แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินของจำเลย จำเลยได้กำหนดราคาตั๋วโดยสารในเส้นทางกรุงเทพมหานคร – ฮ่องกง เป็นเงินเหรียญสหรัฐ เมื่อโจทก์รับเงินค่าขายเป็นเงินบาท จึงต้องคิดในอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 196 วรรคสอง
โจทก์ร่วมได้ออกหนังสือค้ำประกันความรับผิดของโจทก์ในการเป็นตัวแทนให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยเพียงบางส่วน จำเลยจึงมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้ และมีสิทธิเรียกร้องบังคับเอากับโจทก์ร่วมตามพันธะแห่งสัญญาค้ำประกันที่มีต่อจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของโจทก์ร่วมสัญญาตัวแทนขายทั่วไป และหนังสือขยายอายุการค้ำประกันดังกล่าวให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยรับเงิน ๑๖๒,๐๙๘.๐๘ บาทไปจากโจทก์
ภายหลังโจทก์ยื่นฟ้องแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกธนาคารกสิกรไทย จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความในคดี ศาลชั้นต้นอนุญาตและหมายเรียกให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด เข้ามาเป็นโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมให้การว่า พร้อมที่จะชำระเงินให้จำเลย แต่ไม่เกินความรับผิดตามหนังสือค้ำประกัน
จำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิปฏิเสธการชำระหนี้บางส่วน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยรับเงินชำระหนี้จำนวน ๑๖๒,๐๙๘.๐๘ บาทไปจากโจทก์ และคืนหนังสือค้ำประกันและหนังสือขยายอายุการค้ำประกันตามฟ้องให้แก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันประกอบพยานเอกสารฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินและเป็นตัวแทนจำหน่ายตั๋วเครื่องบินของบริษัทจำเลย ตามสัญญาตัวแทนลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ ปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดในประเทศบาห์เรนมีสำนักงานสาขาในประเทศไทยประกอบธุรกิจการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางอากาศระหว่างาประเทศ ในการนี้ธนาคารโจทก์ร่วมได้ออกหนังสือค้ำประกันความรับผิดของโจทก์ในการเป็นตัวแทนให้แก่จำเลยไว้เป็นจำนวนเงินไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อมาโจทก์จำเลยได้ตกลงเลิกสัญญากันเมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๖ คดีมีข้อพิพาทกันเกี่ยวกับเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินที่ยังต้องส่งคืนให้แก่จำเลยเฉพาะเส้นทางระหว่างกรุงเทพ-ฮ่องกง สำหรับเดือนกันยายน ๒๕๒๔ ถึงเดือนสิงหาคม ๒๕๒๕ ซึ่งโจทก์อ้างว่ายังค้างชำระอยู่จำนวน ๑๖๒,๐๙๘.๐๘ บาท แต่จำเลยโต้แย้งว่า ยังค้างชำระอยู่จำนวน ๑,๒๖๕,๘๘๕.๐๘ บาทจำนวนที่แตกต่างกันดังกล่าวเนื่องจากโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกำหนดให้โจทก์ขายตั๋วโดยสารโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ๑ เหรียญสหรัฐเท่ากับ ๒๐.๔๕ บาท อันเป็นอัตราแลกเปลี่ยนเดิมที่จำเลยกำหนด แต่จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยกำหนดราคาตั๋วโดยสารเป็นเงินเหรียญสหรัฐเมื่อโจทก์รับชำระราคาเป็นเงินบาทไทยจึงต้องคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นอยู่ขณะนั้น ซึ่งมีอัตรา ๑ เหรียญฯสหรัฐเท่ากับ ๒๓ บาท อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่ยอมรับชำระเงินจำนวนที่โจทก์ส่งคืนมาและใช้สิทธิบังคับธนาคารโจทก์ร่วมให้รับผิดตามพันธะแห่งสัญญาค้ำประกันที่มีต่อจำเลย ปัญหาจึงมีว่าโจทก์ได้ขายตั๋วโดยสารตามอัตราเงินเหรียญสหรัฐเป็นเงินบาทไทยตามที่จำเลยกำหนดดังข้อกล่าวอ้างตามฟ้อง หรือจำเลยเพียงแต่กำหนดราคาตั๋วโดยสารเป็นเงินเหรียญสหรัฐดังที่จำเลยให้การต่อสู้ พิเคราะห์แล้วในประเด็นพิพาทดังกล่าวปรากฏตามเอกสารโต้ตอบที่โจทก์จำเลยรับกันตามเอกสารหมาย จ.