คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจัดการกองทุนรวมมีอำนาจตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่จะฟ้องให้บริษัทหลักทรัพย์ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ขายให้กองทุนรวมได้
การบังคับให้เป็นไปตามสิทธิเรียกร้องกับการจะได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นหรือไม่ เพียงใด เป็นคนละเรื่องคนละตอน เช่น สิทธิฟ้องร้องทางเจ้าหนี้อาจจะเกิดขึ้นขึ้นแล้ว แต่การจะบังคับเอากับทรัพย์สินใด หากทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบุริมสิทธิที่เจ้าหนี้อื่นจะได้รับชำระหนี้ก่อน เจ้าหนี้สามัญก็ย่อมจะได้รับชำระหนี้ในภายหลังเป็นขั้นเป็นตอนในชั้นบังคับคดี เมื่อฟังได้ว่า บริษัทจำเลยถูกกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว และแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จำเลยจึงต้องเลิกกิจการและชำระบัญชี ตาม พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวน ทั้งตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว มาตรา 26 บัญญัติแต่เพียงห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเป็นคดีล้มละลายในระหว่างการดำเนินการตามแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ปรส. เท่านั้น เมื่อโจทก์มีหนังสือให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ตามสิทธิของโจทก์ จำเลยได้รับหนังสือแล้วกลับเพิกเฉย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
บทบัญญัติตาม พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดำเนินการและชำระบัญชีที่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) แต่งตั้งตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 โดยขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การ ปรส. เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ เมื่อกรณีของโจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่กรณียื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าว แต่เป็นกรณีเจ้าหนี้ยื่นฟ้องต่อศาลและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันที่ พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ก. การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑๒๕,๙๒๐,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑๒๕,๙๒๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๓.๗๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๐ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๑ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๔๑) มิให้เกิน ๕,๒๓๙,๔๗๙.๔๖ บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐๐,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑๒๕,๙๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๓.๗๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๐ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว…
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ หรือกองทุนรวมซึ่งมีสภาพ เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากไปจากโจทก์จะต้องเป็นผู้ฟ้องคดีเอง เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม ในโครงการใดแล้ว โจทก์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการจัดการกองทุนรวมตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ เช่นตามมาตรา ๑๒๒ ก่อนโจทก์จะเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชน โจทก์จะต้องจัดให้มีผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒๑ แต่ผู้ดูแลผลประโยชน์ดังกล่าวมีหน้าที่เพียงเข้ามาดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งเป็นประชาชนเท่านั้น มิได้มีอำนาจในการจัดการกองทุนแต่ประการใด ดังที่มาตรา ๑๒๗ (๑) และ (๕) ได้บัญญัติให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ดูแลให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติตามมาตรา ๑๒๕ โดยเคร่งครัด และดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน หรือฟ้องเรียกค่าสินไหม ทดแทนความเสียหายจากบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวง หรือเมื่อได้รับคำสั่ง จากสำนักงาน ก.ล.ต. มาตรา ๑๒๔ วรรคสอง บัญญัติให้กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์นำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุนตามโครงการจัดการกองทุนรวมตามที่ได้รับอนุมัติ โดยให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวม ทั้งมาตรา ๑๒๕ (๑) และ (๖) ยังได้บัญญัติ ไว้ชัดแจ้งว่า ในการจัดการกองทุนรวมบริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการจัดการให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวม ที่ได้รับอนุมัติ ตลอดจนข้อผูกพันที่ทำไว้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างเคร่งครัด กับจัดให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่ได้ จากการนำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุนและนำผลประโยชน์ดังกล่าวฝากไว้กับผู้ดูแลผลประโยชน์ ส่วนที่มาตรา ๑๒๔ บัญญัติให้กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคลนั้น ก็โดยมีวัตถุประสงค์ให้กองทุนรวมนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินในนามของตนเองได้ และเป็นการแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมออกจากทรัพย์สินของบริษัทหลักทรัพย์โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน เพื่อรักษาคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนที่ร่วมลงทุนในกองทุนรวม มาตรา ๑๒๔ วรรคสอง ส่วนสุดท้ายก็บัญญัติสอดคล้องกับมาตรา ๑๒๕ ดังกล่าวข้างต้นว่า ให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบ ในการดำเนินการของกองทุนรวม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เห็นว่า การบังคับให้เป็นไปตามสิทธิเรียกร้องกับการจะได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นหรือไม่เพียงใด เป็นคนละเรื่องคนละตอน เช่นสิทธิฟ้องร้องของเจ้าหนี้อาจจะเกิดขึ้นแล้ว แต่การจะบังคับเอากับทรัพย์สินใด หากทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบุริมสิทธิที่เจ้าหนี้อื่นจะได้รับชำระหนี้ก่อน เจ้าหนี้สามัญก็ย่อมจะได้รับชำระหนี้ในภายหลังเป็นขั้นตอนในชั้นบังคับคดี เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า บริษัทจำเลยถูกกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว และแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ป.ร.ส.) จำเลยจึงต้องเลิกกิจการและชำระบัญชี ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวนเอกสารหมาย จ. ๑๔ ข้อ ๒.๓.๒ (ก) และ (ข) ทั้งตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖ บัญญัติแต่เพียงห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ปรส. เท่านั้น เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ. ๒๓ ให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ตามสิทธิของโจทก์ จำเลยได้รับหนังสือแล้วกลับเพิกเฉย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ แล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ มีผลใช้บังคับต่อไปหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดำเนินการและชำระบัญชีที่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) แต่งตั้งตามมาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การ ปรส. เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ เมื่อกรณีของโจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่กรณียื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าว แต่เป็นกรณีเจ้าหนี้ยื่นฟ้องต่อศาลและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๑ มีผลใช้บังคับต่อไปได้ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา ๑๐,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.

Share