แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
มาตรา 3 แห่งพระราชกฤฎีกากำหนดป่าไสโป๊ะ ๆ ให้เป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ.2496 บัญญัติว่า “ให้ป่าไสโป๊ะในท้องที่ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้เป็นป่าคุ้มครอง” ดังนี้ การที่จะวินิจฉัยว่าที่พิพาทอยู่ในเขตป่าคุ้มครองหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาประกอบด้วย แม้ได้ความว่าที่พิพาทอยู่ในท้องที่ตำบลกระบี่ใหญ่ มิใช่ตำบลกระบี่น้อยก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าอยู่ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ก็ต้องถือว่าที่พิพาทอยู่ในเขตป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
แม้ที่พิพาทจะมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แต่เมื่อได้มาหลังจากที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ที่พิพาทเป็นป่าคุ้มครองแล้ว จึงหามีผลให้ได้สิทธิอย่างใดยันต่อแผ่นดินได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ นายหยิน เต็กกิ้ม ได้จับจองที่ดิน ๑ แปลง อยู่หมู่ที่ ๑ ตำบลกระบี่ใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ได้ปลูกเรือนทำประโยชน์ และได้แจ้ง ส.ค.๑ แล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ นายหยินตาย นายบุญบุตรได้รับมรดกและขอรับรองการทำประโยชน์แล้วโอนขายให้โจทก์เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๐๒ ปลาย พ.ศ.๒๕๐๙ ได้มีเจ้าพนักงานกรมป่าไม้ภายใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๒ บุกรุกรังวัดสอบเขตทับที่ดินของโจทก์ทั้งแปลง เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๔๙๖ จำเลยที่ ๑ ได้ออกประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ป่าไสโป๊ะในท้องที่ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เป็นป่าคุ้มครอง แต่ปรากฏว่าแนวเขตในแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้นผิดพลาด โดยรุกล้ำไปทับที่ดินของราษฎรในท้องที่ตำบลทับปริกและตำบลกระบี่ใหญ่ซึ่งอยู่นอกท้องที่ตำบลกระบี่น้อยเป็นผลให้ที่ดินของโจทก์ถูกคุ้มครองติดแผนที่ท้ายพะราชกฤษฎีกาดังกล่าวไปด้วยทั้งนี้ด้วยความจงใจประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยทั้งสอง และปรากฏว่ามิได้มีการปิดประกาศโฆษณาให้เจ้าของที่ดินในท้องที่ตำบลทับปริกและตำบลกระบี่ใหญ่ทราบ ฉะนั้นที่ดินนอกตำบลตามพระราชกฤษฎีกาจึงไม่เป็นป่าคุ้มครองตามกฎหมาย แม้ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ กำหนดให้ป่าคุ้มครองซึ่งมีมาก่อนเป็นป่าสงวนแห่งชาติก็ไม่มีผลบังคับ ขอให้ศาลพิพากษาว่าพระราชกฤษฎีกาคุ้มครองสงวนป่าไสโป๊ะ มาตรา ๓ ส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในท้องที่ตำบลทับปริก ตำบลกระบี่ใหญ่ และทับที่ดินของโจทก์นั้นผิดกฎหมาย ห้ามจำเลยและบริวารมิให้เข้ารังวัดสอบเขตทับที่ดินของโจทก์และมิให้เกี่ยวข้องขัดขวางการใช้สิทธิครอบครองของโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายยิ้น เต็กกิ้ม ได้บุกรุกยึดถือที่พิพาทโดยพลการ ที่พิพาทเป็นที่ดินในเขตป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดป่าไสโป๊ะฯ ให้เป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ.๒๔๙๖ และอยู่ภายในแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ได้มีการสำรวจและออกประกาศให้ทราบแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน นายยิ้นยื่น ส.ค.