คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1325/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือรับสภาพหนี้ค่าสินค้าที่ค้างชำระมิใช่สัญญากู้ยืมเงินข้อตกลงที่ว่าหากจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ20ต่อปีจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2475แต่มีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าให้คิดดอกเบี้ยเสมือนเป็นเบี้ยปรับซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2531 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ว่า จำเลยทั้งสองยังคงค้างชำระค่าสินค้าจากโจทก์อยู่เป็นเงินทั้งสิ้น 89,917 บาทจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ส่วนหนึ่งเป็นเงิน30,000 บาท ภายในเดือนมีนาคม 2532 หนี้ส่วนที่เหลือจำเลยทั้งสองจะผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 2,500 บาท เริ่มชำระงวดแรกตั้งแต่เดือนมกราคม 2532 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2533 และงวดสุดท้ายเป็นเงิน 2,417 บาท จะชำระภายในเดือนธันวาคม 2533 ถ้าหากจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยปรับได้ในอัตราร้อยละ 20 จากต้นเงิน 89,917 บาท นับตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2531เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาลนับตั้งแต่ทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นต้นมา จำเลยทั้งสองไม่เคยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จนกระทั่งครบกำหนดชำระหนี้ในงวดสุดท้ายแล้วถือว่าจำเลยทั้งสองจงใจผิดสัญญากับโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระต้นเงิน 89,917 บาท พร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 20ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2531 ถึงวันฟ้องเป็นเวลา2 ปี 6 เดือน 19 วัน เป็นเงินเบี้ยปรับ 45,894.62 บาทรวมต้นเงินแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 135,811.62 บาท แก่โจทก์และจำเลยทั้งสองต้องชำระเบี้ยปรับในอัตราเดียวกันนี้อีกต่อไปนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินทั้งสิ้น 135,811.62 บาท พร้อมเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี จากต้นเงิน 89,917 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ข้อตกลงในหนังสือรับสภาพหนี้ข้อ 6ที่ระบุไว้ว่า หากลูกหนี้ผิดสัญญา เจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี ตามมูลหนี้ที่ค้างชำระเต็มมูลหนี้ 89,917 บาทเป็นข้อตกลงที่ฝ่าฝืนกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องมาย่อมเป็นโมฆะหมดทั้งสิ้น จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 109,917 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประเด็นแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์ประกอบอาชีพค้าขายอะไร และไม่ได้ระบุรายการสินค้าไว้ในเอกสารท้ายฟ้องว่าของที่จำเลยทั้งสองรับไปจากโจทก์เป็นสินค้าอะไร จำนวนและราคาหน่วยละเท่าใด ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้มิใช่ฟ้องเรียกราคาสินค้า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองค้างชำระค่าสินค้าและทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ พร้อมแนบสำเนาหนังสือรับสภาพหนี้มาท้ายคำฟ้องและขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นประเด็นข้อสุดท้ายเรื่องโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะหรือไม่เห็นว่า หนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองมิใช่สัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองที่ว่าหากจำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 20 ต่อปี จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 กรณีจึงหาใช่ว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามกฎหมายดังกล่าว กรณีกลับถือได้ว่าเจตนาของโจทก์กับจำเลยทั้งสองในการทำสัญญาโดยบ่งข้อตกลงดังว่านั้นมีลักษณะเป็นการทำสัญญาด้วยข้อตกลงกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าให้คิดดอกเบี้ยเสมือนเป็นเบี้ยปรับประการหนึ่งซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ในเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควร ดังนั้นดอกเบี้ยจึงหาเป็นโมฆะไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกได้ และที่ศาลล่างกำหนดให้มานั้นเหมาะสมแล้ว”
พิพากษายืน

Share