คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8561/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กรมสรรพากรจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์เตือนให้นำเงินค่าภาษีอากรค้างไปชำระ เนื่องมาจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรโดยมิให้ถือจำนวนเงินตามเช็คที่เรียกเก็บไม่ได้อีก 16 ฉบับ จำนวน 2,254,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ในปีภาษี 2534 จำเลยจึงคิดคำนวณภาษีอากรใหม่โดยหักจำนวนเงินภาษีอากรที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้แก้ไขนั้นออก จึงเป็นการแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น แม้ตามหนังสือแจ้งเตือนจะระบุการคำนวณภาษีการค้าใหม่มาด้วยก็เป็นผลต่อเนื่องจากการที่ศาลฎีกาให้ลดเงินได้พึงประเมินจากการขายที่ดินลงจำนวน 2,254,000 บาท จำเลยจึงปรับปรุงลดยอดรายรับที่ต้องเสียภาษีการค้าให้ด้วย นับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์ให้เสียภาษีอากรน้อยลง โจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าจำนวนค่าภาษีอากรที่ค้างชำระตามที่จำเลยคำนวณใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพียงแต่กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีอากรค้างชำระเพราะขาดอายุความ ดังนั้น เมื่อจำเลยมิได้กระทำการใดอันจะถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ในทางแพ่งของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2534 โจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 72180 ให้แก่นางยลดาหรือปุณยา ในราคา 6,300,000 บาท โดยนางยลดาชำระค่าที่ดินด้วยเช็ค 23 ฉบับ แต่โจทก์นำเช็คไปเรียกเก็บเงินได้เพียง 7 ฉบับ เป็นเงิน 4,046,000 บาท ส่วนเช็คอีก 16 ฉบับ จำนวน 2,254,000 บาท โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้ และโจทก์ได้ขายตึกแถว 8 ห้อง บนที่ดินโฉนดดังกล่าวข้างต้นให้แก่นางยลดาในราคา 4,075,400 บาท เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมจากรายได้จากการขายที่ดินและตึกแถวดังกล่าวในปีภาษี 2534 ตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 1160/1/101198 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2539 เป็นเงินภาษี 1,624,810 บาท เบี้ยปรับ 1,814,816 บาท และเงินเพิ่ม 1,291,723,95 บาท รวมเรียกเก็บทั้งสิ้น 4,731,349 บาท โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับ คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายคงเหลือเรียกเก็บเป็นเงินภาษี 1,624,810 บาท เบี้ยปรับ 907,408 บาท และเงินเพิ่ม 1,291,723.95 บาท รวมเรียกเก็บทั้งสิ้น 3,823,941.95 บาท โจทก์จึงฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 151/2545 หมายเลขแดงที่ 3/2546 ขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และงดเบี้ยปรับทั้งหมด ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยมิให้ถือจำนวนเงินตามเช็คที่ยังเรียกเก็บไม่ได้ 16 ฉบับ เป็นเงิน 2,254,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ในปีภาษี 2534 โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1690/2548 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 จำเลยมีหนังสือเตือนให้โจทก์นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระโดยจำเลยได้คำนวณภาษีที่โจทก์ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าว คงเหลือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเงิน 1,237,476.95 บาท และภาษีการค้าเป็นเงิน 974,031.63 บาท แต่ภาษีการค้าได้หักกลบลบหนี้บางส่วนเป็นเงิน 249,955.90 บาท รวมภาษีคงค้าง 1,961,552.68 บาท โจทก์เห็นว่า อายุความเรียกเก็บและการประเมินภาษีของจำเลยได้สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยต้องทำการประเมินและเรียกเก็บภาษีภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งภาษีอากรที่จำเลยเรียกเก็บเป็นภาษีที่จะต้องยื่นแบบในปี 2534 ซึ่งนับถึงวันที่จำเลยมีหนังสือเตือนให้นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระเป็นเวลาเกิน 10 ปี แล้ว จำเลยไม่สามารถคิดคำนวณภาษีใหม่และไม่สามารถเรียกเก็บได้ตามกฎหมาย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องเสียภาษี และให้เพิกถอนการคำนวณและการเรียกเก็บภาษีของจำเลยตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 และหมายเลข 4 ทั้งหมด
จำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1690/2548 โดยคู่ความในคดีดังกล่าวเป็นคู่ความเดียวกันกับคดีนี้ และคดีนี้กับคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกัน ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีการค้าใหม่เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว โดยนำจำนวนเงินตามเช็คที่โจทก์เรียกเก็บเงินไม่ได้จำนวน 16 ฉบับ เป็นเงิน 2,254,000 บาท มาหักออกแล้วแจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีหนี้ค่าภาษีอากรที่ต้องรับผิดตามผลของคำพิพากษาศาลฎีกาอยู่จำนวนเท่าใดคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจรื้อฟื้นโต้แย้งจำเลยเกี่ยวกับการประเมินภาษีดังกล่าวได้อีก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง การคิดคำนวณภาษีของเจ้าพนักงานของจำเลยดังกล่าวข้างต้นมิใช่เป็นการประเมินภาษีใหม่ที่ต้องกระทำภายใน 10 ปี ตามที่โจทก์อ้าง แต่ทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ทราบว่ามีหนี้ค่าภาษีอากรที่ต้องรับผิดจำนวนเท่าใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังยุติได้ว่า โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และหนังสือแจ้งภาษีการค้ากรณีการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรายพิพาท โจทก์อุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ลดเบี้ยปรับแก่โจทก์คงเรียกเก็บเบี้ยปรับเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย โจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 151/2545 หมายเลขแดงที่ 3/2546 ของศาลภาษีอากรกลาง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ โดยมิให้ถือจำนวนเงินตามเช็คที่เรียกเก็บไม่ได้อีก 16 ฉบับ จำนวน 2,254,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ในปีภาษี 2534 จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา และศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1690/2548 ต่อมาจำเลยมีหนังสือคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับปีภาษี 2534 ใหม่ และคำนวณภาษีการค้าใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกา โดยลดเงินได้พึงประเมินและรายรับจากการขายที่ดินลงจำนวน 2,254,000 บาท ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 และมีหนังสือเตือนให้โจทก์นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ ข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ คือ จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์เตือนให้โจทก์นำเงินค่าภาษีอากรค้างไปชำระ ตามสำเนาเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 3 และหมายเลข 4 ซึ่งโจทก์อ้างว่า จำเลยไม่มีสิทธิคิดคำนวณจำนวนเงินภาษีอากรใหม่และเรียกเก็บค่าภาษีอากรดังกล่าวจากโจทก์ได้ เพราะสิทธิเรียกร้องในการเรียกเก็บภาษีอากรค้างชำระของจำเลยขาดอายุความ เห็นว่า เหตุที่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์เตือนให้นำเงินค่าภาษีอากรค้างไปชำระดังกล่าว เนื่องมาจากศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วตามฎีกาที่ 1690/2548 ให้โจทก์ชำระค่าภาษีอากรโดยมิให้ถือจำนวนเงินตามเช็คที่เรียกเก็บไม่ได้อีก 16 ฉบับ จำนวน 2,254,000 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ในปีภาษี 2534 จำเลยจึงคิดคำนวณภาษีอากรใหม่โดยหักจำนวนเงินภาษีอากรที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้แก้ไขนั้นออก จึงเป็นการแจ้งเตือนให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ถึงที่สุดแล้วเท่านั้น แม้ตามหนังสือแจ้งเตือนจะบุการคำนวณภาษีการค้าใหม่มาด้วยก็เป็นผลต่อเนื่องจากการที่ศาลฎีกาให้ลดเงินได้พึงประเมินจากการขายที่ดินลงจำนวน 2,254,000 บาท จำเลยจึงปรับปรุงลดยอดรายรับที่ต้องเสียภาษีการค้าให้ด้วย นับว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์ให้เสียภาษีอากรน้อยลงโจทก์ก็ไม่ได้โต้แย้งว่าจำนวนค่าภาษีอากรที่ค้างชำระ ตามที่จำเลยคำนวณใหม่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่อย่างใดเพียงแต่กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีอากรค้างชำระเพราะขาดอายุความ จำเลยหาได้กระทำการใดอันจะถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ในทางแพ่งของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณความแพ่ง มาตรา 55 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยเรื่องฟ้องซ้ำไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share