คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1364/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำทางเข้าออกจากที่ดินของจำเลยสู่ทางสาธารณะโดยทำจากถนนคูหามุข ซอยจินากุล อันเป็นทางสาธารณะซึ่งอยู่ห่างที่ดินของโจทก์ประมาณ 200 เมตรเข้ามาในที่ดินของจำเลยจรดกับที่ดินของโจทก์ มีความกว้างประมาณ 5 เมตร ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางที่จำเลยทำขึ้นในที่ดินของจำเลยดังกล่าวเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะ ตามคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงถึงความกว้างยาวของทางที่โจทก์ต้องการให้จำเลยเปิดเป็นทางจำเป็นโดยแจ้งชัดแล้ว ส่วนปัญหาว่าทางดังกล่าวจะคิดเป็นเนื้อที่เท่าใดนั้นมิใช่สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์จำต้องบรรยายในคดี คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางที่จำเลยทำขึ้นในที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ มิได้บรรยายว่าเดิมที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันต่อมามีการแบ่งแยกกันเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นจากที่ดินของจำเลยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในส่วนที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องดังกล่าวจึงไม่ชอบ
โจทก์เคยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู้ทางสาธารณะ และในขณะยื่นฟ้องผู้เช่าที่ดินของโจทก์ทำสวนผลไม้ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินแทนโจทก์มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลย
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่าทางพิพาทมีความกว้าง 3 เมตร โจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาขอให้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นว่า ทางพิพาทมีความกว้าง 5 เมตร ตามสภาพความเป็นจริงเป็นการขอนอกเหนือไปจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 โจทก์จะต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาเข้ามา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 จะเพียงแต่ขอมาในคำแก้ฎีกาหาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 29078 โดยรับโอนมาจากบิดา ที่ดินของโจทก์เป็นที่สวนกำลังจะปรับปรุงเป็นที่อยู่อาศัย ที่ดินดังกล่าวอยู่ติดเป็นผืนเดียวกันกับที่ดินโฉนดเลขที่ 23483 ของจำเลย ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางที่จำเลยทำขึ้นในที่ดินของจำเลยกว้างประมาณ 5 เมตร เป็นทางออกสู่ทางสาธารณะซึ่งอยู่ห่างจากที่ดินของโจทก์ประมาณ 200 เมตร ทางที่จำเลยทำขึ้นในที่ดินของจำเลย จึงเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยได้ปลูกสร้างรั้วปิดกั้นทางดังกล่าวไว้ เป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่สามารถใช้ทางดังกล่าวเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วที่ปลูกสร้างปิดกั้นทางดังกล่าวออกไปและเปิดทางจำเป็นให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอน ให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนเองโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 29078 มาโดยมีข้อกำหนดตามพินัยกรรมห้ามมิให้จำหน่ายจ่ายโอนที่ดินแปลงดังกล่าวในระหว่างที่นางทัศนีย์หรือกนกลักษณ์ มารดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ หากโจทก์ทำผิดเงื่อนไขที่ดินดังกล่าวก็จะตกได้แก่มูลนิธิคุณแม่เอี่ยม แต่โจทก์พยายามหลีกเลี่ยงฝ่าฝืนโดยจดทะเบียนยกเลิกข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวโดยทุจริตและมิได้ดำเนินการจัดตั้งมูลนิธิ เมื่อโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในพินัยกรรมการได้ที่ดินแปลงดังกล่าวของโจทก์จึงยังไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลย เนื่องจากโจทก์ไม่ได้พักอาศัยและไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ที่จำเลยกั้นทางพิพาทก็เพื่อป้องกันผลอาสินของจำเลยเท่านั้น มิได้ปิดกั้นไม่ให้โจทก์เข้าออกแต่อย่างใด ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เนื่องจากตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยเปิดทางจำเป็นมีความกว้างยาวเท่าใดจากจุดใดถึงจุดใดในที่ดินของจำเลยและคิดเป็นเนื้อที่เท่าใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 23983 เลขที่ดิน 26 ตำบลสะแตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ของจำเลย เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 29078 เลขที่ดิน 30 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา ของโจทก์ ให้จำเลยเปิดทางพิพาทดังกล่าวและให้จำเลยรื้อรั้วที่ปลูกสร้างปิดกั้นทางเข้าออก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาเป็นว่า ให้จำเลยเปิดทางพิพาทตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มีขนาดความกว้าง 2 เมตร ยาวตลอดที่ดินโฉนดเลขที่ 23983 ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา เป็นทางจำเป็นสำหรับที่ดินของโจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 29078 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 23983 ที่ดินทั้งสองแปลงตั้งอยู่ที่ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา โดยมีอาณาเขตติดกันที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะส่วนที่ดินของจำเลยมีทางออกสู่ทางสาธารณะตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าตามคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายให้เห็นว่าโจทก์มีความประสงค์จะเปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยกว้างยาวเท่าใด คิดเป็นเนื้อที่เท่าใดนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำทางเข้าออกจากที่ดินของจำเลยสู่ทางสาธารณะโดยทำจากถนนคูหามุข ซอยจินากุล (เลี่ยมอุทิศ) อันเป็นทางสาธารณะซึ่งอยู่ห่างที่ดินของโจทก์ประมาณ 200 เมตรเข้ามาในที่ดินของจำเลยจรดกับที่ดินของโจทก์ มีความกว้างประมาณ 5 เมตร ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะโจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางที่จำเลยทำขึ้นในที่ดินของจำเลยดังกล่าวเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะ ตามคำฟ้องของโจทก์จึงได้แสดงดึงความกว้างยาวของทางที่โจทก์ต้องการให้จำเลยเปิดเป็นทางจำเป็นโดยแจ้งชัดแล้ว ส่วนปัญหาว่าทางดังกล่าวจะคิดเป็นเนื้อที่เท่าใดนั้นหาใช่สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์จำต้องบรรยายในคดีนี้ไม่ คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง หาได้เคลือบคลุมดังที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่วินิจฉัยว่า เดิมที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน หลังจากแบ่งแยกกันแล้วทำให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยจึงเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบเพราะโจทก์ฟ้องแต่เพียงว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะขอเปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยเท่านั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์มีความจำเป็นต้องใช้ทางที่จำเลยทำขึ้นในที่ดินของจำเลยเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะหาได้บรรยายว่าเดิมที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน ต่อมามีการแบ่งแยกกันเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสูทางสาธารณะ อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาทางจำเป็นจากที่ดินของจำเลยไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในส่วนนี้จึงไม่ชอบตามที่จำเลยฎีกา อย่างไรก็ตามที่โจทก์ฟ้องว่า ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์นั้น จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธ คงให้การปฏิเสธแต่เพียงว่าการได้มาซึ่งที่ดินของโจทก์ไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งไม่มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้กับจำเลยให้การปฏิเสธว่า โจทก์ไม่เคยพักอาศัยและไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เปิดทางจำเป็นเท่านั้น ในข้อนี้จำเลยฎีกาว่าโจทก์พักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่รับโอนที่ดินมาโจทก์ไม่เคยพักอาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ทางพิพาท ปัญหานี้โจทก์และนางประนอมสุวรรณ พยานโจทก์เบิกความว่า ปัจจุบันโจทก์ให้นางอมรรัตน์ ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งมีศักดิ์เป็นป้าโจทก์เช่าที่ดินของโจทก์ทำสวนผลไม้ จำเลยไม่ได้นำสืบเป็นอย่างอื่นทั้งยังเบิกความว่า เวลาที่โจทก์ต้องการใช้ทางพิพาทเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จำเลยก็ไม่เคยหวงห้าม ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์เคยใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะ และนางอมรรัตน์ผู้เช่าที่ดินของโจทก์ทำสวนผลไม้ซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินแทนโจทก์ย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกเช่นเดียวกัน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองรับฟังสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93 ที่บัญญัติว่าการอ้างเอกสารเป็นพยานนั้นให้ยอมรับฟังได้แต่ต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่จะเป็นข้อยกเว้นตามกฎหมายนั้น เห็นว่า ในการนำสืบของจำเลยในปัญหาที่จำเลยอ้างว่าการได้มาซึ่งที่ดินของโจทก์ไม่สมบูรณ์นั้น จำเลยก็อ้างสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.1 เช่นกัน ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยเองก็ยอมรับว่าเอกสารหมาย จ.1 เป็นเอกสารที่รับฟังได้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ที่โจทก์ยื่นคำแก้ฎีกาว่า ขอให้พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นว่า ทางพิพาทมีความกว้าง 5 เมตร ตามสภาพความเป็นจริงนั้น เห็นว่า เป็นการขอนอกเหนือไปจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 โจทก์จะต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาเข้ามา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 จะเพียงแต่ขอมาในคำแก้ฎีกาหาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share