คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1312/2482

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีอำนาจตั้งตัวแทนมาต่อสู้คดีในศาลแทนตนได้ และเมื่อตัวแทนมายื่นคำให้การแทนแล้วก็จะถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไม่ได้
ประมวลแพ่งฯ ม.801 ไม่ห้ามการเข้าต่อสู้คดีเป็นจำเลยแทน ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจโดยทั่วไปจึงเข้าต่อสู้คดีเป็นจำเลยแทนผู้มอบอำนาจโดยทั่วไปได้ในเรื่องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล ศาลสูงจะสั่งให้แยกพิจารณาพิพากษาใหม่ฉะเพาะฝ่ายผู้รับโอนฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องให้พิจารณาพิพากษาใหม่ทั้งผู้โอนด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญายอมความระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒-๓ ซึ่งจำเลยที่ ๔ เป็นผู้แทน โดยกล่าวว่าจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์อยู่ จำเลยสมยอมกันทำนิติกรรมยอมความโดยจำเลยที่ ๑ โอนสวนยางให้แก่จำเลยที่ ๒-๓ โดยรู้ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำให้การจำเลยที่ ๑-๒-๓-๔ ว่า การที่จำเลยที่ ๔ ลงนามในฐานะเป็นผู้รับมอบฉันทะต่อสู้คดีแทนจำเลยที่ ๒-๓ นั้น อาศัยใบมอบฉันทะฉะบับหนึ่งซึ่งศาลเห็นว่ายังไม่พอที่จะถือว่า (คือข้อความไม่พอแสดงว่าได้มอบอำนาจให้ต่อสู้คดี) จำเลยที่ ๔ มีอำนาจต่อสู้คดีเป็นจำเลยแทนจำเลยที่ ๒-๓ จึงให้รับคำให้การฉะเพาะคำให้การของจำเลยที่ ๑ ที่ ๔ เท่านั้น
ต่อมาจำเลยที่ ๒-๓ ซึ่งอยู่ปีนังมีหนังสือส่งคำให้การเป็นภาษาอังกฤษและมิได้ใช้แบบพิมพ์ศาล ๆ สั่งไม่รับและถือว่าจำเลยที่ ๒-๓ ขาดนัดชั้นยื่นคำให้การ และในชั้นพิจารณาจำเลยก็ขาดนัดอีก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญายอมความระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒-๓ ให้ยกฟ้องฉะเพาะจำเลยที่ ๔
จำเลยที่ ๑-๒-๓ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์แปลหนังสือมอบฉันทะของจำเลยที่ ๒-๓ ฟังว่าหนังสือนั้นหมายถึงว่าให้จำเลยที่ ๔ มีอำนาจต่อสู้คดีเป็นจำเลยแทนจำเลยที่ ๒-๓ ได้ด้วย ฉะนั้นจำเลยที่ ๒-๓ จึงไม่ขาดนัด ที่ศาลว่าขาดนัดเป็นการปฏิบัติผิดวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๓ ข้อ ๒ จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นฉะเพาะที่ให้จำเลยที่ ๒-๓ แพ้คดี ให้พิจารณาพิพากษาคดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ ๒-๓ ใหม่ ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๑ ให้งดไว้ก่อน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาคดีจำเลยที่ ๒-๓ ประการใดจึงให้ส่งมาให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในชั้นหลัง
ศาลฎีกาฟังว่าใบมอบอำนาจของจำเลยที่ ๒-๓ พอแปลได้ว่าได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ + ต่อสู้คดีเป็นจำเลยแทนด้วยจริง นอกจากนี้ใบมอบอำนาจนี้เป็นใบมอบอำนาจทั่วไป ตามประมวลแพ่งฯ ม.๘๐๑ ก็ไม่ห้ามการต่อสู้คดีในฐานะจำเลย จึงฟังว่าจำเลยที่ ๒-๓ ขาดนัดไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๓ ศาลอุทธรณ์จะต้องยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสียก่อนทั้งฉะบับแล้วจึงจะสั่งให้พิพากษาใหม่ได้ คดีนี้มีจำเลยหลายคนแต่มีประเด็นร่วมเป็นอันเดียวกัน คือว่าการโอนที่ดินนี้เป็นการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าแยกพิพากษาแล้วจะเป็นว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นพิพากษาคดีของผู้โอนเสียตอนหนึ่งก่อน แล้วจึงพิพากษาคดีของผู้รับโอนอีกตอนหนึ่ง ซึ่งอาจขัดแย้งกันและไม่พึงเห็นว่าจะแยกออกจากกันได้ จึงพิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่สำหรับจำเลยทุกคนตามรูปคดี ค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกานี้ให้คืนแก่คู่ความไป.

Share