แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ปัญหาเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจำเลยทั้งห้าชอบที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่ตามความหมายของมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรง แต่จะฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5
สำนวนแรกโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เรื่องละเมิดที่จำเลยที่ 5 ชี้และปักหลักหมุดกำหนดแนวเขตทางรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกให้การว่าการชี้แนวเขตทางของจำเลยไม่เป็นละเมิดขอให้ยกฟ้อง คดีจึงมีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้วพิพากษาว่าที่ดินยังเป็นของโจทก์ทั้งสอง มิได้ถูกเวนคืน แต่หากฝ่ายจำเลยก่อสร้างถนนบนที่ดินพิพาทแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 ก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินบนที่ดินพิพาทเสร็จแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงนำคดีมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกชดใช้ค่าเสียหาย จึงเป็นการยื่นคำฟ้องต่อเนื่องกันกับสำนวนแรก เพื่อเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่ศาลฎีกามิได้พิพากษาให้ การฟ้องสำนวนหลังจึงมิได้อาศัยมูลละเมิดอันเกิดจากการก่อสร้างทางในที่ดินพิพาทมาเป็นข้ออ้างเพื่อเป็นหลักแห่งข้อหา ฉะนั้นปัญหาตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ในสำนวนหลังจึงเป็นประเด็นแห่งคดีเหมือนกันกับสำนวนแรกจึงต้องห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในปัญหาดังกล่าวซ้ำอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยกเรื่องมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองขึ้นต่อสู้อีกไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยาและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6395 ตำบลคลองสามประเวศ (คลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งเหนือ) อำเภอลาดกระบัง (แสนแสบ) จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 8 ไร่ 8 ตารางวา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทกระทรวง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน – หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า พ.ศ.2522 และรักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ แขวงสวนหลวง แขวงประเวศ เขตพระโขนง และแขวงคลองสองต้นนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตัน – ลาดกระบัง พ.ศ.2532 จำเลยที่ 2 เป็นกรมในกระทรวงจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาฯ และเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จำเลยที่ 3 เคยเป็นนายช่างแขวงการทางกรุงเทพ ของกรมจำเลยที่ 2 ปัจจุบันจำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งแทนและได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่เวนคืน จำเลยที่ 5 เป็นนายช่างโยธาผู้แทนของกรมจำเลยที่ 2 โดยที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่าและทางแยกเข้าหนองงูเห่า พ.ศ.2522 และพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายคลองตัน-หนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2524 ประกาศใช้บังคับเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสองถูกเวนคืน เนื้อที่ 3 ไร่ 64 ตารางวา จำเลยที่ 2 แจ้งว่าโจทก์ทั้งสองได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่ถูกเวนคืนตารางละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 126,400 บาท โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และได้รับเงินค่าทดแทนเพิ่มรวมดอกเบี้ยเป็นเงิน 326,666.08 บาท เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขามีนบุรี แก้ไขหลักฐานตามโฉนดเลขที่ 6395 ของโจทก์ทั้งสองว่าที่ดินแปลงนี้บางส่วนเนื้อที่ 3 ไร่ 64 ตารางวา ตกเป็นของจำเลยที่ 2 (ทางหลวงสายคลองตัน-หนองงูเห่า) โดยการซื้อขาย คงเหลือเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 44 ตารางวา ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้รับแจ้งนัดให้ทำการรังวัดแบ่งแยกที่ดิน จำเลยที่ 5 เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 และได้รับมอบหมายจากนายช่างแขวงการทางจำเลยที่ 3 ในขณะนั้นซึ่งต่อมาคือจำเลยที่ 4 ซึ่งต่างเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยจำเลยที่ 5 กับพวกชี้เขตเวนคืนที่ดินโดยลำพัง ทำการปักหลักไม้และหลักเขตที่ดินแสดงแนวเขตเวนคืนเกินเขตเวนคืนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 เป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา ปัจจุบันราคาไร่ละ 7,500,000 บาท ส่วนที่ดินตามเขตเวนคืนก็เกินกว่าเนื้อที่ที่ถูกเวนคืน 25 ตารางวา ปัจจุบันราคาประมาณ 468,750 