คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3497/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีความผิดต่อส่วนตัว หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องพร้อมอุทธรณ์ของจำเลยว่าประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับจำเลย ไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป ฝ่ายโจทก์ไม่โต้แย้งเป็นอย่างอื่น ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยได้ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยโดยมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคแรก จำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตรส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้ว จำคุก 6 ปี คำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 (ที่ถูกมาตรา 76)แล้วให้จำคุก 4 ปี คำรับสารภาพของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความตามฎีกาของจำเลยว่า หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว จำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายและผู้เสียหายยื่นคำร้องพร้อมอุทธรณ์ของจำเลยว่าประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับจำเลย ไม่ติดใจดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไปซึ่งความดังกล่าวสอดคล้องกับอุทธรณ์ของจำเลยทุกประการฝ่ายโจทก์ไม่ได้โต้แย้งเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าก่อนยื่นอุทธรณ์ผู้เสียหายและจำเลยได้ยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยโดยมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัย เพื่อให้คดีเสร็จสิ้นไปโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นว่าสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษาใหม่ คดีนี้เป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 และยังไม่ถึงที่สุดผู้เสียหายจะยอมความกับจำเลยเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้เสียหายยอมความกับจำเลยแล้ว สิทธินำคดีอายามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share