คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 108 ให้อำนาจ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้หรือลดจำนวนหนี้ที่ศาลได้สั่งอนุญาตไปแล้วได้ แม้คำสั่งศาลดังกล่าวจะถึงที่สุดก็ตาม ถ้าปรากฏว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตคำขอรับชำระหนี้โดยหลงผิดว่าลูกหนี้เป็นหนี้ตามจำนวนที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ความจริงลูกหนี้มิได้เป็นหนี้หรือเป็นหนี้ไม่ถึงจำนวนที่อนุญาตให้รับชำระหนี้ ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งใหม่ให้ยกคำขอรับชำระหนี้ลดจำนวนหนี้ที่ได้สั่งอนุญาตไปแล้วได้ ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่ขอรับชำระหนี้ คดีนี้ปรากฏว่าผู้ร้องตรวจสอบพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านอ้างต่อผู้ร้องในชั้นสอบสวน และเห็นว่าใบกำกับสินค้าอันเกี่ยวกับหนี้ที่ผู้คัดค้านขอรับชำระหนี้ไม่มีลายมือชื่อของลูกหนี้ ทั้งแถบบันทึกเสียงการสนทนาระหว่าง อ.กับลูกหนี้และท. ที่เมืองฮ่องกง นั้นลูกหนี้ก็ได้อ้างหนังสือเดินทางของตนเป็นพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าในวันดังกล่าวลูกหนี้ไม่ได้เดินทางออกจากประเทศไทย อันแสดงให้เห็นว่ามูลหนี้ที่ผู้คัดค้านยื่นคำขอรับชำระหนี้มีข้อพิรุธสงสัยน่าเชื่อว่าจะไม่มีมูลหนี้ต่อกันจริงผู้ร้องจึงชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคำขอรับชำระหนี้ที่ศาลได้สั่งอนุญาตไปแล้วได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2528 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2529 ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดอนุญาตให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นเงินจำนวน 6,234,843.55 บาท ตามมาตรา 130(8)แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2538 ลูกหนี้ยื่นคำร้องและให้การต่อผู้ร้องว่า ลูกหนี้ไม่ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้านผู้ร้องตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้คัดค้านยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมูลหนี้ซื้อขายเพชร โดยผู้คัดค้านนำพยานบุคคลไปให้ผู้ร้องสอบสวนประกอบเอกสาร อันได้แก่ใบกำกับสินค้า และบันทึกการถอดข้อความในแถบบันทึกเสียงซึ่งมีการบันทึกไว้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2525 ที่เมืองฮ่องกง แต่จากใบกำกับสินค้าไม่ปรากฏลายมือชื่อลูกหนี้ ทั้งลูกหนี้อ้างหนังสือเดินทางของตนว่าในวันที่ 27 กรกฎาคม 2525 มิได้เดินทางออกจากประเทศไทย จึงทำให้น่าเชื่อว่ามูลหนี้ที่ผู้คัดค้านนำมายื่นขอรับชำระหนี้ยังมีข้อพิรุธสงสัยไม่น่าเชื่อว่าจะมีมูลหนี้ต่อกันจริง คำสั่งศาลที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้น่าจะเป็นการสั่งไปโดยผิดหลง ขอให้มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้คัดค้านตามมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านยื่นคำขอรับชำระหนี้และผู้ร้องสอบสวนแล้วทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้นว่าควรให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้เต็มตามที่ผู้คัดค้านยื่นขอรับชำระหนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งถึงที่สุดอนุญาตให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของผู้ร้อง ต่อมาลูกหนี้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าลูกหนี้ไม่ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้าน ผู้ร้องได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าที่ลูกหนี้อ้างว่าไม่ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้านนั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง ทั้งศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของผู้ร้องแล้วซึ่งในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้เช่นเดิม