คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12146/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศ. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เคยเป็นภริยาของ น. และได้เสนอขอเช่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 1 โดยรู้เห็นกับ น. ไวยาวัจกรของจำเลยที่ 1 เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการร่วมหาประโยชน์จากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต ย่อมทำให้เห็นได้ว่า ศ. สมรู้ร่วมคิดกับ น. ซึ่งเป็นไวยาวัจกรของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ตามกฎมหาเถรสมาคม (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2536 ในการดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ ได้กระทำการฝ่าฝืนอำนาจหน้าที่ของตน มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโจทก์คู่สัญญาโดย ศ. ผู้แทนโจทก์ซึ่งเคยเป็นภริยาของตนเอง ถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 411 ที่โจทก์ผู้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี หาอาจเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องคืนเงินตามเช็คจำนวน 1,000,000 บาท ที่สั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อจะได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ตามฟ้องจากจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 1,532,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,426,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 มิถุนายน 2554) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ทั้งนี้ค่าฤชาธรรมเนียมให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูก ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2) ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาประการแรกว่า เงินที่โจทก์สั่งจ่ายตามเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2552 จำนวน 1,000,000 บาท เป็นเงินมัดจำตามกฎหมาย เมื่อจำเลยทั้งสองไม่สามารถส่งมอบที่ดินและอาคารพาณิชย์แก่โจทก์ตามสัญญาเช่าได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยเป็นยุติว่า นายนินนาไทถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2552 และถูกพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553 นายนินนาไทไม่มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินต่อไปและถือว่าขาดคุณสมบัติของการเป็นไวยาวัจกรด้วย นอกจากนี้นางสาวศศิวิมลกรรมการผู้จัดการโจทก์เคยเป็นภริยาของนายนินนาไทมีบุตรด้วยกัน 2 คน ข้อมูลเกี่ยวกับค่าเช่าที่นำมาคำนวณเพื่อเสนอขอเช่าจากจำเลยที่ 1 ก็ได้มาจากนายนินนาไทอันเป็นพฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการร่วมกันหาประโยชน์จากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นวัดโดยไม่สุจริต การที่พระเทพเวทีเจ้าอาวาสขณะนั้นทำหนังสือมอบอำนาจให้นายนินนาไทเป็นผู้มีอำนาจทำสัญญาเช่ากับโจทก์หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และนายนินนาไทขาดคุณสมบัติที่จะเป็นไวยาวัจกรต่อไป จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า นางสาวศศิวิมลกรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เคยเป็นภริยาของนายนินนาไท และได้เสนอขอเช่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์จากจำเลยที่ 1 โดยรู้เห็นกับนายนินนาไทไวยาวัจกรของจำเลยที่ 1 เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการร่วมหาประโยชน์จากจำเลยที่ 1 โดยไม่สุจริต ย่อมทำให้เห็นได้ว่านางสาวศศิวิมลสมรู้ร่วมคิดกับนายนินนาไทซึ่งเป็นไวยาวัจกรของจำเลยที่ 1 มีอำนาจหน้าที่ตามกฎมหาเถรสมาคม (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2536 ในการดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ ได้กระทำการฝ่าฝืนอำนาจหน้าที่ของตน มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโจทก์คู่สัญญาโดยนางสาวศศิวิมลผู้แทนโจทก์ซึ่งเคยเป็นภริยาของตนเองถือเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 411 ที่โจทก์ผู้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี หาอาจเรียกร้องคืนทรัพย์ได้ไม่ โจทก์จึงไม่อาจเรียกร้องคืนเงินตามเช็ค จำนวน 1,000,000 บาท ที่สั่งจ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อจะได้ทำสัญญาเช่าที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ตามฟ้องจากจำเลยที่ 1 กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เงินจำนวน 1,000,000 บาท ดังกล่าว เป็นมัดจำตามกฎหมายหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ทุนทรัพย์ในชั้นฎีกามีจำนวน 1,000,000 บาท โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ 1,532,950 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาแก่โจทก์
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินจากทุนทรัพย์ 1,000,000 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากนี้ให้เป็นพับ

Share