บาท โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องฝ่ายจำเลยเรื่องที่ดิน ละเมิดเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ปค. 152/2538 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยก่อสร้างทางบนที่ดินพิพาทไปแล้วก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6521/2541 เมื่อการก่อสร้างทางเสร็จแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ การกระทำของจำเลยทั้งห้าซึ่งรังวัดที่ดินเกินขอบเขตและเกินกว่าเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนรวมเป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ปัจจุบันราคา 25,762,500 บาท เป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์ทั้งสอง 25,762,500 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่ได้บรรยายฟ้องข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหายว่า จำเลยแต่ละคนกระทำการอย่างไรบ้างเมื่อใด ในที่ดินเนื้อที่เท่าใด ราคาที่ดินกำหนดอย่างไร ทำให้จำเลยทั้งห้าเสียเปรียบไม่เข้าใจคำฟ้องและหลงข้อต่อสู้ จำเลยที่ 5 ชี้แนวเขตไปตามแผนที่ก่อสร้าง โดยไม่ทราบว่าเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนในโฉนดแตกต่างกัน และมิได้กระทำการใดเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกเลย ทั้งไม่ได้รังวัดกับเขตที่ดินตามการชี้แนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 5 แต่อย่างไม่ได้รังวัดกับเขตที่ดินตามการชี้แนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 5 แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 5 แจ้งวางเงินค่าทดแทนให้โจทก์ทั้งสองทราบและเข้าไปทำการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2540 เป็นต้นไป กับก่อสร้างทางตามที่แจ้งนั้น ไม่เป็นการบุกรุกแต่เป็นการกระทำโดยสุจริตตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2538 ศาลชั้นต้นพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ปค.152/2538 ในมูลฟ้องเดียวกันว่าให้จำเลยใช้เงินค่าทดแทนที่ดินที่เวนคืนเนื้อที่เพิ่มขึ้น 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ตารางวาละ 1,500 บาท เป็นเงิน 2,061,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อจำเลยชำระหนี้แล้วจึงเข้าไปทำการก่อสร้างทาง การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ราคาที่ดินของโจทก์ทั้งสองขณะเวนคืนไม่เกินอัตราไร่ละ 100,000 บาท เพราะไม่ได้อยู่ในแหล่งเจริญ ไม่อยู่ในทำเลเหมาะสมแก่การประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม การคมนาคมยังไม่สะดวก เป็นที่ดินว่างเปล่า มีระดับต่ำน้ำท่วมขังและไม่มีทางเข้าออก โจทก์ทั้งสองเรียกร้องค่าเสียหายตามราคาที่ดินในปัจจุบัน จึงไม่ชอบธรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 18,892,500 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 มีนาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองกับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 4,122,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามทางนำสืบของคู่ความและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6395 ตำบลคลองสามประเวศ (คลองประเวศบุรีรมย์ฝั่งเหนือ) อำเภอลาดกระบัง (แสนแสบ) จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 8 ไร่ 8 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวอยู่ในบริเวณที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงแผ่นดิน สายคลองตันหนองงูเห่า และทางแยกเข้าหนองงูเห่า พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่แขวงหัวหมาก เขตบางกระปิ แขวงสวนหลวง แขวงประเวศ เขตพระโขนง และแขวงคลองสองตันนุ่น แขวงคลองสามประเวศ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 343 สายคลองตันลาดกระบัง พ.ศ.2532 โดยจะต้องถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่จำนวน 3 ไร่ 64 ตารางวา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทกระทรวง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลเป็นกรมในกระทรวงจำเลยที่ 1 มีอธิบดีเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาและเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชบัญบัตินั้น ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2537 โจทก์ทั้งสอง เจ้าพนักงานที่ดิน เจ้าของที่ดินข้างเคียง จำเลยที่ 5 ในฐานะนายช่างโยธาแขวงการทางกรุงเทพสังกัดจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 3 นายช่างแขวงการทางกรุงเทพสังกัดจำเลยที่ 2 (จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งแทนจำเลยที่ 3 ตั้งแต่ปี 2540) ให้ไปนำชี้เขตทางในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 และ 2 