คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1856/2524

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โรงงานยาสูบเป็นโรงงานของกระทรวงการคลังจำเลยที่ 1มิใช่ส่วนราชการของจำเลยที่ 1 โรงงานยาสูบจึงมิใช่ราชการส่วนกลาง ต้องอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน จำเลยที่ 1 ในฐานะนิติบุคคลผู้เป็นเจ้าของโรงงานยาสูบ และเป็นนายจ้างของโจทก์จึงอาจถูกฟ้องให้รับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ได้ มิใช่เป็นการใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวบังคับแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นราชการส่วนกลาง
จำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ย่อมเป็นนายจ้างตามความหมายในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 และมีหน้าที่ในฐานะเป็นนายจ้างที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 จำเลยที่ 2 จึงอาจถูกฟ้องเรียกค่าชดเชยได้เช่นกัน

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสี่จำนวน 11,850 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 1 เป็นราชการส่วนกลาง ไม่อยู่ในบังคับประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 กระทรวงการคลังจึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการโรงงานยาสูบของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์มิได้เช่นเดียวกันนั้น พิเคราะห์แล้วแม้จำเลยที่ 1 จะเป็นกระทรวงอันเป็นราชการส่วนกลาง แต่โรงงานยาสูบเป็นเพียงโรงงานของจำเลยที่ 1 หาใช่เป็นส่วนราชการของจำเลยที่ 1 ไม่โรงงานยาสูบจึงมิใช่ราชการส่วนกลาง ต้องอยู่ในบังคับของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ด้วย จำเลยที่ 1 ในฐานะนิติบุคคล ผู้เป็นเจ้าของโรงงานยาสูบและเป็นนายจ้างของโจทก์จึงอาจถูกฟ้องให้รับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ดังกล่าวได้ หาใช่เป็นการใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวบังคับแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นราชการส่วนกลางไม่ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ย่อมเป็นนายจ้างตามความหมายในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับเดียวกันนี้ และมีหน้าที่ในฐานะเป็นนายจ้างที่จะต้องจ่ายค่าชดเชยตามข้อ 46 จำเลยที่ 2 จึงอาจถูกฟ้องเรียกค่าชดเชยได้ด้วย”

พิพากษายืน

Share