แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน มีกำหนด 4 ปี แม้จะมีการเพิ่มโทษหนึ่งในสามเนื่องจากกระทำความผิดซ้ำตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน ก็เป็นการเพิ่มโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ มิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษในความผิดที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี จึงยังถือว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ไม่เกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงว่าขอให้ศาลฎีกาหยิบยกเรื่องเวลาจับกุม และการที่โจทก์ไม่ขอหมายเรียกพยานบางปากมาเบิกความขึ้นพิจารณาอีกครั้ง โดยมิได้ระบุข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายอ้างอิงให้เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 คลาดเคลื่อนอย่างไร ฎีกาของจำเลยที่ 2 ส่วนนี้จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 92 ริบของกลางและเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกคนละ 4 ปี ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 8 ปี รวมจำคุกคนละ 12 ปี เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 16 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี และศาลอุทธรณ์ ภาค 2 พิพากษายืน แม้จะมีการเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 อีกหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ด้วยก็ตาม ก็เป็นการเพิ่มโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้นมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษในความผิดที่โจทก์ฟ้อง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ได้ความจากพยานโจทก์ว่ายังมีข้อน่าสงสัยหลายประการได้แก่ เรื่องที่พยานโจทก์สืบพยานว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษมาเป็นเวลานาน ทั้งที่จำเลยที่ 2 เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านเกิดเหตุได้เพียงเดือนเศษ เรื่องที่สายลับและดาบตำรวจนรินทร์ ทองสุวรรณ์ เข้าไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีที่หน้าบ้านของจำเลยทั้งสองและเรื่องธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อและการตรวจค้นได้ธนบัตรดังกล่าวนั้นเป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยที่ 2 ฎีกาเกี่ยวกับเวลาที่จับกุมและการไม่หมายเรียกนายนิรันดร์มาเบิกความ ซึ่งพออนุมานได้ว่าเป็นฎีกาในข้อหาร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็เพียงฎีกาขอให้ศาลฎีกาหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นพิจารณาอีกสักครั้ง โดยมิได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอ้างอิงให้เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 คลาดเคลื่อนอย่างไรจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2