ลูกหนี้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของผู้ร้องนั้นถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของผู้ร้องจึงมิใช่เป็นการสั่งโดยผิดหลงตามมาตรา 108 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่า ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้คัดค้านซึ่งศาลมีคำสั่งถึงที่สุดอนุญาตให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้แล้วได้หรือไม่เห็นว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 108บัญญัติว่า “คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ซึ่งศาลสั่งอนุญาตแล้วนั้นถ้าต่อมาปรากฏว่าศาลได้สั่งไปโดยผิดหลง เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกคำขอรับชำระหนี้หรือลดจำนวนหนี้ที่ได้สั่งอนุญาตไปแล้วได้” จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติมาตรานี้ให้อำนาจผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ยกคำขอรับชำระหนี้หรือลดจำนวนหนี้ที่ศาลได้สั่งอนุญาตไปแล้วได้แม้คำสั่งศาลดังกล่าวจะถึงที่สุดก็ตาม ถ้าปรากฏว่าศาลมีคำสั่งอนุญาตคำขอรับชำระหนี้โดยผิดหลงว่าลูกหนี้เป็นหนี้ตามจำนวนที่อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ ความจริงลูกหนี้มิได้เป็นหนี้หรือเป็นหนี้ไม่ถึงจำนวนที่อนุญาตให้รับชำระหนี้ ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งใหม่ให้ยกคำขอรับชำระหนี้หรือลดจำนวนหนี้ที่ได้สั่งอนุญาตไปแล้วได้ ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมแก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายที่ขอรับชำระหนี้ คดีนี้ได้ความตามคำร้องของผู้ร้องว่าลูกหนี้ยื่นคำร้องและให้การต่อผู้ร้องว่าลูกหนี้ไม่ได้เป็นหนี้ผู้คัดค้านตามพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านอ้างต่อผู้ร้อง ผู้ร้องจึงตรวจสอบพยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านอ้างต่อผู้ร้องในชั้นสอบสวนอันได้แก่ใบกำกับสินค้าและบันทึกการถอดข้อความการสนทนาระหว่างนายอาจิต คูตารี กับลูกหนี้และนายทวีศักดิ์ อัศวจินดามณีเกี่ยวกับหนี้ที่ผู้คัดค้านขอรับชำระหนี้ในแถบบันทึกเสียงซึ่งผู้คัดค้านอ้างว่านายอาจิตบันทึกไว้เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2525ที่เมืองฮ่องกง ปรากฏว่าใบกำกับสินค้าไม่มีลายมือชื่อของลูกหนี้ส่วนที่ผู้คัดค้านอ้างว่าได้บันทึกเสียงการสนทนาระหว่างนายอาจิตกับลูกหนี้และนายทวีศักดิ์ที่เมืองฮ่องกงนั้นลูกหนี้ได้อ้างหนังสือเดินทางของตนเป็นพยานหลักฐานแสดงให้เห็นว่าในวันดังกล่าวลูกหนี้ไม่ได้เดินทางออกจากประเทศไทย ผู้ร้องจึงเห็นว่ามูลหนี้ที่ผู้คัดค้านยื่นคำขอรับชำระหนี้มีข้อพิรุธสงสัยน่าเชื่อว่าจะไม่มีมูลหนี้ต่อกันจริง ที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้น่าจะเป็นการสั่งไปโดยผิดหลงดังนั้น ผู้ร้องจึงชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลยกคำขอรับชำระหนี้ที่ศาลได้สั่งอนุญาตไปแล้วเป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการสุดท้ายว่าลูกหนี้เป็นหนี้ผู้คัดค้านตามคำขอรับชำระหนี้หรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ลูกหนี้ นายทวีศักดิ์และนางสาวสุนีย์ เป็นลูกหนี้ร่วมกัน ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นจำนวนเงิน 6,234,843.55 บาท เต็มตามคำขอโดยมีเงื่อนไขว่าหากผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้จากนายทวีศักดิ์และนางสาวสุนีย์แล้วเท่าไรให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น จึงไม่ได้สั่งโดยผิดหลงแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของผู้คัดค้าน (เจ้าหนี้รายที่ 2) โดยฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านรับชำระหนี้นั้นเป็นการสั่งโดยผิดหลงนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share