คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1333/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยจัดตั้งขึ้นที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2456 โดยใช้คำว่า ครอมพ์ตัน เป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัท ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2480 จำเลยจดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ครอมพ์ตัน ใช้สำหรับโคมไฟฟ้าที่ประเทศอังกฤษ ต่อจากนั้นได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ที่ประเทศอื่น ๆ อีกประมาณ 17 ประเทศ จำเลยได้ส่งสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2511 และยังมีผู้สั่งเข้ามาจำหน่ายตลอดมา ส่วนโจทก์เพิ่งจะคิดชื่อ ครอมพ์ตัน ขึ้นใช้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2521 จำเลยจึงใช้เครื่องหมายการค้า “ครอมพ์ตัน” มาก่อนโจทก์หลายสิบปี ทั้งคำว่า ครอมพ์ตันเป็นคำประดิษฐ์แปลไม่ได้ ยากที่โจทก์จะคิดขึ้นมาพ้องกับจำเลย โจทก์ย่อมทราบว่า มีผู้ใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันสำหรับเครื่องไฟฟ้าแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงได้ขอจดทะเบียนเสียก่อน ดังนี้ หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันดีกว่าโจทก์
แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ครอมพ์ตัน ในประเทศไทย ไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านี้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช 2474 มาตรา 27 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งจำเลยมีสิทธิดีกว่า จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคัดค้านได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 22 มิใช่เป็นการอ้างความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่จดทะเบียนอันจะต้องห้ามตามมาตรา 27
จำเลยส่งสินค้าเครื่องไฟฟ้าใช้เครื่องหมายการค้า ครอมพ์ตันเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยมานาน เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ประชาชน โจทก์นำเครื่องหมายการค้า ครอมพ์ตัน มาใช้กับสินค้าเครื่องไฟฟ้าของโจทก์ โดยไม่ปรากฏข้อความหรือเครื่องหมายใด ๆ แสดงให้เห็นที่เครื่องไฟฟ้านั้นว่าเป็นของโจทก์เลย พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เอาสินค้าของโจทก์ไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของจำเลย จำเลยชอบที่จะฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์เลิกใช้เครื่องหมายการค้า ครอมพ์ตันของจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช 2474 มาตรา 29 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันว่า CROMPTON อ่านว่า ครอมพ์ตัน ใช้กับสินค้าของโจทก์จำพวกเครื่องไฟฟ้าโจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จำเลยยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์ว่า จำเลยเป็นเจ้าของชื่อและเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตัน เครื่องหมายการค้าของโจทก์มิได้เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่เจ้าของอื่นนำไปจดทะเบียนไว้ทั้งจำเลยมิได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันในประเทศไทย การที่จำเลยคัดค้านทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า ครอมพ์ตันและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องหรือขัดขวางการขอจดทะเบียนของโจทก์ กับสั่งให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า คำว่าครอมพ์ตันเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยและจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้า ครอมพ์ตันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ ปัจจุบันได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ไว้ในประเทศต่าง ๆ มาก กว่าสิบประเทศคำว่าครอมพ์ตันไม่ใช่คำสามัญทั่วไป การที่โจทก์นำไปใช้กับสินค้าอย่างเดียวกับจำเลยแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาไม่สุจริต ทั้งการที่โจทก์นำชื่อครอมพ์ตันของจำเลยไปใช้กับสินค้าหลอดไฟ หลอดนีออน เป็นการทำละเมิดต่อจำเลย จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์เลิกใช้เครื่องหมายการค้า CROMPTON กับสินค้าหลอดไฟและอุปกรณ์เครื่องไฟฟ้าของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันไว้ในประเทศไทย จึงมิได้รับการคุ้มครองสิทธิเครื่องหมายการค้านี้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช ๒๔๗๔ ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์ได้ตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันไม่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าของผู้ใด โจทก์จึงยื่นคำขอจดทะเบียนเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต โจทก์ได้โฆษณาเผยแพร่และจำหน่ายสินค้าประเภทเครื่องไฟฟ้าโดยใช้เครื่องหมายครอมพ์ตัน ทั้งยังระบุด้วยว่าเป็นสินค้าผลิตโดยห้างโจทก์ ประชาชนที่ซื้อทราบดีว่าสินค้านั้นเป็นของโจทก์ผลิตขึ้นเอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และห้ามมิให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันของจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ระหว่างโจทก์กับจำเลยผู้ใดที่สิทธิในเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตัน (CROMPTON) ดีกว่ากัน ได้ความตามคำของนายสมเกียรติ สิทธิศิริ หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลเยอร์เกนเซ่น แอนด์โก ซึ่งเป็นตัวแทนได้รับมอบอำนาจจากจำเลยเบิกความเป็นพยานจำเลยประกอบกับเอกสารหมาย ล.๘ ว่า บริษัทจำเลยจัดตั้งขึ้นที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๓ ตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๖ โดยใช้คำว่า ครอมพ์ตันเป็นส่วนหนึ่งของชื่อบริษัท ครั้นวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๔๘๐ จำเลยได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันใช้สำหรับโคมไฟฟ้าที่เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ต่อจากนั้นจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ที่ประเทศอื่น ๆ อีกประมาณ ๑๗ ประเทศ เช่นที่ประเทศอินเดีย เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘ ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ เป็นต้น ส่วนโจทก์นำสืบว่าเพิ่งคิดชื่อครอมพ์ตันขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๑ นี่เอง เห็นได้ว่า จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันมาก่อนโจทก์เป็นเวลาหลายสิบปีย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านี้ดีกว่าโจทก์ ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันโดยสุจริต ไม่เคยทราบว่ามีผู้ใดใช้มาก่อนนั้นเห็นว่า คำว่า ครอมพ์ตันเป็นคำประดิษฐ์แปลไม่ได้ ยากที่โจทก์จะคิดขึ้นมาพ้องกับจำเลย จำเลยใช้เครื่องหมายการค้านี้มานานและได้ส่งสินค้าเครื่องไฟฟ้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้มาจำหน่ายในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑ และยังมีผู้สั่งเข้ามาจำหน่ายตลอดมา ประกอบกับโจทก์อยู่ในวงการค้าขายเครื่องไฟฟ้า เชื่อว่าโจทก์ทราบว่ามีผู้ใช้เครื่องหมายการค้า ครอมพ์ตัน สำหรับเครื่องไฟฟ้าแล้ว แต่ยังมิได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงได้ขอจดทะเบียนเสียก่อน หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ แม้จำเลยยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ครอมพ์ตันในประเทศไทย ไม่อาจอ้างความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านี้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช ๒๔๗๔ มาตรา ๒๗ ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งจำเลยมีสิทธิดีกว่าจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคัดค้านได้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว มาตรา ๒๒ มิใช่เป็นการอ้างความเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่จดทะเบียน อันจะต้องห้ามตามมาตรา ๒๗ แต่อย่างใด
คดีได้ความว่าจำเลยส่งสินค้าเครื่องไฟฟ้าใช้เครื่องหมายการค้า ครอมพ์ตันเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยมานาน เชื่อว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ประชาชน โจทก์นำเครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันมาใช้กับสินค้าเครื่องไฟฟ้าของโจทก์ โดยไม่ปรากฏข้อความหรือเครื่องหมายใด ๆ แสดงให้เห็นที่เครื่องไฟฟ้านั้นว่าเป็นของโจทก์เลย พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์เอาสินค้าของโจทก์ไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของจำเลย จำเลยชอบที่จะฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์เลิกใช้เครื่องหมายการค้าครอมพ์ตันของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช ๒๔๗๔ มาตรา ๒๙ วรรคสอง เพียงแต่ใบปลิวโฆษณาของโจทก์ระบุว่าโจทก์เป็นผู้นำสินค้าออกวางตลาด และพนักงานขายของโจทก์บอกแก่ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ ไม่เพียงพอให้ผู้ใช้สินค้าของโจทก์เข้าใจได้ว่าสินค้านั้นมิใช่ของจำเลย
พิพากษายืน

Share