที่ 22 พฤษภาคม2523 ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2519 ริบของกลางจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงปรับ 3,550 บาท ไม่ชำระค่าปรับกักขังแทน ริบของกลาง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ปรับจำเลยสิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดเป็นเงิน 9,600 บาท ลดรับสารภาพแล้วคงเป็นค่าปรับ 4,800 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมียาสูบต่างประเทศหนัก 1,920 กรัม ที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของโจทก์ว่าจะต้องปรับจำเลยสิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบในจำนวนยาสูบ 1,920 กรัมหรือปรับเพียงจำนวน 1,420 กรัม โดยหักจำนวนยาสูบ 500 กรัมที่จำเลยอาจมีไว้ในครอบครองได้โดยไม่ต้องปิดแสตมป์ยาสูบตามมาตรา19 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2519 ออกเสียก่อนพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 19 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบตามพระราชบัญญัติ นี้ไว้ในครอบครองเกินกว่าห้าร้อยกรัม นอกจากผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาสูบ” เมื่อจำเลยมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบไว้ในครอบครอง 1,920 กรัม จึงเป็นความผิดตามมาตรา 19 วรรคแรกอันมีโทษตามมาตรา 49 ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 19 หรือมาตรา 20 ต้องระวางโทษปรับสิบเท่าของค่าแสตมป์ยาสูบที่จะต้องปิดหรือที่ยังขาดอยู่ แต่ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยบาท…” การกระทำของจำเลยจึงมิได้เป็นความผิดเพราะมียาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบจำนวน 1,420 กรัม หากแต่เป็นความผิดที่มียาสูบเพราะมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบจำนวน 1,920 กรัม การที่ศาลล่างทั้งสองนำจำนวนยาสูบ 500 กรัมไปหักออกจากจำนวนยาสูบที่จำเลยมีไว้ในครอบครองก่อน แล้วจึงคำนวณโทษปรับจำเลยนั้น จึงไม่ถูกต้อง เพราะยาสูบทั้งหมดที่จำเลยมีไว้ในครอบครองอันเป็นเหตุให้เกิดความผิดในคดีนี้ มิใช่เฉพาะจำนวนที่เกิน 500 กรัมเท่านั้น จึงต้องปรับจำเลยตามจำนวนน้ำหนักของยาสูบทั้งหมดที่จำเลยมีไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตามกฎหมายและมิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาสูบพ.ศ. 2519 มาตรา 19 วรรคแรก, 49 กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2523)ออกตามความในพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ. 2519 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม2523 ปรับ 9,600 บาท ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78กึ่งหนึ่ง คงปรับ 4,800 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์