คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5751/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 9 มีหน้าที่ขนส่งผู้โดยสารเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ตกลงไว้กับผู้โดยสาร เมื่อไม่สามารถส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นต่อไปได้ เพราะมีรถไฟตกรางอยู่ข้างหน้า จำเลยที่ 9 ย่อมมีหน้าที่จัดหายานพาหนะอื่นขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง อันเป็นการรับขนส่งผู้โดยสารตาม ป.พ.พ. มาตรา 608, 609 และ พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 9 (7) จำเลยที่ 9 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยสารทางรถยนต์รับขนถ่ายผู้โดยสารจากขบวนรถไฟของจำเลยที่ 9 ที่ปรากฏแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกซึ่งไปมาระหว่างสถานีรถไฟ ล. กับสถานีรถไฟ ค. จึงเป็นการทำแทนจำเลยที่ 9 นิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 จึงอยู่ในฐานะตัวการและตัวแทน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797
ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 หมายความว่า ความเสียหายอันไม่อาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิด จำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย ความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนาระหว่างการรักษาพยาบาล หรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป ความเสียหายเช่นว่านี้กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินย่อมจะนำสืบคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ได้อยู่ในตัว เมื่อพิจารณาจากสภาพทางร่างกายและอาการของโจทก์ ซึ่งต้อง ผ่าตัดและเข้าเฝือกหลายครั้ง ต้องรับการรักษาเป็นเวลานานร่วม 3 ปี และต้องทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดของ บาดแผลในระหว่างการรักษาอันเป็นเวลานาน ยิ่งกว่านั้นสภาพแขนซ้ายของโจทก์ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต ทั้งเสียบุคลิกภาพเนื่องจากผลของการผ่าตัดทำให้แขนซ้ายสั้นกว่าแขนขวาดังนี้ถือว่าเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน ที่โจทก์ชอบจะเรียกร้องได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์ที่ 2 มิใช่มารดาและมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของโจทก์ที่ 1 ดังนั้นโจทก์ที่ 1 ผู้เยาว์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ให้การว่า โจทก์ที่ 2 มิใช่มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 8 ให้การว่า รถโดยสารประจำทางหมายเลขทะเบียน 10 – 0659 ลพบุรี มิใช่รถของจำเลยที่ 8 จำเลยที่ 6 มิได้เป็นผู้ขับรถโดยสารดังกล่าวในวันเกิดเหตุ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 9 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุม เนื่องจากมิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าเพราะเหตุใดจำเลยที่ 9 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในฐานะตัวการตัวแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 83,333.33 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 83,333.33 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 83,333.33 บาท แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (25 ธันวาคม 2533) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท
จำเลยที่ 8 และที่ 9 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงิน 31,500 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงิน 31,500 บาท แก่โจทก์ที่ 2 และให้จำเลยที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ร่วมกันชำระเงิน 31,500 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและให้จำเลยที่ 9 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสองเฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 9 ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในศาลชั้นต้น ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 9 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า… มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 9 ตามลำดับดังนี้ จำเลยที่ 9 ฎีกาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 9 เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มีวัตถุประสงค์ในการขนส่งผู้โดยสาร ทางรถไฟ ส่วนจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 มีวัตถุประสงค์ในการรับขนส่งผู้โดยสารโดยทางรถยนต์ ซึ่งแตกต่างกับ วัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 9 ที่รับขนส่งผู้โดยสารทางรถไฟเท่านั้น และจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือ มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 9 การที่จำเลยที่ 9 ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ก็มีเจตนาเพื่อให้นำผู้โดยสารไปส่งตาม จุดหมายปลายทางตามว่าจ้างคือจากสถานีรถไฟลพบุรีไปยังสถานีรถไฟโคกกระเทียม ดังนั้น การที่ผู้ประกอบการขนส่งโดยทางรถยนต์คือจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 รับทำให้ จึงต้องถือว่าเป็นผู้รับจ้างทำการงานให้แก่จำเลยที่ 9 เท่านั้น จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ไม่มีฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 9 ในการรับจ้างขนส่งผู้โดยสารดังกล่าวไปยังสถานีรถไฟ โคกกระเทียม เห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 9 จะมีวัตถุประสงค์ในการรับขนส่งผู้โดยสารโดยทางรถไฟ แต่ก็มีหน้าที่ขนส่ง ผู้โดยสารเพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่ตกลงไว้กับผู้โดยสาร ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 9 ไม่สามารถส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นต่อไปได้เพราะมีรถไฟตกรางอยู่ข้างหน้า จำเลยที่ 9 ย่อมมีหน้าที่จัดหายานพาหนะอื่นขนส่ง โจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง อันเป็นการรับขนส่งผู้โดยสาร ทั้งนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 608, 609 และ พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 9 (7) จำเลยที่ 9 ย่อมว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการรับขนส่งผู้โดยสารโดยทางรถยนต์เพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 อยู่แล้ว รับขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นไปส่งยังสถานีรถไฟโคกกระเทียมได้ เรื่องนี้นายเจฏ พยานโจทก์ที่ 1 ซึ่งเคยเป็นนายสถานีรถไฟลพบุรีเมื่อปี 2531 ถึงปี 2534 เบิกความว่า ในฐานะนายสถานีรถไฟได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ซึ่งโดยปกติแล้วรถโดยสารของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 นั้นรับผู้โดยสารโดยทั่วไปอยู่แล้ว เนื่องจากรถไฟขบวนที่โจทก์ทั้งสองโดยสารมาไม่สามารถแล่นต่อไปได้เพราะมีรถไฟตกรางขวางอยู่ ดังนี้ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า การรับขนส่งโจทก์ทั้งสองและผู้โดยสารอื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 นั้น เป็นการทำแทนจำเลยที่ 9 โดยได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 9 โดยสัญญาว่าจ้างตามวัตถุประสงค์และประโยชน์ของจำเลยที่ 9 ในการที่จะให้โจทก์ทั้งสอง และผู้โดยสารอื่นไปถึงจุดหมายปลายทางตามที่จำเลยที่ 9 ตกลงไว้กับผู้โดยสารทุกคนอันเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 9 ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังที่วินิจฉัยมาแล้ว การดำเนินการว่าจ้างจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 ดังกล่าว แม้ว่าเป็นการรับจ้างทำการงานให้แก่กัน โดยหวังผลสำเร็จของงานดังที่จำเลยที่ 9 ฎีกาก็ตาม แต่ก็ไม่มีข้อยกเว้นว่าลักษณะนิติสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 9 กับจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 เช่นนี้ จะมีความสัมพันธ์กันในฐานะตัวการและตัวแทนไม่ได้ ประกอบกับวิธีการขนถ่ายผู้โดยสารของจำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 จากขบวนรถไฟของจำเลยที่ 9 ที่ปรากฏแก่โจทก์ทั้งสองและบุคคลภายนอกซึ่งไปมาระหว่างสถานีรถไฟลพบุรีกับสถานีรถไฟโคกกระเทียมเช่นนี้แล้ว ยังไม่มีทางเห็นเป็นอย่างอื่นไปได้ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 และที่ 8 มิใช่ตัวแทนของจำเลยที่ 9 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 797
ที่จำเลยที่ 9 ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 จำเลยที่ 9 เห็นว่าตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดเพียงว่าผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ ซึ่งหมายความว่า หากโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ความเสียหายอันเกิดแก่ร่างกายหรืออนามัย หากแต่เกิดจากการต้องเสื่อมเสียอวัยวะหรือความสามารถในการมีบุตรหรือครอบครัว ซึ่งโจทก์ที่ 1 ก็ไม่นำสืบให้เห็นเช่นนั้น จำเลยที่ 9 จึงไม่ต้องรับผิดใน ค่าทนทุกขเวทนาจำนวน 50,000 บาท นั้น เห็นว่า การทำละเมิดต่อร่างกาย อนามัย หรือค่าเสียหายที่เป็นตัวเงินนั้น มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 444 และ 445 โดยตรง ส่วนความเสียหายที่มิใช่ตัวเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 446 บัญญัติไว้ชัดแจ้งเป็นพิเศษต่างหากว่า ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ คำว่า ความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน จึงหมายความว่า ความเสียหายอันไม่ อาจคิดคำนวณเป็นเงินได้ แต่ความเสียหายเช่นว่านี้ต้องเป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิด จำเป็นต้องเยียวยาหรือทดแทนความเสียหายให้เช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีความเสียหายมากยิ่งกว่าความเสียหายต่อร่างกายอีกด้วย