คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีแพ่งมีประเด็นว่า จำเลยทั้งสองทำละเมิดต่อโจทก์โดยจ่ายเงินค่าหุ้นให้ ซ.ทั้งที่รู้ว่าซ. ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์และร่วมกันทำหลักฐานการรับเงินเท็จทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้หลังจากที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งแล้ว โจทก์ยังได้ฟ้อง ช. กับจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาข้อหาว่าปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม แจ้งความเท็จและแสดงหลักฐานเท็จในการพิจารณาคดี ศาลอาญาฟังข้อเท็จจริงว่าซ.ได้รับชำระค่าหุ้นจากช. แล้ว บันทึกการรับเงินทำขึ้นตามความเป็นจริง มีการชำระเงินตามวันเวลาที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นจริง พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว การพิจารณาคดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 คือต้องฟังว่าจำเลยมิได้กระทำการดังที่โจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เดิมนายเซียะหยู แซ่ลิ้มได้ซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทย จำกัด จากโจทก์เป็นเงิน19,827,100 บาท นายเซียะหยูจ่ายเงินเป็นเช็ค แต่รับเงินไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องนายเซียะหยู ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์จึงฟ้องนายเซียะหยูขอให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นายเซียะหยู่ชั่วคราวเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2515 นายเซียะหยูได้ขายหุ้นดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าหุ้นให้นายเซียะหยูเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2519 เป็นเงิน 8,344,240 บาท จำเลยทั้งสองได้ทราบดีว่านายเซียะหยูถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว ครั้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2515 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันชำระค่าหุ้นให้นายเซียะหยูอีกเป็นเงิน 8,482,860 บาท แล้วร่วมกันทำบันทึกการรับเงินค่าหุ้นลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2515 ให้นายเซียะหยูลงชื่อระบุว่านายเซียะหยูได้รับเงินชำระค่าหุ้นเป็นเงิน 16,827,100 บาท และร่วมกันทำใบรับเงินชั่วคราวลงวันที่ต่าง ๆ กันรวม 4 ฉบับ หลักฐานการยืมเงินชั่วคราวลงวันที่ต่าง ๆ กันอีกรวม 4 ฉบับ ระบุว่านายเซียะหยูได้รับเงินจากจำเลยที่ 1 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,000,000 บาทซึ่งนายเหซียะหยูไม่เคยได้รับเงินจำนวนนี้เลย การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการจูงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเกิดความเสียหายแก่โจทก์และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้จากเงินค่าหุ้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ยังค้างนายเซียะหยู ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันนำเอกสารเท็จต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วไปอ้างอิงเป็นหลักฐานในคดีล้มละลายว่าจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าหุ้นให้แก่นายเซียะหยูครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จำหน่ายชื่อจำเลยที่ 1 จากบัญชีลูกหนี้ของนายเซียะหยู ต่อมามีบุคคลอื่นเข้าชำระหนี้ค่าหุ้ยและดอกเบี้ยแทนนายเซียะหยูเป็นเงิน11,282,860 บาท โจทก์จึงถอนฟ้องคดีล้มละลาย นายเซียะหยูยังคงค้างค่าหุ้นและดอกเบี้ยโจทก์อีก 14,774,673 บาท85 สตางค์ เงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าหุ้นสองครั้งรวม 16,827,100 บาทนั้นเมื่อหักดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเพราะผิดนัดออกแล้ว คงเป็นเงินค่าหุ้น10,318,669 บาท 60 สตางค์ จำเลยที่ 1 คงค้างค่าหุ้นนายเซียะหยูอยู่ 9,508,430 บาท 40 สตางค์ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชำระให้โจทก์จากผลแห่งการละเมิดของจำเลย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 11,792,434 บาท 58 สตางค์ กับดอกเบี้ยในต้นเงิน 9,508,430 บาท 40 สตางค์ ตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ

จำเลยทั้งสองให้การว่า คดีที่โจทก์ฟ้องนายเซียะหยูเรียกเงินค่าหุ้นนั้นศาลพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุด สิทธิของโจทก์จึงระงับสิ้นไป โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ของนายเซียะหยูอีก จำเลยที่ 1 ชำระค่าหุ้นนายเซียะหยูครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำหน่ายชื่อจำเลยที่ 1 จากบัญชีลูกหนี้นายเซียะหยู โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้ชำระค่าหุ้น โจทก์ถอนฟ้องคดีล้มละลายแล้วมาฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จำเลยไม่ได้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติล้มละลายได้ชำระหนี้แก่นายเซียะหยูก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว แม้จะชำระภายหลังจากนายเซียะหยูถูกพิทักษ์ทรัพย์โจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะกล่าวอ้างหรือเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 1 ได้ ตามฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใดต่อโจทก์โดยผิดกฎหมาย จำเลยที่ 2 กระทำในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จะได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไว้ในข้อ 1 เสียก่อนว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำการดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องหรือไม่ ปัญหาข้อเท็จจริงนี้แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันชำระราคาหุ้นให้นายเซียะหยูภายหลังที่นายเซียะหยูถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวแล้ว และจำเลยทั้งสองร่วมกันทำเอกสารหมาย ล.2 ถึง ล.10 เท็จ แต่ข้อเท็จจริงยังไม่ยุติลงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะจำเลยยังติดใจโต้แย้งคัดค้านตลอดมาตามที่จำเลยได้ยกขึ้นกล่าวไว้ในคำแก้อุทธรณ์ฎีกาแล้ว กรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ทำละเมิดต่อโจทก์นี้ หลังจากที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งนี้แล้ว โจทก์ยังได้ฟ้องนายชวน รัตนรักษ์ กับจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาข้อหาว่าปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอม แจ้งความเท็จและแสดงหลักฐานเท็จในการพิจารณาคดีอีกด้วย ศาลอาญาฟังข้อเท็จจริงว่า ใน พ.ศ. 2514 นายเซียะหยูได้รับชำระค่าหุ้นจากนายชวน รัตน์รักษ์ แล้ว3,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2515 ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 อีก 16,827,100 บาท ตามเช็คของธนาคารสหมาลายัน จำกัด และเช็คของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด โดยเฉพาะเช็คของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด4 ฉบับ ลงวันที่ 17 มีนาคม 2515 นั้นเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า บันทึกการรับเงินเอกสารหมาย ล.2 ทำขึ้นตามความเป็นจริง มีการชำระเงินตามวันเวลาที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นจริง นายเซียะหยูมิได้ป่วยหนักจนไม่สามารถลงชื่อในเอกสารได้จึงพิพากษายกฟ้อง ปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 14210/2518 คดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อเป็นดังนี้การพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 คือต้องฟังว่าจำเลยมิได้กระทำการดังที่โจทก์ฟ้องคดีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นอีกต่อไป

พิพากษายืนในผลที่ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 10,000บาท แทนจำเลย

Share