แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ในหนังสือพิมพ์ที่จำเลยเป็นบรรณาธิการ จะแก้ตัวว่าข้อความที่ลงพิมพ์มีคนส่งมาจำเลยจึงลงไปไม่ต้องรับผิดชอบนั้นไม่ได้
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองลำพูน ประเภท ๒ จำเลยเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ชาวเหนือซึ่งออกจำหน่ายแพร่หลายไปทุกตำบลในเขตภาค ๕ เป็นประจำทุกวันที่ ๕,๑๐,๑๕,๒๐,๒๕,๓๐ ทุกเดือน หนังสือพิมพ์นี้ฉบับลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๔๙๙ หน้า ๗,๘ ในช่อง “ตู้ไปรษณีย์” ได้ลงพิมพ์หัวข้อเรื่อง” สงสัยเทศบาลใช้เงิน” เป็นข้อความหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ว่า”ข้าพเจ้า………..ราษฎรผู้เสียภาษี” ซึ่งคำว่านายเมือง ขันธโต้หรือนายเมืองทุกแห่งหมายถึงโจทก์และข้อความที่ลงพิมพ์นี้มีความหมายว่า โจทก์เป็นพรรคพวกของเทศมนตรี เกาะกินเงินโดยวิธีหาเศษหาเลยกับเงินของเทศบาลในการซ่อมถนนสายช่างฆ้อง และแย่งงานของคนงานเทศบาลมาทำ และแย่งกินเงินของเทศบาลและของคนงานเทศบาลอีกด้วย โจทก์ได้รับความเสียหายจึงต้องฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยพิศูจน์ว่าข้อความจำเลยลงพิมพ์ดังกล่าวเป็นความจริง ถ้าพิศูจน์ไม่ได้ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๒,๒๘๔,๒๘๖ และ ๖๖ และขอให้ประกาศคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวัน ไม่น้อยกว่า ๑๐ ฉบับเป็นเวลา ๑ เดือน โดยคิดค่าประกาศจากจำเลย
จำเลยให้การว่า ข้อความที่จำเลยลงพิมพ์ตามฟ้องเป็นจดหมายของราษฎรที่มีตัวจริงส่งมา ไม่เป็นการหมิ่นประมาท เป็นการถามข้อสงสัย เพื่อจะได้ข้อเท็จจริงมาเสนอประชาชนตามหน้าที่ของจำเลยโดยสุจริต จำเลยมีเจตนาให้เป็นสาธารณะประโยชน์ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมา จำเลยก็ได้ลงพิมพ์ให้ประชาชนทราบ และจำเลยต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย
ในวันพิจารณา จำเลยแถลงรับว่าจำเลยได้ลงพิมพ์มีข้อความพาดพิงถึงโจทก์จริงตามฟ้อง ความจริงจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ เมื่อมีคนมาขอให้ลงพิมพ์ก็ลงให้ เมื่อมีผู้ขอแก้ก็แก้ให้ และโจทก์รับว่าจำเลยได้นำหนังสือของผู้ว่าราชการจังหวัดลงพิมพ์จริง
แล้วโจทก์จำเลยแถลงว่าไม่ติดใจสืบพยาน คดีเป็นอันเสร็จสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๓ (๓) จำคุก ๑ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท โทษจำให้รอไว้ และให้จำเลยนำคำพิพากษาประกาศหนังสือพิมพ์ ๑ เดือน ใน ๑๕ วัน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยนำลงพิมพ์ เป็นการกล่าวติเตียนหรือหาว่าเทศบาลจ้างโจทก์มาคุมงานทำทางสายช่องฆ้องโดยไม่จำเป็น ย่อมเข้าใจว่านายเมืองโจทก์เป็นผู้รับรายได้ในการนี้ ประโยคที่ว่าเป็นการแย่งกินเงินของเทศบาลอย่างน่าละอาย และตอนท้ายก็ว่าเอาเงินไปจ่ายในพวกเดียวกัน เหล่านี้เป็นข้อความที่อาจทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง อาจทำให้ถูกคนดูหมิ่น ผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๘๒ ตอน ๒ ให้ปรับ ๕๐๐ บาทสถานเดียว และให้ประกาศหนังสือพิมพ์ ๑ เดือน ข้อเถียงว่าจำเลยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เป็นแต่เพียงลงจดหมายของผู้ส่งมาไม่ควรผิด ฟังไม่ขึ้นบรรณาธิการต้องรับผิดชอบในข้อความที่ลงพิมพ์โดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง ถ้าเพียงจะถือว่า มีความรู้เพียงว่า เมื่อมีใครมาขอให้ลงพิมพ์ก็ลงให้เท่านั้นแล้ว จำเลยก็หาควรได้รับอนุญาตให้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวไม่ จำเลยจึงต้องมีผิด