แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและรื้อบ้านออกไป กับให้ใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสามครอบครองที่พิพาท ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดต่อจากบิดามารดาด้วยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินสิบปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดย การครอบครอง โจทก์ซื้อที่พิพาทโดย ไม่สุจริตไม่เสียค่าตอบแทน ทั้งทราบการครอบครองของจำเลยทั้งสามแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสามโดย การครอบครอง ห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องต่อไป ดังนี้เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสามโต้เถียงเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมโดยตรง มิใช่เป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมจำเลยทั้งสามย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องแย้งได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์มิได้ทำคำสั่งให้ศาลชั้นต้นงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์คำสั่งและบัดนี้คดีเดิมศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาเสร็จจนถึงศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไปแล้ว คดีอยู่ระหว่างที่จำเลยทั้งสามฎีกา จึงไม่มีเหตุที่จะให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและรื้อฟื้นพิจารณาพิพากษาประเด็นตามฟ้องแย้งนั้นใหม่ถ้าจำเลยทั้งสามเห็นว่า จำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครอง ก็ชอบที่จำเลยทั้งสามจะดำเนินคดีเรียกร้องเป็นคดีต่างหากได้ เพราะคำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่ตัดสิทธิของจำเลยทั้งสามที่จะเรียกร้องได้ตามสิทธิของตน.
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามออกจากที่พิพาท และเรียกค่าเสียหาย โดย อ้างว่า ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 3642 ที่โจทก์ซื้อมาจากนายบรรจงผลอวยพร เจ้าของที่ดินเดิม จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดย การครอบครอง โจทก์ซื้อที่พิพาทโดย ไม่สุจริตและไม่ได้เสียค่าตอบแทน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม ขอให้พิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสามโดย การครอบครองและห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามไว้แล้ว ต่อมาในวันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสามจะฟ้องแย้งไม่ได้ เนื่องจากการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งตามประมวลกฎหมายที่ดิน จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้ง และกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์ได้ที่พิพาทมาโดย เสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหรือไม่แล้วดำเนินคดีต่อไป จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้รับฟ้องแย้ง และกำหนดประเด็นข้อพิพาทเพิ่มว่าจำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ที่พิพาทโดย การครอบครองหรือไม่ด้วยศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกามีว่าฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วโจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. 2529 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3642แขวงหนองแขม เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร จากนายบรรจงผลอวยพร เจ้าของเดิมจำเลยทั้งสามอาศัยสิทธินายบรรจงปลูกบ้านเลขที่ 49/1 อยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวบางส่วน โจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสามรื้อสิ่งปลูกสร้างออกไป แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและรื้อบ้านออกไปกับให้ใช้ค่าเสียหายจำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยทั้งสามครอบครองที่พิพาทต่อจากบิดามารดาด้วยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินสิบปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดยการครอบครอง โจทก์ซื้อที่พิพาทโดย ไม่สุจริต ไม่เสียค่าตอบแทนทั้งทราบการครอบครองของจำเลยทั้งสามแล้ว จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสามโดย การครอบครอง ห้ามมิให้โจทก์เกี่ยวข้องต่อไป เห็นว่าจำเลยทั้งสามโต้เถียงเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมโดยตรง มิใช่เป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม จำเลยทั้งสามย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องแย้งได้ แต่อย่างไรก็ดี คดีนี้ศาลอุทธรณ์มิได้ทำคำสั่งให้ศาลชั้นต้นงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์คำสั่ง และบัดนี้คดีเดิมศาลชั้นต้นได้พิจารณาพิพากษาเสร็จจนถึงศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไปแล้วคดีอยู่ระหว่างที่จำเลยทั้งสามฎีกา จึงไม่มีเหตุที่จะให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องแย้งและรื้อฟื้นพิจารณาพิพากษาประเด็นข้อนี้ใหม่ ถ้าจำเลยทั้งสามเห็นว่า จำเลยทั้งสามได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโดย การครอบครอง ก็ชอบที่จำเลยทั้งสามจะดำเนินคดีเรียกร้องได้เพราะคำพิพากษานี้ก็ไม่ตัดสิทธิของจำเลยทั้งสามที่จะเรียกร้องได้ตามสิทธิของตน ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 442/2511 ระหว่างนางวิภา เกียรติแสงศิลป์ โจทก์ นายซือโพ้ย แซ่ปึง จำเลย”
พิพากษากลับ ไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม