คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1299/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภคต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้เป็นพิเศษแล้ว บทบัญญัติในเรื่องการอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภคได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินไปจากโจทก์เป็นเงิน 1,336,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราคงที่ในระยะเวลา 3 ปี แรก คือ ปีที่ 1 อัตราร้อยละ 6.25 ต่อปี ปีที่ 2 อัตราร้อยละ 6.75 ต่อปี ปีที่ 3 อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.25 ต่อปี หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ เอ็ม.อาร์. อาร์. ครบกำหนดชำระให้แล้วเสร็จภายใน 14 ปี หากจำเลยไม่ชำระงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าจำเลยผิดนัดยอมให้โจทก์ฟ้องเรียกต้นเงินและดอกเบี้ยคืนได้ทันทีและหากจำเลยค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี ยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไปทบเข้ากับต้นเงินด้วย กรณีที่มีเหตุจำเป็นโจทก์อาจเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศกระทรวงการคลัง โดยจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 36238 และ 83967 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์ จำเลยยอมให้โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองไว้โดยจำเลยเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยและเมื่อกรมธรรม์ประกันภัยสิ้นสุดการคุ้มครองหากจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยและโจทก์ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันแทนจำเลย ให้จำเลยนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยมาชำระให้แก่โจทก์จนครบ หรือให้สิทธิโจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวรวมเข้ากับยอดเงินกู้ที่ค้างชำระด้วย ต่อมาจำเลยมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนโดยชำระเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 เป็นเงิน 18,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยไม่ได้ชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์อีก โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,722,296.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,310,262.65 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และชำระค่าเบี้ยประกันภัย 2,514.80 บาท ทุกๆ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,344,106.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ของต้นเงิน 1,310,262.65 บาท นับถัดจากวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 36238 และ 83967 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีบริโภควินิจฉัยว่า “เห็นว่า ตามพระราชบัญบัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 46 กำหนดให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภค ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่ง ประกอบกับมาตรา 49 วรรคสอง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 52 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคให้เป็นที่สุด” แสดงให้เห็นว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มีเจตนารมณ์ที่กำหนดให้คดีผู้บริโภคต้องดำเนินคดีไปตามลำดับชั้นศาล และให้คดีถึงที่สุดในชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคเพียงเท่านั้น เว้นแต่กรณีที่คู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาทหรือในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะหรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นตามที่บัญญัติไว้ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ข้อ 40 เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาอาจใช้ดุลยพินิจที่จะอนุญาต หรือไม่อนุญาตก็ได้ตามบทบัญญัติแพ่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 51 ดังนั้นคดีผู้บริโภคจะขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคได้ก็แต่เฉพาะกรณีที่คู่ความยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคพร้อมคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลชั้นต้นเพื่อส่งให้แก่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณา และศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาแล้วเท่านั้น แม้พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 จะบัญญัติว่า “กระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาตามมาตรา 6 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม” ก็ตาม แต่การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีผู้บริโภคต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ซึ่งบัญญัติเรื่องการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้เป็นพิเศษแล้ว แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ใช้บังคับแก่คดีแพ่งสามัญทั่วไปแตกต่างจากเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ดังกล่าวบทบัญญัติในเรื่องการอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ จึงไม่สามารถนำมาปรับใช้ในคดีผู้บริโภคซึ่งบัญญัติถึงวิธีพิจารณาคดีไว้เป็นพิเศษแล้วได้ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาในคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยชี้ขาดต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษา

Share