๒ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๒๔ ที่จำเลยมีถึงโจทก์ในฐานะตัวแทนขายว่าจำเลยได้แจ้งกำหนดราคาค่าโดยสารเครื่องบินเป็นเงินเหรียญสหรัฐทั้งหมด เฉพาะเส้นทางกรุงเทพมหานคร-ฮ่องกง ได้กำหนดไว้ในราคา ๘๕ เหรียญสหรัฐ เอกสารฉบับดังกล่าวซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในระยะนั้นเป็นหลักฐานแสดงว่าจำเลยได้กำหนดราคาตั๋วโดยสารให้โจทก์ขายเป็นเงินเหรียญสหรัฐโดยมิได้เทียบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทไทยไว้ อันเป็นข้อสนับสนุนข้อต่อสู้ตามคำให้การจำเลยที่ว่า จำเลยเพียงแต่กำหนดราคาตั๋วโดยสารสายกรุงเทพมหานคร-ฮ่องกง เป็นเงินเหรียญสหรัฐโดยมิได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทไทย ซึ่งก็เป็นการสอดคล้องกับเหตุผลที่ว่าเมื่อโจทก์รับชำระค่าตั๋วโดยสารเป็นเงินบาทก็น่าจะเทียบตามอัตราแลกเปลี่ยนตามทางการที่ใช้อยู่ในขณะนั้นมิฉะนั้นก็ย่อมไม่ตรงตามมูลค่าของเงินเหรียญสหรัฐที่จำเลยได้กำหนดเป็นราคาขายไว้หากโจทก์ยังคงเทียบตามอัตราแลกเปลี่ยนเก่าอันผิดจากความเป็นจริงในขณะนั้นและโดยเหตุที่โจทก์ได้จำหน่ายตั๋วโดยสารสายกรุงเทพมหานคร-ฮ่องกง ทั้งเที่ยวเดียวและไปกลับโดยยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดิมก่อนการลดค่าเงินบาท การที่โจทก์ได้ส่งยอดการขายประจำเดือนให้จำเลยทราบ ผู้จัดการฝ่ายรายได้จำเลยจึงได้ส่งใบเรียกเก็บเงินเพิ่มจากโจทก์ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.๕, จ.๖ และเมื่อพิจารณาถึงจดหมายโต้ตอบลงวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๕ ที่โจทก์มีถึงจำเลยเมื่อถูกเรียกให้ชำระค่าขายเพิ่มดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.๗ โจทก์ก็ยังได้กล่าวในทำนองยอมรับความถูกต้องที่จำเลยส่งใบเรียกเก็บค่าขายเพิ่มจากที่ขาดไป หากแต่ได้อ้างเหตุความสับสนที่เกิดขึ้นจากการขายมารวม ทั้งอ้างว่าได้รับอนุมัติจากการติดต่อทางโทรศัพท์ถึงจำเลยโดยไม่ปรากฏหลักฐานข้อตกลงจากจำเลยแต่อย่างใด ทั้งข้ออ้างว่าได้รับอนุมัติให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดิมก็กลับขัดแย้งกับบันทึกโต้ตอบของจำเลยลงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๕ ที่มีถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๔ ซึ่งจำเลยได้เท้าความถึงบันทึกของโจทก์ที่มีถึงจำเลยลงวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๒๔ เกี่ยวกับการที่โจทก์ยังคงใช้อัตราแลกเปลี่ยนเดิม ๑ เหรียญสหรัฐเท่ากับ ๒๐.๔๕ บาท ว่าจำเลยยังมิได้รับอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยในเรื่องนี้อันทำให้จำเลยต้องมีบันทึกฉบับลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๔ สั่งให้ตัวแทนฝ่ายขายใช้อัตราแลกเปลี่ยนใหม่ และในบันทึกดังกล่าว ผู้จัดการจำเลยยังได้พิจารณาถึงความเสียเปรียบในการขายตั๋วโดยสารฮ่องกง และได้เสนอแนะให้ขายในราคาสุทธิ ๗๓ เหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ ๑,๖๔๐ บาท พยานหลักฐานที่โจทก์ส่งอ้างเป็นพยาน นอกจากไม่ปรากฏว่าจำเลยได้อนุมัติให้โจทก์รับเงินค่าขายตั๋วโดยสารเป็นเงินบาทโดยคิดอัตราแลกเปลี่ยนเดิมก่อนการลดค่าเงินบาทตามที่โจทก์กล่าวอ้างแล้ว ยังกลับแสดงว่าจำเลยได้กำหนดราคาขายตั๋วโดยสารสารกรุงเทพมหานคร-ฮ่องกงเป็นเงินเหรียญสหรัฐคำแถลงรับข้อเท็จจริงของจำเลยที่ว่าเดิมจำเลยแจ้งอัตราค่าตั๋วโดยสารเป็นเงินเหรียญสหรัฐโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ๑ เหรียญสหรัฐเท่ากับ ๒๐.๔๕ บาท จึงมีเหตุผลรับฟังตามที่จำเลยฎีกาโต้แย้งว่ามีความหมายเพียงว่าอัตราแลกเปลี่ยนในครั้งเดิมมีมูลค่าเท่ากับ ๒๐.๔๕ บาทเท่านั้นมิได้เป็นการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้โจทก์รับเป็นเงินค่าขายตั๋วโดยสารตามที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้กำหนดราคาตั๋วโดยสารในเส้นทางกรุงเทพมหานคร-ฮ่องกง เป็นเงินเหรียญสหรัฐ เมื่อโจทก์รับเงินค่าขายเป็นเงินบาทจึงต้องคิดในอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ซึ่งมีอัตรา ๑ เหรียญสหรัฐเท่ากับ ๒๓ บาท ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๖ วรรคสองดังนั้น หนี้ค่าขายตั๋วเครื่องบินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยจึงเป็นเงิน ๑,๒๖๕,๘๘๕.๐๘ บาท ตามที่โจทก์ได้แถลงรับไว้แล้วเมื่อโจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยเพียงบางส่วน จำลยจึงมีสิทธิปฏิเสธไม่ยอมรับชำระหนี้และมีสิทธิเรียกร้องบังคับเอากับโจทก์ร่วมตามพันธะแห่งสัญญาค้ำประกันที่มีต่อจำเลยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น.