คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2749/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานมี เมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเพื่อขายตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง,89 และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15,67 เป็นความผิดที่เกิดขึ้นและมีอยู่ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลา นับตั้งแต่ได้เมทแอมเฟตามีนของกลางมาจนกระทั่งขนเคลื่อนย้ายไป การที่จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีน 245 เม็ด ที่ได้มาทั้งหมดไปซุกซ่อนไว้ที่ใต้พวงมาลัยรถยนต์ของกลางแล้วร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นำรถยนต์ของกลางเคลื่อนที่ไปตามถนนหลวงล้วนเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในขณะที่การกระทำความผิดยังต่อเนื่องไม่ขาดตอน ถือได้ว่ารถยนต์ของกลางที่นำมาใช้ลำเลียงเมทแอมเฟตามีนไป เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสี่โดยตรง โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้นำรถยนต์มาใช้ ด้วยการรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองใช้รถยนต์นั้นอยู่ จึงต้องริบรถยนต์ของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่มีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 245 เม็ด หนัก 22.180 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หนัก 3.990 กรัม อันเกินกว่าปริมาณที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาตเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสี่ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวและรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ร – 8349 กรุงเทพมหานคร ยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือใช้เป็นยานพาหนะให้ได้รับผลในการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4, 5, 6, 11, 13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 3, 30, 31 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ร – 8349 กรุงเทพมหานคร ของกลาง เป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง,62 วรรคหนึ่ง, 89, 106 ทวิ เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษตามมาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 จำคุกคนละ 15 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นพิจารณา ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุม อันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง และลดโทษให้จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 7 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 คนละ 10 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางและริบรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ร – 8349 กรุงเทพมหานคร ของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) คำขออื่นให้ยก

จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15, 67 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปีลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงจำคุก 5 ปี รถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ร – 8349 กรุงเทพมหานครของกลางไม่ริบ และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่1 ตุลาคม 2539 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสองจังหวัดแพร่ ตรวจค้นรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 ร -8349 กรุงเทพมหานคร ของกลาง ซึ่งจำเลยที่ 1 ขับมาจากจังหวัดเชียงราย มีจำเลยที่ 2 และที่ 4 นั่งอยู่ในรถ จำเลยที่ 3 นั่งอยู่ที่กระบะท้าย พบเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำนวน 245 เม็ดซุกซ่อนอยู่ที่ใต้พวงมาลัยรถยนต์ จึงจับกุมจำเลยทั้งสี่มาดำเนินคดี

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้อง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินที่ต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33(1) หรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อขายของจำเลยทั้งสี่ตามฟ้องนั้น โดยลักษณะเป็นความผิดที่เกิดขึ้นและมีอยู่ต่อเนื่องกันไปตลอดเวลา นับตั้งแต่ได้เมทแอมเฟตามีนของกลางมา จนกระทั่งขนคลื่อนย้ายไป การที่จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีน 245 เม็ดที่ได้มาแล้วทั้งหมดเข้าไปซุกซ่อนไว้ที่ใต้พวงมาลัยรถยนต์ของกลาง แล้วร่วมกับจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 นำรถยนต์ของกลางเคลื่อนที่ไปตามถนนหลวง ล้วนเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในขณะที่การกระทำความผิดยังต่อเนื่องไม่ขาดตอนดังกล่าว จึงถือได้ว่ารถยนต์ของกลางที่นำมาใช้ลำเลียงเมทแอมเฟตามีนไปนั้น เป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องของจำเลยทั้งสี่โดยตรง โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำรถยนต์มาใช้ด้วยความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองใช้รถนั้นอยู่เองจึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่ริบรถยนต์ของกลางโดยเห็นว่าความผิดตามฟ้องสำเร็จตั้งแต่เมื่อมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง การที่จำเลยที่ 1 เพียงแต่ซ่อนเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ใต้พวงมาลัยรถยนต์ของกลางไม่ทำให้รถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบรถยนต์ของกลางได้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15, 67 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 10 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 6 ปี 8 เดือน ริบรถยนต์ของกลาง หมายเลขทะเบียน 5 ร – 8349 กรุงเทพมหานคร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share