คำวินิจฉัยที่ 27/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๗/๒๕๕๔

วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒ บริษัทเทพยนต์ แอโรโมทีฟ อินดัสตรีส์ จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๒๗๓/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์รับจ้างซ่อมบำรุงดูแลรักษารถดับเพลิงและรถกู้ภัย รถยก รถหอน้ำ และรถดับเพลิงทุกชนิดให้จำเลยโดยมีค่าตอบแทนตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ จนถึงปัจจุบัน เมื่อปี ๒๕๔๘ จำเลยได้ทำสัญญาซื้อรถดับเพลิงและรถกู้ภัยกับบริษัทสไตเออร์ – เดมเลอร์ – พุค สเปเชี่ยล ฟาห์รซอย เอจีแอนด์ โคเอจี แห่งสาธารณรัฐออสเตรีย ต่อมาบริษัทสไตเออร์ฯ ได้จัดส่งรถดับเพลิงและรถกู้ภัย จำนวน ๑๗๖ คัน มากับเรือเพื่อส่งมอบให้แก่จำเลย ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จำเลยได้ขอรับรถดับเพลิงและรถกู้ภัยจากท่าเรือแหลมฉบังมาจอดเก็บฝากไว้ในพื้นที่โรงงานของโจทก์เพื่อให้โจทก์รับฝากเก็บดูแลรักษาไว้ในเบื้องต้นก่อนที่จะนำไปใช้ในกิจการของจำเลยต่อไป ซึ่งโรงงานดังกล่าวเป็นสถานที่รับจ้างซ่อมบำรุงดูแลรักษารถดับเพลิง รถบรรทุกน้ำ รถยก และรถกู้ภัย อันอยู่ในความดูแลของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในสังกัดของจำเลยโดยมีค่าตอบแทนอยู่ก่อนแล้ว จึงถือได้ว่าพฤติการณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยนั้นเป็นนิติสัมพันธ์ในลักษณะฝากเก็บดูแลรักษาโดยคิดค่าฝากเก็บดูแลรักษาที่มีบำเหน็จค่าตอบแทนเช่นเดียวกับที่จำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมเก็บฝากกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย และเช่นเดียวกับที่จำเลยเคยว่าจ้างให้โจทก์ซ่อมบำรุงดูแลรักษารถดับเพลิงและรถกู้ภัยของจำเลย เมื่อจำเลยได้นำส่งรถดับเพลิงและรถกู้ภัยมาที่โรงงานของโจทก์แล้ว โจทก์ได้ตกลงรับมอบและรับฝากดูแลรักษาไว้ โจทก์ได้ทำหน้าที่ดูแลรักษาและซ่อมแซมรถดับเพลิงและรถกู้ภัยเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าบำเหน็จค่าฝาก อันได้แก่ ค่าภาระใช้พื้นที่วางพักจอดเก็บในพื้นที่ของโจทก์ รวมทั้งค่าภาระเคลื่อนย้ายรถ ค่าแรงช่างดูแลรักษาทำความสะอาดให้แก่โจทก์ ก่อนที่จะนำรถออกจากพื้นที่เก็บรักษาของโจทก์เช่นเดียวกับที่โจทก์จำเลยได้เคยปฏิบัติ โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระเงินค่าฝากดูแลรักษารถดับเพลิงและรถกู้ภัย แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยชำระเงินค่าฝากดูแลรักษารถยนต์ดับเพลิงและรถกู้ภัย แต่จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระหนี้แต่อย่างใด ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๓๓๖,๗๑๘,๓๕๐.๒๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๓๓๒,๐๘๓,๐๒๔.๖๙ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๙ บริษัทสไตเออร์ฯ ได้จัดส่งรถดับเพลิงและรถกู้ภัยมาถึงท่าเรือแหลมฉบัง จำเลยจึงมีหนังสือขอผ่อนผันรับของออกไปก่อนปฏิบัติพิธีการศุลกากร ซึ่งนายด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบังได้อนุมัติให้รับของออกไปก่อนได้ ในระหว่างนั้นโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทสไตเออร์ฯ ได้นำรถยนต์ดับเพลิงและรถกู้ภัยออกจากท่าเรือแหลมฉบังไปเก็บรักษาไว้ที่สถานที่ของโจทก์ โดยจำเลยมิได้มอบหมายให้โจทก์หรือบริษัทสไตเออร์ฯ เป็นผู้นำรถยนต์ดับเพลิงและรถกู้ภัยไปเก็บรักษาแต่อย่างใด หนังสือขอผ่อนผันไม่มีข้อความตอนใดระบุว่ามอบหมายให้โจทก์นำรถยนต์ดับเพลิงและรถกู้ภัยไปเก็บรักษาที่โรงงานของโจทก์ แม้ตามข้อตกลงซื้อขายประกอบบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐออสเตรีย โดยกรุงเทพมหานคร กระทรวงมหาดไทย และบริษัทสไตเออร์ฯ จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยในฐานะผู้ซื้อเป็นผู้ขนส่งและจัดส่งสิ่งของตามสัญญาจากท่าเรือประเทศไทยไปยังคลังเก็บสินค้า โดยผู้ขายเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ตาม แต่เนื่องจากตามข้อตกลงซื้อขายฯ กำหนดว่า ในการตรวจรับสิ่งของที่ถือว่าถูกต้องสมบูรณ์ตามข้อตกลงก็โดยคณะกรรมการตรวจรับที่ผู้ซื้อได้แต่งตั้งขึ้นได้ทำการตรวจรับสิ่งของที่ส่งมอบครบถ้วนถูกต้องเรียบร้อยตามข้อตกลงแล้ว ณ คลังเก็บสิ่งอุปกรณ์ จำเลยจะต้องให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุตรวจรับสิ่งของที่ส่งมอบก่อนว่าถูกต้องตามที่กำหนดในข้อตกลงซื้อขายฯ หรือไม่ ความรับผิดชอบของจำเลยในการดูแลรักษารถดับเพลิงและรถกู้ภัยจึงย่อมเกิดมีขึ้น ต่อมาได้มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดซื้อดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้ส่งเรื่องให้จำเลยเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ศาลเพิกถอนการอนุมัติหรืออนุญาตเกี่ยวกับข้อตกลงซื้อขายฯ จำเลยจึงยื่นฟ้องบริษัทสไตเออร์ฯ ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๒ เป็นคดีหมายเลขดำที่ กค. ๑๕๕/๒๕๕๒ จำเลยไม่เคยทำสัญญาฝากทรัพย์ตามฟ้องกับโจทก์ โจทก์และจำเลยจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ในเรื่องฝากทรัพย์และดูแลรักษาทรัพย์ตามฟ้องแต่อย่างใด แม้จำเลยจะเคยจ้างโจทก์ให้ซ่อมบำรุงรักษารถดับเพลิงของจำเลยมาก่อนก็ตาม แต่ในการจ้างจำเลยต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบของทางราชการ และมีการทำสัญญาว่าจ้างเป็นหลักฐานทุกครั้ง โจทก์จะถือเอาพฤติการณ์ที่จำเลยเคยว่าจ้างโจทก์ให้ซ่อมรถดับเพลิงมาก่อนเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหาได้ไม่ นอกจากนี้ จำเลยไม่เคยมอบหมายหรือยินยอมให้โจทก์นำรถดับเพลิงและรถกู้ภัยไปดูแลรักษาและฝากทรัพย์ไว้กับโจทก์ในสถานที่ของโจทก์แต่อย่างใด ขอให้ศาลยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อตกลงซื้อขายฯ เป็นการดำเนินการปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดซื้อรถดับเพลิงและอุปกรณ์ดับเพลิงเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และภารกิจของจำเลยในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อันเป็นบริการสาธารณะซึ่งจำเลยในฐานะหน่วยงานราชการบริหารส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการบริการสาธารณะตามกฎหมาย ข้อตกลงซื้อขายฯ ดังกล่าว จึงเป็นสัญญาทางปกครองซึ่งจำเลยตกลงมอบหมายให้ผู้ขายจัดหาบริการสาธารณะแทนจำเลย การที่โจทก์นำรถยนต์ดับเพลิงและรถกู้ภัยไปเก็บรักษา แม้จะกระทำไปโดยพลการ แต่ก็เกี่ยวเนื่องกับสัญญาทางปกครองซึ่งจำเลยกระทำไปภายในขอบวัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อขาย ฟ้องโจทก์จึงเกี่ยวเนื่องกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีวัตถุประสงค์ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แต่โจทก์ไม่มีหน้าที่หรือมีส่วนร่วมในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงมิใช่สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ การเก็บ ดูแลรักษารถดับเพลิงและรถกู้ภัย เป็นเพียงสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อมุ่งประโยชน์ในการดูแลทรัพย์สินของจำเลย และสนับสนุนการให้บริการสาธารณะให้สำเร็จลุล่วงไปได้เท่านั้น ทั้งไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จึงมิใช่สัญญาทางปกครองตามความหมายในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ โดยมาตรา ๘๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้จำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยได้ทำสัญญารับฝากทรัพย์คือ รถยนต์ดับเพลิงฯ จำนวน ๑๗๖ คัน กับโจทก์ ซึ่งเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งอันได้แก่จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง ทรัพย์ที่โจทก์รับฝากตามสัญญาคือรถดับเพลิงและรถกู้ภัยซึ่งเป็นทรัพย์ที่ใช้โดยตรงในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของจำเลย จำเลยจึงต้องมีหน้าที่ในการเก็บ ดูแล บำรุงรักษาและซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพดีพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา แต่จำเลยไม่ดำเนินการเองโดยมอบให้โจทก์ทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ซึ่งหากโจทก์ไม่ดำเนินการ จำเลยย่อมไม่อาจนำรถดับเพลิงและรถกู้ภัยพร้อมอุปกรณ์ไปใช้ในการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลย ตามอำนาจหน้าที่ของตนให้บรรลุผลได้ สัญญาฝากทรัพย์ดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์เข้ามีส่วนร่วมโดยตรงในการจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ชำระบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าฝากทรัพย์พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยเป็นราชการส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญารับฝากรถยนต์ดับเพลิงและรถกู้ภัย จึงต้องพิจารณาว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แม้จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะก็ตาม แต่สัญญารับฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยหากมีอยู่ก็เป็นเพียงสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อมุ่งประโยชน์ในการดูแลทรัพย์สินของจำเลย โจทก์คงมีหน้าที่เพียงดูแลรักษาทรัพย์ที่รับฝากไว้ในอารักขาแห่งตนแล้วส่งมอบคืนให้แก่จำเลย และโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องบำเหน็จค่าฝากได้หรือไม่เพียงใดเท่านั้น สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือเป็นสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองให้โจทก์เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญาเท่านั้น ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทเทพยนต์ แอโรโมทีฟ อินดัสตรีส์ จำกัด โจทก์ กรุงเทพมหานคร จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share