คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13357/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตลอดแล้ว แสดงให้เห็นเจตนาว่าโจทก์ประสงค์จะนำที่ดินทั้งหมดกลับมาขายด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีทยอยไถ่ถอนที่ดินจากธนาคารทีละจำนวน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายผ่อนผันเวลาให้แก่กันเช่นนี้ จะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ หากจำเลยทั้งสามผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ แต่โจทก์หาได้ดำเนินการไม่ และการที่จำเลยทั้งสามโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ซึ่งที่ดินดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยทั้งสามเป็นการพ้นวิสัยไปด้วย คู่ความทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ และสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมตกไปไม่มีผลบังคับ เช่นนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงิน 26,479,286 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าปรับปรุงสาธารณูปโภค ปรับสภาพดิน 10,239,286 บาท กับค่าขาดประโยชน์ 16,240,000 บาท เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งไม่ได้กำหนดให้โจทก์เรียกค่าเสียหายใด ๆ และศาลพิพากษาตามยอมแล้ว นอกจากนี้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะส่วนตัว เพราะโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีก่อนในฐานะทายาทโดยธรรม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 3,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินส่วนแบ่งของมรดกที่จำเลยทั้งสามจะได้รับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าเดิมโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้นขอให้บังคับจำเลยทั้งสามในฐานะทายาทโดยธรรมของพลตำรวจตรีโกมล ชำระหนี้ตามสัญญาตัวแทนเป็นเงิน 13,129,286.70 บาท คดีดังกล่าวสามารถตกลงกันได้โดยศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 387/2550 ของศาลชั้นต้นปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ต่อมาในวันที่ 4 สิงหาคม 2552 จำเลยทั้งสามในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของพลตำรวจตรีโกมลร่วมกันจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่บุคคลภายนอกตามสัญญาขายที่ดิน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสามมีว่า คู่ความฝ่ายใดผิดสัญญาต่อกันหรือไม่ อย่างไร โดยโจทก์และจำเลยทั้งสามต่างฎีกากล่าวอ้างว่าคู่ความอีกฝ่ายเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดไปแล้ว โดยจำเลยทั้งสามโอนวัตถุแห่งหนี้ไปให้บุคคลภายนอกไม่ยอมโอนตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาข้อ 3.1 ให้แก่ผู้รับโอนที่โจทก์นำมาตามวันเวลาที่กำหนด โดยโจทก์จะนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสาม 500,000 บาท และไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร แต่จำเลยทั้งสามโอนที่ดินพิพาทให้แค่ 5 แปลง และผิดนัดไม่ยอมโอนอีก 2 แปลง ส่วนจำเลยทั้งสามให้การต่อสู้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยผู้รับโอนที่โจทก์อ้างอีก 2 ราย นั้นไม่ไปชำระเงินและจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยทั้งสามผ่อนผันโดยยอมให้จ่ายเช็คเป็นค่าโอนที่ดิน 2 แปลงหลัง แต่เช็คก็เรียกเก็บเงินไม่ได้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ในขณะเดียวกันโจทก์ก็ไม่สามารถหาบุคคลภายนอกของโจทก์ตามที่อ้างเพื่อรับโอนที่ดินจากจำเลยทั้งสามได้เช่นกัน อีกทั้งโจทก์ยังจ่ายเช็คที่เรียกเก็บเงินไม่ได้แก่จำเลยทั้งสาม เมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตลอดแล้ว แสดงให้เห็นเจตนาว่าโจทก์ประสงค์จะนำที่ดินโครงการโกมลเพลสทั้งหมดกลับมาขายด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีทยอยไถ่ถอนที่ดินจากธนาคารทีละจำนวน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายผ่อนผันเวลาให้แก่กันเช่นนี้จะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ หากจำเลยทั้งสามผิดสัญญาประนีประนอมยอมความตามข้อ 3.1 โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ แต่โจทก์หาได้ดำเนินการไม่ และการที่จำเลยทั้งสามโอนที่ดินรวม 95 แปลง ให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ซึ่งที่ดินดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยทั้งสามเป็นการพ้นวิสัยไปด้วย คู่ความทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้และสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมตกไปไม่มีผลบังคับ เช่นนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยประเด็นนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 2,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินส่วนแบ่งของมรดกที่จำเลยทั้งสามได้รับจากกองมรดกของพลตำรวจตรีโกมล ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share