ความเสียหาย ที่มิใช่ตัวเงิน เช่น ความเจ็บปวดทนทุกขเวทนา ระหว่างการรักษาพยาบาล หรือต้องทุพพลภาพพิการต่อไป ความเสียหายเช่นว่านี้กฎหมายให้ศาลมีอำนาจกำหนดให้ตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดเพราะค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่มิใช่ตัวเงิน ย่อมจะนำสืบว่าคิดเป็นจำนวนเงินเท่าใดไม่ได้อยู่ในตัว แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ที่ 1 ก็ได้นำสืบให้เห็นลักษณะสภาพทางร่างกายและอาการของโจทก์ที่ 1 ที่ได้รับอันตรายสาหัส หลังจากเข้ารักษาที่โรงพยาบาลลพบุรี และโรงพยาบาลรถไฟแล้วส่งต่อไปยังโรงพยาบาลเลิดสิน โดยแพทย์ประจำโรงพยาบาลผู้ตรวจรักษาโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า ขณะโจทก์ที่ 1 เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเลิดสิน โจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บบริเวณแขนซ้ายด้านหลัง มีบาดแผล โดยกล้ามเนื้อด้านหลังฉีกหายไปประมาณ 20 เซนติเมตร สามารถมองเห็นกระดูกของแขนและกระดูกแขนหักด้วยและแขนที่แผลด้านหลังติดเชื้อมีหนอง ผลของบาดแผลทำให้เส้นประสาทบริเวณแขนขาด ทำให้มือด้านซ้าย งอไม่ขึ้นและไม่สามารถเหยียดนิ้วมือได้ ทั้งยังมีร่องรอยบาดแผลที่ผิวหนังถลอกตามเนื้อตัวร่างกาย ในการรักษาจะต้องตัดเอากระดูกที่หักใช้การไม่ได้เนื่องจากบาดแผลมีกระดูกผุและกระดูกตายออก แล้วนำเหล็กที่ไม่เป็นสนิมมาวางขวางกันไว้ และจะต้องตัดกล้ามเนื้อด้านหลังมาปิดบาดแผลที่มีการเปลี่ยนกระดูกส่วนที่ตายในแขนด้านซ้าย ในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาบาดแผลของโจทก์ที่ 1 นายเแพทย์เกียรติเบิกความว่า เมื่อรักษาบาดแผลเสร็จแล้วได้ใส่เฝือกที่ แขนซ้ายโจทก์ที่ 1 ไว้ แต่ต้องผ่าเฝือกและนำกระดูกที่ขามาใส่แทนกระดูกส่วนแขนและเข้าเฝือกใหม่อีกครั้งหนึ่ง ต่อมามีการผ่าเฝือกและใส่เฝือกใหม่อีกครั้งห่างกันประมาณ 2 ถึง 3 เดือน ทั้งนี้โดยโจทก์ที่ 1 ต้องอยู่รับการรักษาที่ โรงพยาบาลเลิดสินถึง 6 เดือน และหลังจากนั้นโจทก์ที่ 1 กลับไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลประมาณเดือนละครั้ง และได้สั่งให้มีการรักษาและทำความสะอาดบาดแผลของโจทก์ที่ 1 ที่บ้านด้วย จากการตรวจรักษาและติดตามผลพบว่ากระดูกขาที่นำไปใส่แทนนั้น ไม่สามารถเชื่อมต่อกับกระดูกเดิมได้ เนื่องจากเกิดภาวะติดเชื้อ ดังนั้นจึงมีการผ่าตัดโดยเปลี่ยนเอากระดูกจากโรงพยาบาลศิริราชมาใส่แทนอีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นการเปลี่ยนกระดูกใส่เป็นครั้งที่ 3 เมื่อปี 2535 โดยโจทก์ที่ 1 ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเลิดสินอีกประมาณ 3 เดือน จากนั้นให้โจทก์ที่ 1 ไปรักษาตัวที่บ้านโดยให้ทำความสะอาดบาดแผลวันละครั้ง และต้องไปเปลี่ยนเฝือกที่โรงพยาบาลเลิดสินเป็นระยะ ต่อมาเมื่อประมาณเดือนเมษายน 2535 จึงแกะเฝือกที่เข้าไว้ที่แขนซ้ายออก เนื่องจากกระดูกเชื่อมต่อกันพอสมควรแล้ว แต่โดยสภาพทั่วไปของแขนซ้ายไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ จึงต้องให้โจทก์ที่ 1 ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเลิดสินเป็นระยะจนกระทั่งถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2535 ซึ่งเป็นวันที่พยานมาเบิกความ นอกจากนี้นายแพทย์เกียรติยังให้ความเห็นเกี่ยวกับสภาพแขนซ้ายของโจทก์ที่ 1 ในการที่จะสามารถใช้งานตามปกติ ต่อไปในอนาคตว่าบริเวณหัวไหล่ด้านซ้าย ของโจทก์ที่ 1 ขยับไม่ได้ ข้อศอกไม่สามารถหักงอได้ ข้อมือไม่สามารถหักงอได้ นิ้วไม่สามารถเหยียดตรงได้ และการกำนิ้วมือไม่สามารถกำได้เต็มที่ เป็นผลให้แขนซ้ายของโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติเช่นบุคคลทั่วไป ทั้งแขนด้านซ้ายจะสั้นกว่าแขนด้านขวา และการที่ตัดกล้ามเนื้อด้านหลังมาปิดบาดแผลบริเวณแขนซ้ายทำให้ผิวหนังบริเวณกล้ามเนื้อด้านหลังเกิดอาการตึง อาจมีผลในภายภาคหน้าทำให้ ไหล่เอียงได้ ดังนี้เมื่อพิจารณาจากลักษณะ บาดแผลของโจทก์ที่ 1 กับวิธีการรักษาบาดแผลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งต้องผ่าตัดและเข้าเฝือกหลายครั้ง กับระยะเวลาที่โจทก์ที่ 1 ต้องรับการรักษาเป็นเวลานานร่วม 3 ปี โดยขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 มีอายุเพียง 2 ปีเศษเท่านั้น แต่ต้องทนทุกข์ทรมานต่อความเจ็บปวดของบาดแผลในระหว่างการรักษาอันเป็นเวลานาน ยิ่งกว่านั้นสภาพแขนซ้ายของโจทก์ที่ 1 ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต ทั้งเสียบุคลิกภาพเนื่องจากผลของการผ่าตัดทำให้แขนซ้ายสั้นกว่าแขนขวา ความเสียหายเหล่านี้ถือว่าเป็นความเสียหายอันมิใช่ตัวเงิน ที่โจทก์ที่ 1 ชอบจะเรียกร้องได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446 ดังที่วินิจฉัย มาแล้ว การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท เหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share