ซึ่งได้นำชี้และปักหลักหมุดกำหนดแนวเขตทางเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นเนื้อที่เกินกว่าที่กำหนดในบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่ต้องเวนคืนท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา สำหรับที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืน จำเลยที่ 5 ได้ชี้แนวเขตที่ดินเกินไปอีก 25 ตารางวา รวมแล้วจำเลยที่ 5 นำชี้ที่ดินและปลักหลักหมุดในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกินกว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนเป็นเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ตามแผนที่สังเขปเอกสารหมาย จ.4 โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 5 เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น ขอให้ห้ามจำเลยดังกล่าวและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นเนื้อที่ดิน 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา หรือชดใช้ค่าเสียหาย ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ปค. 152/2538 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในคดีนั้นว่า การที่จำเลยที่ 4 (จำเลยที่ 5 ในคดีนี้) นำชี้และวางหลักปักหลุดในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกินกว่าจำนวนเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสี่ (ในคดีนั้น) จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้วพิพากษาใจความว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6395 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสอง มิได้ถูกเวนคืน แต่หากฝ่ายจำเลยได้ก่อสร้างถนนบนที่ดินพิพาทไปแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6521/2541 ต่อมาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 4 ได้ดำเนินการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินบนที่ดินพิพาทเสร็จ และให้ประชาชนได้ใช้เส้นทางดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงนำคดีมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้…
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งห้าเป็นประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 หรือไม่โดยจำเลยทั้งห้าฎีกาว่า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่ตามความหมายในพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามฟ้องเป็นไปตามอำนาจหน้าที่อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ทั้งสองฟ้องหน่วยงานของรัฐ คือ จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตรง แต่จะฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าว แม้จำเลยทั้งห้าไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งในชั้นอุทธรณ์จำเลยทั้งห้าได้ยกปัญหานี้ข้ออุทธรณ์ด้วยแต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งห้าชอบที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ จึงเป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปตามที่จำเลยทั้งห้าฎีกา โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ก่อน และเห็นว่าจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นเจ้าหน้าที่ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เมื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อโจทก์ทั้งสองตามฟ้องเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 อันเป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรง แต่จะฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งห้าฟังขึ้น คดีจึงไม่จำต้องพิจารณาปัญหาอื่นตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อีกต่อไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประการต่อไปมีว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า ในคดีก่อนโจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างถึงการทำละเมิดว่า จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นจำเลยที่ 4 ในคดีนั้นชี้แนวทางรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสองและเรียกค่าเสียหายแต่คดีนี้เป็นเรื่องจำเลยที่ 2 ก่อสร้างทางเข้าไปในที่ดินของโจทก์ การกระทำละเมิดจึงเป็นคนละมูลกรณีกัน และก่อนที่จำเลยที่ 2 จะเข้าไปทำการก่อสร้าง จำเลยที่ 4 ได้มีหนังสือแจ้งโจทก์และนำเงินค่าทดแทนจำนวน 2,061,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ศาลชั้นต้นในคดีเดิมพิพากษาให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ไปวางศาลเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองเคยฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เรื่องละเมิดที่จำเลยที่ 5 ชี้และปักหลักหมุดกำหนดแนวเขตทางรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ปค.143/2537 คดีหมายเลขแดงที่ ปค.152/2538 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกต่อสู้คดีว่า