คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยจัดตั้งขึ้นที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่พ.ศ. 2456 โดยใช้คำว่า ครอมพ์ตัน เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัท พ.ศ. 2480 จำเลยจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตัน ใช้สำหรับโคมไฟฟ้าที่ประเทศอังกฤษ ต่อจากนั้นได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ที่ประเทศอื่น ๆ อีก จำเลยได้ส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2511และยังมีผู้สั่งเข้ามาจำหน่ายตลอดมา ส่วนโจทก์ใช้ชื่อครอมพ์ตันเมื่อปลายปี2521ทั้งคำว่าครอมพ์ตัน เป็นคำประดิษฐ์แปลไม่ได้ ยากที่โจทก์จะคิดขึ้นมาฟ้องกับจำเลยโจทก์ย่อมทราบว่ามีผู้ใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตัน สำหรับเครื่องไฟฟ้าแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนในประเทศไทยจึงได้ขอจดทะเบียนเสียก่อน ดังนี้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า ครอมพ์ตัน ดีกว่าโจทก์ แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันในประเทศไทย ไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านี้ตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้ามาตรา 27 ก็ตามแต่เมื่อโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งจำเลยมีสิทธิดีกว่าจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคัดค้านได้ตาม มาตรา 22มิใช่เป็นการอ้างความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่จดทะเบียนอันจะต้องห้ามตาม มาตรา 27 จำเลยส่งสินค้าเครื่องไฟฟ้าใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยมานาน เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ประชาชนโจทก์นำเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันมาใช้กับสินค้าเครื่องไฟฟ้าของโจทก์ โดยไม่ปรากฏข้อความหรือเครื่องหมายใด ๆ แสดงให้เห็นที่เครื่องไฟฟ้านั้นว่าเป็นของโจทก์เลย พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เอาสินค้าของโจทก์ไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของจำเลย ดังนี้จำเลยชอบที่จะฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์เลิกใช้เครื่องหมายการค้า ครอมพ์ตันของจำเลยได้ตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 29 วรรคสอง คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ตัดพยานโจทก์เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาฯ เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งไว้โดยมีโอกาสที่จะโต้แย้งได้ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ ก็ไม่เป็นประเด็นที่โจทก์จะยกขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ และห้ามมิให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันของจำเลยที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้ใดมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตัน (CROMPTON) ดีกว่ากัน ได้ความตามคำของนายสมเกียรติ สิทธิศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเยอร์เกนเซ่น แอนด์โก ซึ่งเป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจจากจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยประกอบกับเอกสารหมาย ล.8 ว่า บริษัทจำเลยจัดตั้งขึ้นที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ ค.ศ. 1913 ตรงกับ พ.ศ. 2456 โดยใช้คำว่า ครอมพ์ตันเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัท ครั้นวันที่ 6 พฤษภาคม 2480 จำเลยได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันใช้สำหรับโคมไฟฟ้าที่เมืองลอนดอนประเทศอังกฤษ ต่อจากนั้นจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ที่ประเทศอื่น ๆ อีกประมาณ 17 ประเทศ เช่นที่ประเทศอินเดียเมื่อ พ.ศ. 2483 ที่ประเทศออสเตรเลียเมื่อ พ.ศ. 2489ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อ พ.ศ. 2516 เป็นต้น ส่วนโจทก์นำสืบว่าเพิ่งคิดชื่อครอมพ์ตันขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2521 นี่เองเห็นได้ว่า จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันมาก่อนโจทก์เป็นเวลาหลายสิบปีย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าโจทก์ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันโดยสุจริตไม่เคยทราบว่ามีผู้ใดใช้มาก่อนนั้น เห็นว่า คำว่าครอมพ์ตันเป็นคำประดิษฐ์แปลไม่ได้ เป็นไปได้ยากที่โจทก์จะคิดขึ้นมาพ้องกับจำเลย จำเลยใช้เครื่องหมายการค้านี้มานานและได้ส่งสินค้าเครื่องไฟฟ้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้มาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2511 และยังมีผู้สั่งเข้ามาจำหน่ายตลอดมา ประกอบกับโจทก์อยู่ในวงการค้าขายเครื่องไฟฟ้า เชื่อว่าโจทก์ทราบว่ามีผู้ใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันสำหรับเครื่องไฟฟ้าแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงได้ขอจดทะเบียนเสียก่อน หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตดังที่อ้างไม่ แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันในประเทศไทย ไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช 2474 มาตรา 27 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่พิพาทซึ่งจำเลยมีสิทธิดีกว่าจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคัดค้านได้ตามพระราชบัญญัติที่กล่าวแล้วมาตรา 22 มิใช่เป็นการอ้างความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่จดทะเบียนอันจะต้องห้ามตามมาตรา 27 แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันไว้ในต่างประเทศเฉพาะสำหรับสินค้าหลอดไฟฟ้าชนิดธรรมดาปรากฏตามหลักฐานการจดทะเบียนในประเทศอังกฤษเอกสารหมายล.10 แต่โจทก์ขอจดทะเบียนในประเทศไทยสำหรับสินค้าจำพวก 8 ทั้งจำพวก จึงเป็นสินค้าคนละชนิดกัน โจทก์ชอบที่จะมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันดีกว่าจำเลยนั้น เห็นว่า เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ส่งสินค้าในประเทศเครื่องไฟฟ้าใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอยู่แล้วหากจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ให้แก่โจทก์สำหรับสินค้าในประเภทเดียวกันอีก อาจเป็นเหตุให้สาธารณชนต้องสับสนหลงผิด ไม่สมควรจดทะเบียนให้โจทก์อีก ที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนให้โจทก์จึงชอบด้วยเหตุผล ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันดีกว่าโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปว่าจำเลยชอบที่จะฟ้องแย้งได้หรือไม่ เห็นว่าฟ้องแย้งของจำเลยบรรยายไว้ด้วยว่า โจทก์นำเอาสินค้าของโจทก์ไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของจำเลย ขอให้บังคับโจทก์เลิกใช้เครื่องหมายครอมพ์ตันกับสินค้าหลอดไฟและอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าของโจทก์ จึงมีประเด็นในเรื่องลวงขายแล้ว ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีไม่มีประเด็นเรื่องลวงขาย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย คดีได้ความว่าจำเลยส่งสินค้าเครื่องไฟฟ้าใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันเข้ามาจำหน่ายในประเทศมานาน เชื่อว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ประชาชน โจทก์นำเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันมาใช้กับสินค้าเครื่องไฟฟ้าของโจทก์ โดยไม่ปรากฎข้อความหรือเครื่องหมายใด ๆ แสดงให้เห็นที่เครื่องไฟฟ้านั้นว่าเป็นของโจทก์เลยพฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เอาสินค้าของโจทก์ไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของจำเลย จำเลยชอบที่จะฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์เลิกใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 29 วรรคสอง เพียงแต่ใบปลิวโฆษณาของโจทก์ระบุว่าโจทก์เป็นผู้นำสินค้าออกวางตลาดและพนักงานขายของโจทก์บอกแก่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ไม่เพียงพอให้ผู้ใช้สินค้าของโจทก์เข้าใจได้ว่าสินค้านั้นมิใช่ของจำเลยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์นำเอาเครื่องหมายการค้าพิพาทไปจดทะเบียน โดยเจตนาแย่งขายสินค้าพิพาทเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยย่อมฟ้องแย้งได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า ศาลชั้นต้นสั่งตัดพยานของโจทก์เป็นการไม่ชอบ ข้อนี้ได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2525 ว่า เมื่อสืบพยานโจทก์ในวันนั้นได้ 2 ปาก รวมกับที่สืบในนัดก่อน ๆ ด้วยเป็น 5 ปากแล้วทนายโจทก์ขอเลื่อนเพราะหมดพยานที่มาศาล ศาลชั้นต้นสอบทนายโจทก์แล้วได้ความว่า พยานที่จะนำสืบต่อไปก็จะนำสืบในทำนองเดียวกับที่ได้นำสืบไปแล้ว ศาลชั้นต้นเห็นว่าถ้าจะนำสืบพยานอีกต่อไปก็จะได้ข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ จึงมีคำสั่งตัดพยานโจทก์และให้นัดสืบพยานจำเลยต่อไป ต่อมาศาลชั้นต้นได้สืบพยานจำเลยแล้วพิพากษาคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2526 โดยโจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งตัดพยานไว้ก่อนแต่อย่างใด เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ตัดพยานโจทก์ดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาเมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งไว้โดยมีโอกาสที่จะโต้แย้งได้ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226แม้ศาลอุทธรณ์จะรับวินิจฉัยให้ก็ไม่เป็นประเด็นที่โจทก์จะยกขึ้นฎีกาต่อมา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา1,000 บาท แทนจำเลย

Share