คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1867/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมจี้ขู่ผู้เสียหายและเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายและรถยนต์ของบิดาของผู้เสียหายไป เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจำเลยก็ต้องรับโทษหนักขึ้น แม้ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่ต้นแขนซ้ายจากมีดของจำเลยเนื่องจากอุบัติเหตุ จำเลยไม่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการที่จำเลยจะรับโทษหนักขึ้นด้วยเหตุที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น จำเลยไม่จำต้องกระทำโดยมีเจตนา เพียงแต่พิจารณาว่าผลที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น เป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตาม ป.อ. มาตรา 63 หรือไม่ เมื่อจำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหายการที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจากมีดนั้นจึงย่อมเป็นผลธรรมดาที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามมาตรา 339 วรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2543 เวลากลางวัน จำเลยพาอาวุธมีดปอกผลไม้ปลายแหลมยาวประมาณ 6 นิ้ว ติดตัวไปตามถนนกาญจนวนิช อันเป็นเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วจำเลยลักเอารถยนต์ หมายเลขทะเบียน กจ 970 สงขลา ราคา 320,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ราคา 13,000 บาท ของนายชูศักดิ์ ขณะอยู่ในความครอบครองดูแลของนางสาววรุณพร ผู้เสียหาย โดยในการลักทรัพย์จำลยใช้อาวุธมีดดังกล่าวจี้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะแทงทำร้ายผู้เสียหาย เพื่อให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์และให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ผู้เสียหายดิ้นรนขัดขืนทำให้อาวุธมีดบาดถูกแขนซ้ายได้รับอันตรายแก่กาย เหตุเกิดที่ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม, 371, 91 และให้จำเลยคืนรถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสาม, 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย จำคุก 12 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท รวม 2 กระทง จำคุก 12 ปี และปรับ 100 บาท คำรับในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน ตลอดจนทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา และภายหลังเกิดเหตุจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายด้วยการชดใช้ค่าเสียหายบางส่วนจนเป็นที่พอใจแก่เจ้าของรถยนต์คันที่เกิดเหตุ นับว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี และปรับ 50 บาท ให้จำเลยคืนรถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าวแก่ผู้เสียหาย ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ชิงเอาไป หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 13,000 บาท แก่นายชูศักดิ์ บิดาของผู้เสียหาย ยกคำขอที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคารถยนต์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยพาอาวุธมีดปลายแหลมติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร กับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 01 – 4653731 จำนวน 1 เครื่อง ของนางสาววรุณพร ผู้เสียหายกับรถยนต์หมายเลขทะเบียน กจ 970 สงขลา ของนายชูศักดิ์ บิดาของผู้เสียหายที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไป และผู้เสียหายถูกอาวุธมีดของจำเลยเป็นบาดแผลฉีกขาดยาว 3 เซนติเมตร ลึกใต้ผิวหนังที่ต้นแขนซ้ายตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย จ.6 ต่อมาบริษัทประกันภัยรถยนต์ได้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 240,000 บาท กับฝ่ายจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่ารถยนต์ให้นายชูศักดิ์อีก 80,000 บาท จำเลยมีความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามคำพิพากษาศาอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีเจตนาตั้งแต่แรกที่จะขู่เข็ญประสงค์ต่อทรัพย์ทั้งสองรายการ ผู้เสียหายส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้จำเลยด้วยความสมัครใจ จำเลยเจตนาเอาทรัพย์ทั้งสองรายการไปใช้ชั่วคราวและจะคืนให้ภายหลัง