การชี้แนวเขตทางของจำเลยไม่เป็นละเมิดขอให้ยกฟ้อง คดีจึงมีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองตามฟ้องหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาดังกล่าวแล้วว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกที่นำชี้และปักหลักหมุดกำหนดแนวเขตทางรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองแล้วพิพากษาใจความว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 6395 เนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา ยังคงเป็นของโจทก์ทั้งสองมิได้ถูกเวนคืน แต่หากฝ่ายจำเลยก่อสร้างถนนบนที่ดินพิพาทแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6521/2541 ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 ก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินบนที่ดินพิพาทเสร็จแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงนำคดีมาฟ้องใหม่เป็นคดีนี้ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกชดใช้ค่าเสียหาย เช่นนี้ฟ้องโจทก์ทั้งสองในคดีนี้ซึ่งเป็นสำนวนหลัง จึงเป็นการยื่นคำฟ้องต่อเนื่องกันกับสำนวนแรกที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกนำชี้และปักหลักหมุดกำหนดแนวเขตทางรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง โดยศาลฎีกาให้สิทธิโจทก์ทั้งสองที่จะยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หากฝ่ายจำเลยได้ก่อสร้างถนนบนที่ดินพิพาทแล้ว เพื่อเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากฝ่ายจำเลยที่ศาลฎีกาในสำนวนแรกมิได้พิพากษาให้ การฟ้องสำนวนหลังจึงหาได้อาศัยมูลละเมิดอันเกิดจากการก่อสร้างทางในที่ดินพิพาทมาเป็นข้ออ้างเพื่อเป็นหลักแห่งข้อหาดังที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาไม่ ฉะนั้นปัญหาตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ในสำนวนหลัง จึงเป็นประเด็นแห่งคดีเหมือนกันกับสำนวนแรก เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนเป็นคู่ความเดียวกัน และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาชี้ขาดไปแล้วสำนวนแรกว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ดังนั้น จึงต้องห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในปัญหาดังกล่าวซ้ำอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะยกเรื่องมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองขึ้นต่อสู้อีกไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ว่า มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ทั้งสอง และของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า การกำหนดเงินค่าทดแทนให้เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนต้องกำหนดให้อย่างเป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 โดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติ ซึ่งจำเลยที่ 1 เคยเพิ่มเงินค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 6395 เป็นตารางวาละ 18,000 บาท และนายผลทุเรียน ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4095 ไปจริง ทั้งศาลอุทธรณ์ในสำนวนแรกเคยวินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 18,892,500 บาท ฉะนั้นที่ดินพิพาทควรมีราคาตารางวาละ 18,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหาย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปก่อสร้างทางไม่เป็นละเมิด แต่หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิด ก็คงชำระเพียงเงินค่าทดแทนที่ถูกเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้นที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,061,000 บาท นั้น เห็นว่า ตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่อาจยกเรื่องมิได้กระทำละเมิดขึ้นต่อสู้ได้ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองจริง เช่นนี้โจทก์ทั้งสองย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อคดีนี้เป็นเรื่องละเมิดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รังวัดเอาที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกินกว่าแนวเขตที่ดินท้ายพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 ไปสร้างทางหลวงแผ่นดินอันเป็นทางสาธารณะไปแล้ว ซึ่งโจทก์ทั้งสองไม่อาจฟ้องเรียกคืนที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นของโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ต้องเสียที่ดินดังกล่าวไป จึงมิใช่เป็นกรณีที่เรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนย่อมไม่อาจนำวิธีการชดใช้เงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนตามกฎหมายมาบังคับดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาได้ ซึ่งค่าเสียหายที่เกิดจากมูลละเมิดนี้ย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่กระทำละเมิดและเป็นไปตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด การที่โจทก์ทั้งสองเรียกค่าเสียหายเป็นราคาที่ดินในปัจจุบันเทียบเคียงกับราคาที่นายผลขายที่ดินโฉนดเลขที่ 4095 ให้นายพิสิฐ กับพวก เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2539 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.3 นั้น นายพิสิฐเบิกความเป็นพยานโจทก์ทั้งสองว่าที่ดินแปลงที่ซื้อจากนายผลเนื้อที่ 595 ตารางวา ราคาตารางวาละ 18,750 บาท อยู่ติดถนนสายมอเตอร์เวย์ กรุงเทพ-ชลบุรี ด้านเข้ากรุงเทพมหานคร (ส่วนที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองอยู่ด้านนอกจากกรุงเทพมหานคร) ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเนื้อที่น้อยกว่าที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสอง ทั้งไม่ปรากฏว่ารูปลักษณะของที่ดินดังกล่าวเหมือนหรือแตกต่างกับที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองเพียงใด ประกอบวันที่ซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวหลังเกิดเหตุละเมิดในคดีนี้ เช่นนี้ ราคาที่ดินที่นายผลขายให้นายพิสิฐจึงไม่ใช่ราคาซื้อขายที่ดินของโจทก์ทั้งสอง ไม่อาจนำเอาราคาซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าวมากำหนดเป็นค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองเลยทีเดียว ส่วนเงินค่าทดแทนที่ดินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพิ่มให้แก่โจทก์ทั้งสองเป็นตารางวาละ 18,000 บาท ตามหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์เงินค่าทดแทนเอกสารหมาย จ.5 ก็เป็นเงินค่าทดแทนที่ดินอีกส่วนหนึ่งที่ถูกเวนคืนอันเนื่องจากการดำเนินการของฝ่ายจำเลยเพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 355 สายแยกทางหลวงพิเศษหมายเลข 36-บรรจบท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งที่ 2 ตามสำเนาพระราชกฤษฎีกาฯ เอกสารหมาย ล.25 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2539 จึงมิใช่ราคาที่ดินในวันที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำละเมิด ส่วนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในสำนวนแรกที่กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสองเป็นเงิน 18,892,500 บาท นั้นศาลฎีกาในคดีนั้นได้พิพากษาให้ยกคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ส่วนนี้แล้ว จึงไม่อาจนำผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นมารับฟังว่าโจทก์ทั้งสองได้รับค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนดังกล่าวได้ พฤติการณ์แห่งละเมิดจึงไม่ร้ายแรงมากนัก สมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่ดินให้โจทก์ทั้งสองตารางวาละ 10,000 บาท ที่ดินเนื้อที่ 3 ไร่ 1 งาน 74 ตารางวา รวมเป็นเงิน 13,740,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องตามที่โจทก์ทั้งสองขอเป็นต้นไป ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ทางพิจารณาได้ความว่า หลังจากศาลชั้นต้นในสำนวนแรกคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ปค. 152/2538 มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าทดแทนเป็นเงิน 2,061,000 บาท ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยที่ 2 ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยมาวางต่อศาลชั้นต้นเพื่อเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสอง แม้ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีนั้นให้ยกคำขอส่วนนี้ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ขอเงินจำนวนนั้นคืน ทั้งตามคำให้การและคำฟ้องฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้กล่าวถึงการวางเงินจำนวนดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ให้โจทก์แล้ว ซึ่งเงินจำนวนนี้แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเรียกว่าเป็นการชำระค่าทดแทน แต่ก็เป็นจำนวนเดียวกันกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดในคดีนี้ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากศาลแล้วหรือไม่ ฉะนั้น เพื่อมิให้มีการบังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งเงินค่าทดแทนที่ได้วางไว้ในสำนวนแรกและค่าเสียหายตามคำพิพากษาในคดีนี้ซ้ำกัน ดังนั้น ในชั้นบังคับคดีหากโจทก์ทั้งสองได้รับเงินที่จำเลยที่ 2 วางไว้ในสำนวนแรกไปจากศาลชั้นต้นแล้ว ก็ให้นำเงินนั้นมาหักจากยอดต้นเงินที่ศาลฎีกาได้พิพากษาในคดีนี้ด้วยก่อนแล้วค่อยคำนวณดอกเบี้ยจากต้นเงินที่เหลือ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 13,740,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยตามอัตราและวันที่ศาลอุทธรณ์กำหนด ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์