๑ โดยไม่สุจริต ไม่มีสิทธิในที่พิพาท หนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่เจ้าพนักงานออกให้นายบุญ ออกให้ไม่ชอบและไม่สุจริต นายยิ้น นายบุญและโจทก์ต่างก็ทราบว่าที่พิพาทเป็นป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกา จึงไม่มีสิทธิอย่างใด จำเลยทั้งสองและเจ้าหน้าที่มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกลั่นแกล้งโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งตามคำขอ เพราะเป็นผลให้ยกเลิกเพิกถอนกฎหมาย เจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองเพียงแต่ตรวจสอบเขตตามแนวแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น มิได้โต้แย้งสิทธิรบกวนสิทธิหรือทุจริตกลั่นแกล้งโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย โจทก์นำคดีมาสู่ศาลโดยไม่สุจริต ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า พราะราชกฤษฎีกากำหนดป่าไสโป๊ะในท้องที่ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้เป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ.๒๔๙๖ ไม่มีผลบังคับให้ที่พิพาทของโจทก์เป็นป่าคุ้มครองและเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ารังวัดสอบเขตและห้ามเกี่ยวข้องขัดขวางการใช้สิทธิครอบครองของโจทก์ คำขออื่นของโจทก์ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทอยู่ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าไสโป๊ะในท้องที่ตำบลกระบี่น้อย อำเภอกระบี่น้อย จังหวัดกระบี่ ให้เป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ.๒๔๙๖ ขณะเจ้าพนักงานป่าไม้สำรวจเพื่อออกพระราชกฤษฎีกาให้เป็นป่าคุ้มครอง ยังไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของที่พิพาท เจ้าพนักงานได้ประกาศและชี้แจงให้ราษฎรในท้องที่ตำบลกระบี่ใหญ่ทราบแล้ว นายยิ้นเพิ่งเข้าครอบครองหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่าที่พิพาทอยู่ในท้องที่ตำบลกระบี่ใหญ่ แต่ตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดเฉพาะป่าไสโป๊ะในท้องที่ตำบลกระบี่น้อยเท่านั้นให้เป็นป่าคุ้มครอง ฉะนั้นที่พิพาทจึงอยู่นอกเขตป่าคุ้มครองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่าที่พิพาทอยู่ในเขตป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าไสโป๊ะในท้องที่ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ให้เป็นป่าคุ้มครอง พ.ศ.๒๔๙๖ หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาจากแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้นประกอบด้วย เพราะมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้ป่าไสโป๊ะในท้องที่ตำบลกระบี่น้อย อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้เป็นป่าคุ้มครอง” ฉะนั้นจะพิจารณาแต่เพียงท้องที่ตำบลกระบี่น้อยอย่างเดียวเท่านั้นหาถูกต้องไม่ เพราะการจะรู้ว่าป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีอาณาเขตกว้างยาวมากน้อยเพียงใดก็ต้องดูจากแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานั้น หากดูแต่ชื่อตำบลอย่างเดียวจะทราบได้อย่างไรว่าป่าคุ้มครองที่กำหนดนั้นมีอาณาเขตกว้างยาวเพียงใด ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าที่พิพาทอยู่ในเขตป่าคุ้มครองตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
ที่โจทก์อ้างว่าที่พิพาทมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์อันเป็นเอกสารมหาชน ต้องถือว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงและถูกต้อง แสดงว่าที่พิพาทมิได้อยู่ในเขตป่าคุ้มครองนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทอยู่ในเขตป่าคุ้มครอง ฉะนั้นแม้ที่พิพาทจะมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์แต่ก็ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นมาใน พ.ศ.๒๕๐๒ หลังจากที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดป่าไสโป๊ะเป็นป่าคุ้มครองแล้ว ฉะนั้นหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้นจึงหามีผลให้โจทก์ได้สิทธิอย่างใดในที่พิพาทยันต่อแผ่นดินได้ไม่ ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์นี้ได้มาโดยชอบเพียงใดหรือไม่
พิพากษายืน