คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1316/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทได้ถูกแก้ไขตัวเลขและตัวหนังสือที่เขียนไว้ในช่องระบุจำนวนเงินให้มีจำนวนเงินสูงขึ้นหลังจากที่จำเลยได้ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คแล้ว โดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วย แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ไม่ประจักษ์ จำเลยในฐานะผู้สลักหลังย่อมมีความรับผิดเพียงจำนวนเงินเดิมในขณะที่จำเลยสลักหลังเช็คเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คธนาคากสิกรไทย จำกัด จำนวนสองฉบับ จำนวนเงิน 44,500 บาท และ 45,200 บาท โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้สลักหลัง โดยประทับตราของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เมื่อเช็คถึงกำหนดจ่ายเงิน โจทก์ได้นำเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่เก็บเงินไม่ได้เพราะบัญชีปิดแล้ว ขอให้ศาลพิพากษาบังคับ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 ได้นำเช็คพิพาท 2 ฉบับมาให้จำเลยที่ 4 สลักหลัง ฉบับแรกระบุจำนวนเงิน4,500 บาท และฉบับที่ 2 ระบุจำนวนเงิน 5,200 บาท เป็นเงินจำนวนน้อยจำเลยที่ 4 จึงสลักหลังให้โดยมิได้ประทับตราของจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้สมคบกันแก้ไขเพิ่มตัวเลขและตัวหนังสือลงในเช็คพิพาทให้จำนวนเงินสูงขึ้นกว่าความเป็นจริง จำเลยที่ 3 มิได้ลงลายมือชื่อสลักหลังและประทับตราของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ 96,200 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 4 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ไม่เกินจำนวนเงิน9,700 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ลงชื่อสลักหลังและประทับตราของจำเลยที่ 2 ลงหลังเช็คทั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิด เช็คพิพาทสองฉบับพิเคราะห์ประกอบคำเบิกความของโจทก์และจำเลยที่ 4 แล้ว เห็นว่าเช็คพิพาทฉบับแรกตัวเลข “4” ตัวแรกที่เขียนไว้ในช่องระบุจำนวนเงินมีลักษณะเส้นหมึกเล็กกว่าตัวเลข “4,500” และลักษณะเส้นหมึกตัวเลข “4” ตัวแรกก็คล้ายกับเส้นหมึกของตัวเลขในช่องลงวันที่สั่งจ่ายกล่าวคือเส้นหมึกเล็กกว่า ส่วนเช็คพิพาทฉบับที่สองนั้น ตัวเลข “4” ตัวแรกที่เขียนไว้ในช่องระบุจำนวนเงินสั่งจ่ายจะเห็นว่าสีของหมึกจางกว่าตัวเลขอื่น ๆ และตัวหนังสือคำว่า “สี่หมื่น” ในช่องระบุจำนวนเงินสั่งจ่ายเป็นตัวหนังสือกลับมีสีเข้มกว่าตัวหนังสืออื่น โดยเหตุนี้ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าเช็คพิพาทสองฉบับได้มีการกรอกตัวหนังสือและตัวเลขของจำนวนเงิน ซึ่งมิได้กระทำในคราวเดียวกัน แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ไม่มีประจักษ์ ฉะนั้น จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้สลักหลังย่อมมีความรับผิดเพียงจำนวนเงินเดิมในขณะที่จำเลยที่ 4 สลักหลังเช็คพิพาทเท่านั้น

พิพากษายืน

Share