คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13163/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นิติสัมพันธ์ที่จะเป็นสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 575 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 คือ นายจ้างว่าจ้างอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลูกจ้างเพื่อทำการงานให้ นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบข้อบังคับในการทำงาน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานอะไรเป็นกิจจะลักษณะ ไม่ต้องเข้าทำงานทุกวัน ย่อมแสดงว่าโจทก์มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บริหารของบริษัทจำเลย นอกจาก อ. ซึ่งเป็นบิดาโจทก์เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างของจำเลย เพราะไม่ได้ทำงานให้จำเลยและไม่ได้อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและการบังคับบัญชาตามสายงานปกติของจำเลย การที่โจทก์เข้ามาทำงานในบริษัทจำเลยก็เพื่อช่วยเหลืองานของบิดาเท่านั้นย่อมเป็นความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และไม่ถือว่า อ. จ้างโจทก์แทนจำเลยโดยชอบ จึงไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระ 480,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดเงินในแต่ละเดือน และให้จำเลยจ่ายเงินเพิ่มร้อยละ 15 ของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลา 7 วัน จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยย้ายโจทก์กลับไปตำแหน่งเดิมและให้มีอัตราค่าจ้างเท่าเดิม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประกอบธุรกิจฟาร์มเลี้ยงสัตว์และกิจการสวนสัตว์ โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยตั้งแต่เริ่มก่อการตั้งบริษัทจนถึงขณะฟ้องคดีนี้ จำเลยมีนายอุทัย ซึ่งเป็นบิดาของโจทก์เป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทจำเลย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2549 นายอุทัยแต่งตั้งให้โจทก์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 นายอุทัยมีคำสั่งให้โจทก์พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายบุคคลและแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของประธานกรรมการผู้จัดการ ในการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่ได้ทำงานที่บริษัทจำเลยทุกวัน อาทิตย์หนึ่งทำงานประมาณ 3 – 4 วัน ไม่มีการลงเวลาทำงาน โจทก์เข้ามาทำงานที่บริษัทจำเลยตามคำสั่งของนายอุทัยและอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายอุทัยเท่านั้น โจทก์ไม่ได้สมัครเข้าเป็นพนักงานของจำเลยเป็นกิจจะลักษณะ ไม่มีการทำสัญญาจ้าง และได้รับเงินเดือนจากนายอุทัย โจทก์ไม่มีโต๊ะทำงานในบริษัทจำเลย
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า นิติสัมพันธ์ที่จะเป็นสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้คือ คู่สัญญามีเจตนาตรงกันว่าฝ่ายหนึ่งเป็นนายจ้างว่าจ้างอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลูกจ้างเพื่อทำการงานให้ โดยนายจ้างจ่ายค่าตอบแทนการทำงานเป็นค่าจ้าง นายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาให้ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามคำสั่งในการทำงานและปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับในการทำงาน เมื่อได้ความว่าโจทก์ไม่มีที่ทำงานเป็นกิจจะลักษณะ ไม่มีเนื้องานความรับผิดชอบที่แน่ชัดว่าทำงานใดให้แก่บริษัทจำเลย แม้ในตอนแรกจะมีตำแหน่งเป็นถึงผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล และต่อมาเปลี่ยนตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของนายอุทัยก็เป็นการแต่งตั้งโดยนายอุทัยซึ่งเป็นบิดาของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีความรับผิดชอบในหน้าที่การงานอะไรเป็นกิจจะลักษณะตามตำแหน่งเดิมและตำแหน่งใหม่ โจทก์ไม่ต้องเข้าทำงานทุกวันจะเข้าบริษัทจำเลยต่อเมื่อได้รับคำสั่งจากนายอุทัย ย่อมแสดงว่าโจทก์มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของผู้บริหารอื่นตามสายงานของบริษัทจำเลยนอกจากนายอุทัยซึ่งเป็นบิดาโจทก์เท่านั้น และโจทก์ไม่มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการงานบุคคลตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลย ไม่อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลย ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์เป็นลูกจ้างของจำเลย เพราะไม่ได้ทำงานให้จำเลยและไม่ได้อยู่ภายใต้ระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและการบังคับบัญชาตามสายงานปกติของจำเลย โจทก์เข้ามาทำงานในบริษัทจำเลยก็เพื่อช่วยเหลืองานของบิดาเท่านั้น ย่อมเป็นความสัมพันธ์ส่วนบุคคล และไม่ถือว่านายอุทัยว่าจ้างโจทก์แทนจำเลยโดยชอบ จึงไม่ผูกพันจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share