แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในความผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมหนังสือแม้กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 229 และ 230 กำหนดโทษจำคุก ตั้งแต่ 5 ปี ขึ้นไปจนถึง 10 ปีก็จริง แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161 กำหนดโทษว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ซึ่งไม่กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ เมื่อกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะศาลทำการพิจารณาเป็นเช่นนี้ ในการวินิจฉัยกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 จึงต้องถือเอาตามนั้น แม้จะไม่ได้ระบุว่า มาตรา ใดตรงกับมาตรา ของกฎหมายเดิมมาตราไหน แต่ก็อาจเห็นจากบทบัญญัติของกฎหมายเก่า และใหม่ได้อยู่ในตัวแล้ว เมื่อจำเลยรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจึงสั่งไม่ให้สืบพยาน เช่นนี้ ย่อมเป็นการชอบแล้ว เพราะการที่ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์หรือไม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณา (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 22/2503)
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี จำเลยจะฎีกาว่า จำเลยมีเหตุบรรเทาโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 โดยบิดาจำเลยได้นำเงินส่วนตัวมอบให้ผู้เสียหายหมดสิ้นแล้ว และว่าการที่ศาลมิให้จำเลยสืบพยาน ทำให้ศาลไม่ทราบถึงข้อควรคำนึงตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ดังนี้ หาได้ไม่ เพราะการฎีกาดังกล่าวขัดกับที่ปรากฏในรายงานพิจารณาที่ว่า จำเลยแถลงว่าจำเลยไม่สามารถหาเงินมาชำระแก่เจ้าทุกข์ ได้ จำเลยขอให้ศาลพิพากษาไป การที่จำเลยบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เป็นปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้าม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยรับสารภาพ ฟังได้ว่าจำเลยรับราชการเป็นหัวหน้าแผนกคลัง กรมอัยการมีหน้าที่ปกครองรักษาเงินรับและจ่ายเงินของทางราชการกรมอัยการและมีหน้าที่เขียนเช็คธนาคารแห่ง ประเทศไทย เพื่อเบิกเงินของกรมอัยการมาจ่าย จำเลยใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตเขียนเช็คปลอมโดยเติมจำนวนที่เบิก เบิกเกินกว่า ที่ต้องเบิกจริง แล้วจำเลยเอาเงินส่วนเบิกมาเกินนั้นเป็นประโยชน์ส่วนตัว ทั้งจำเลยยังได้เบียดบังเอาเงินต่าง ๆ ที่จำเลยรักษาตาม หน้าที่มาเป็นประโยชน์ส่วนตน และ บอกให้เจ้าหน้าที่ลงบัญชีลงรายการเท็จ
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสองว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้อง คือ กฎหมายที่โจทก์ฟ้อง คือ กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๑๓๑, ๒๒๒, ๒๒๓, ๒๒๔ , ๒๒๕, ๒๒๗, ๒๒๙, ๒๓๐, ๓๐๔, ๓๑๙ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๑, ๑๕๗, ๑๖๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๒๖๘, ๓๔๑ แต่ให้ลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นกฎหมายในส่วนที่ เป็นคุณแก่จำเลย จำคุกจำเลย ๘ ปี ตามมาตรา ๑๔๗ อันเป็นกระทงที่หนักที่สุดตามมาตรา ๙๑ จำเลยรับลดกึ่งตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๔ ปี กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังขาด ๔๖๔,๒๘๖.๕๓ บาท แก่ กรมอัยการ
ข้อกฎหมายที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๒๙ กับ ๒๓๐ ไม่มีการสืบพยานตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในความผิดฐานเจ้าพนักงานปลอมหนังสือ กฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๒๙ และ ๒๓๐ กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ ๕ ปี ขึ้นไปจนถึง ๑๐ ปี ก็จริง แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑ กำหนดโทษว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี ซึ่งไม่มีกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำ เมื่อกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะศาลทำการพิจารณาเป็นเช่นนี้ ในการวินิจฉัย กรณีตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ จึงต้องถือเอาตามนั้น แม้จะไม่ได้ระบุว่า มาตราใดตรงกับมาตรา ของกฎหมายเดิมมาตราไหน แต่ก็อาจเห็นจากบทบัญญัติของกฎหมายเก่า และใหม่ได้อยู่ในตัวแล้ว ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่ศาลจะต้องฟังพยานโจทก์หรือไม่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่ให้สืบพยาน จึงเป็นการชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๖) พ.ศ.๒๔๙๙มาตรา ๑๑ แล้ว
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีเหตุบรรเทาโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ โดยบิดาจำเลยได้นำเงินส่วนตัวมอบให้กรมอัยการหมดสิ้นแล้ว และว่าการที่ศาลมิให้จำเลยสืบพยาน ทำให้ศาลไม่ทราบถึงข้อที่ควรคำนึงตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ นั้น ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ ๒๐ พ.ค. ๒๕๐๑ ว่า จำเลยแถลงว่าจำเลยไม่สามารถาชำระแก่เจ้าทุกข์ ได้ตามที่เคยแถลงไว้ จำเลยขอให้ศาลพิพากษาคดีไป การที่จำเลยบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเช่นนี้ ศาลฎีกาเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ จึงไม่รับวินิจฉัย