เพราะจำเลยบอกผู้เสียหายว่าให้ไปรับรถคืนที่สถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟอำเภอหาดใหญ่แห่งใดแห่งหนึ่ง ขณะจำเลยขับรถที่ผู้เสียหายนั่งอยู่ ผู้เสียหายสามารถเปิดประตูหลบหนีออกมาได้ ผู้เสียหายสามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ผู้เสียหายไม่ได้ร้องขอความช่วยเหลือ แสดงว่าผู้เสียหายสมัครใจบอกเส้นทางให้แก่จำเลย ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่ต้นแขนซ้ายจากมีดของจำเลยเนื่องจากอุบัติเหตุ จำเลยไม่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย โจทก์มีผู้เสียหายเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 10 นาฬิกา ผู้เสียหายขับรถยนต์ หมายเลขทะเบียน กจ 970 สงขลา เป็นระบบเกียร์อัตโนมัติ ไปจอดที่หน้าอาคารพลศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผู้เสียหายลงจากรถและกำลังจะล็อกประตู จำเลยได้เข้ามาประชิดตัวผู้เสียหาย ใช้มีดปอกผลไม้ปลายแหลมจี้หน้าท้องของผู้เสียหาย จำเลยให้ผู้เสียหายไขกุญแจรถแล้วพาจำเลยออกไป โดยบอกว่าให้ช่วยพาจำเลยหนี เนื่องจากจำเลยหนีคดีมา จำเลยฆ่าคนตายในโรงพยาบาลมาแล้ว จำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่จะทำร้ายผู้เสียหายและไม่ได้ขู่เอาทรัพย์สินของผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงหันไปไขกุญแจรถ ผู้เสียหายเห็นว่าบริเวณแขนซ้ายมีเลือดไหลออกมา ไม่ทราบว่าไปโดนคมมีดตอนไหน เข้าใจว่าคงจะโดนตอนที่กลับตัวมาไขกุญแจรถ บาดแผลจึงไม่ได้เกิดจากจำเลยมีเจตนาใช้มีดทำร้ายผู้เสียหาย ผู้เสียหายเปิดประตูรถออก ตอนแรกผู้เสียหายจะเป็นคนขับ แต่จำเลยบอกว่าไม่ต้องให้ผู้เสียหายไปนั่งตรงที่นั่งข้างคนขับ ผู้เสียหายจึงมอบกุญแจรถให้จำเลย จำเลยเข้าไปนั่งที่นั่งคนขับ ไขกุญแจล็อกเกียร์ แต่ไขไม่ออก ผู้เสียหายจึงไขให้ แล้วให้กุญแจรถแก่จำเลย จำเลยใช้มือขวาข้างเดียวถือพวงมาลัย มือซ้ายถือมีดหันปลายมีดมาทางผู้เสียหาย จำเลยขับรถวนในมหาวิทยาลัยประมาณ 5 นาที เพื่อหาทางออก แต่หาทางออกไม่ได้ ผู้เสียหายจึงบอกให้จำเลยขับรถออกประตูด้านข้างซึ่งเรียกว่าประตูร้อยแปด ซึ่งที่ประตูนั้นมีพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ แต่ไม่ได้สนใจ เมื่อออกจากมหาวิทยาลัย จำเลยต่อรองให้ไปส่งที่จังหวัดพัทลุง แต่ผู้เสียหายบอกว่าไกลไป แล้วจำเลยให้ผู้เสียหายไปส่งที่สถานีขนส่งอำเภอหาดใหญ่ เมื่อไปถึงจำเลยขับรถวนเวียนดูว่ามีรถโดยสารออกหรือไม่ แต่พบว่าไม่มี จำเลยจึงขับรถไปที่สนามบิน ก่อนถึงประมาณ 3 กิโลเมตร จำเลยเลี้ยวรถเข้าซอยไปหาตู้โทรศัพท์ แต่ไม่อาจใช้ได้ จำเลยได้ขอยืมโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่ทราบว่าจำเลยโทรศัพท์พูดกับใคร แต่ได้ความที่จำเลยพูดว่า ทำงานเสร็จแล้ว ให้เช็คเส้นทางหลบหนี หลังจากนั้นจำเลยขับรถต่อไปอีกประมาณ 15 นาที จำเลยได้ขอบัตรประจำตัวประชาชนจากผู้เสียหาย ผู้เสียหายส่งใบอนุญาตขับรถให้จำเลย จำเลยได้จดชื่อที่อยู่ของผู้เสียหายไว้และคืนใบอนุญาตขับรถให้ผู้เสียหาย ระหว่างอยู่บนรถจำเลยไม่ได้ใช้มีดจี้ผู้เสียหายตลอดเวลา บางครั้งจำเลยก็วางมีดลง แต่จำเลยขู่ผู้เสียหายไม่ให้ไปแจ้งความ จำเลยไม่ได้เอาทรัพย์สินอย่างอื่นของผู้เสียหายไปเว้นแต่รถยนต์และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้เสียหายขอร้องไม่ให้จำเลยเอารถไป จะให้ผู้เสียหายไปส่งที่ไหนก็ได้ จากการพูดคุยกับจำเลย ผู้เสียหายสังเกตเห็นว่าจำเลยพูดจาเกินเลยความจริง เนื่องจากผู้เสียหายทราบภายหลังที่เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้แล้วว่า ขณะที่จำเลยโทรศัพท์อยู่ในรถ จำเลยพูดคุยกับคนรักของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยขับรถต่อมาอีกสักพักและบอกให้ผู้เสียหายลงจากรถไป จำเลยบอกว่าให้ผู้เสียหายไปรับรถที่สถานีขนส่งอำเภอหาดใหญ่ สถานีรถไฟอำเภอหาดใหญ่หรือสนามบินหาดใหญ่ที่ใดที่หนึ่ง นับแต่ที่จำเลยใช้มีดจี้ผู้เสียหายจนถึงเวลาที่ผู้เสียหายลงจากรถใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นผู้เสียหายนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้างกลับไปที่บ้านเล่าเรื่องให้บิดามารดาฟัง ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจมาที่บ้านและพาผู้เสียหายไปที่สถานีตำรวจ ผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.4 พนักงานสอบสวนทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.5 และไปรักษาบาดแผลที่โรงพยาบาล เห็นว่า ผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุผลที่จะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย คำเบิกความได้ความเป็นลำดับต่อเนื่องสมเหตุสมผล ไม่ขัดแย้งกัน ไม่มีข้อพิรุธน่าสงสัย ทั้งสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งผู้เสียหายให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันรุ่งขึ้นหลังเกิดเหตุ ผู้เสียหายไม่มีเวลาที่จะคิดไตร่ตรองเพื่อให้การแตกต่างจากความเป็นจริง เชื่อว่าผู้เสียหายให้การและเบิกความตามข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายได้พบเห็น แม้ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายสามารถขอความช่วยเหลือจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แต่ผู้เสียหายไม่ได้ทำ ทั้งไม่ได้เปิดประตูรถหลบหนีออกมาก็ตาม แต่พฤติการณ์ดังกล่าวจะฟังว่าผู้เสียหายสมัครใจช่วยเหลือจำเลยหาได้ไม่ เพราะผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุที่ผู้เสียหายต้องทำเช่นนั้น และขณะเกิดเหตุจำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหายด้วย เชื่อว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้หญิงอยู่ในเหตุการณ์เช่นนั้น ย่อมตกใจกลัวไม่กล้าที่จะกระทำดังที่จำเลยฎีกา แม้ผู้เสียหายจะเบิกความว่า จำเลยได้ขอยืมโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้เสียหายไปโทรศัพท์ติดต่อกับผู้อื่น และจำเลยขับรถไปที่สถานีขนส่งอำเภอหาดใหญ่และสนามบินหาดใหญ่ เป็นลักษณะทำนองว่าจำเลยใช้รถของผู้เสียหายเพื่อขับไปขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่งอำเภอหาดใหญ่และขึ้นเครื่องบินที่สนามบินหาดใหญ่และจำเลยยังบอกผู้เสียหายก่อนที่จะให้ผู้เสียหายลงจากรถไปว่า ให้ผู้เสียหายไปรับรถที่สถานีขนส่งอำเภอหาดใหญ่ สถานีรถไฟอำเภอหาดใหญ่หรือสนามบินหาดใหญ่ที่ใดที่หนึ่ง อันเป็นลักษณะว่าจำเลยไม่ประสงค์ต่อรถยนต์ที่ผู้เสียหายขับและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายก็ตาม แต่เมื่อจำเลยไม่ได้นำรถยนต์ไปจอดที่สถานีขนส่งอำเภอหาดใหญ่ สถานีรถไฟอำเภอหาดใหญ่หรือสนามบินหาดใหญ่ตามที่บอกผู้เสียหายไว้ ทั้งยังได้ความจากจำเลยเบิกความยอมรับว่า ระหว่างจำเลยอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จำเลยได้ขายรถยนต์ที่ขับไปเพราะไม่มีเงินใช้จ่าย และได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยตามเอกสารหมาย ป.จ.2 ว่า จำเลยได้ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไปด้วย พฤติการณ์ของจำเลยถือว่า จำเลยเอารถยนต์ที่ผู้เสียหายขับและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยแล้ว ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมจี้ขู่ผู้เสียหายและเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายและรถยนต์ของบิดาของผู้เสียหายที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไป และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายเป็นผลให้จำเลยก็ต้องรับโทษหนักขึ้น แม้จำเลยจะฎีกาว่า ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่ต้นแขนซ้ายจากมีดของจำเลยเนื่องจากอุบัติเหตุ จำเลยไม่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหาย ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายเบิกความ ผู้เสียหายไม่ทราบว่าไปโดนคมมีดตอนไหน เข้าใจว่าคงจะโดนตอนที่กลับตัวมาไขกุญแจรถ บาดแผลจึงไม่ได้เกิดจากจำเลยมีเจตนาใช้มีดทำร้ายผู้เสียหายก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการที่จำเลยจะรับโทษหนักขึ้นด้วยเหตุที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น จำเลยไม่จำต้องกระทำโดยมีเจตนา เพียงแต่พิจารณาว่าผลที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น เป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63 หรือไม่ เมื่อการที่จำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจากมีดนั้น จึงย่อมเป็นผลธรรมดาที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธาณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท จึงมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2545 เมื่อนับแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2543 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยกระทำผิดแล้วเป็นเวลาเกิน 1 ปี ความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ด้วย จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share