แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงเกษตรเรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 (ประกาศ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2502)
ในจังหวัดที่ไม่มีประมงจังหวัด สรรพากรจังหวัดมีอำนาจร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดลงลายมือชื่อแทนกระทรวงเกษตรในสัญญาผูกขาดเก็บฟองเต่าและฟองกระทะเลตามกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงเกษตรไม่ต้องมีใบมอบอำนาจต่างหากอีก เมื่อผู้ผูกขาดผิดสัญญา กระทรวงเกษตรย่อมมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ จำเลยที่ ๑ ได้รับประทานบัตรจากผู้ว่าราชการจังหวัดผู้แทนโจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิเก็บฟองเต่าและกระทะเลแต่ผู้เดียวในหมู่เกาะอาดัง เกาะราวี และเกาะลิเป๊ะ ตั้งแต่วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๐๕ ถึง วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๐๘ รวม ๓ ปี ในการผูกขาดนี้จำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญายอมชำระเงินอากรในการผูกขาดให้โจทก์ปีละ ๔,๓๓๓.๓๔ บาท รวมเป็นเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท โดยชำระปีละ ๓ งวด โดยจำเลยที่ ๑ สัญญาเพาะและปล่อยลูกเต่าทะเล ลูกกระทะเล ๙,๐๐๐ ตัว หากไม่ปฏิบัติตามให้ปรับตัวละ ๑๐ บาท จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันต่อมาจำเลยที่ ๑ ชำระค่าอากร ๒ งวด นอกนั้นไม่ชำระเลยทั้งยังผิดสัญญาไม่ได้ปล่อยลูกเต่าทะเล ลูกกระทะเล ๓,๑๔๐ ตัว จะเสียค่าปรับ ๓๑,๔๐๐ บาท ค้างอากร ๑๙,๔๒๕ บาท รวมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ ๑๐ ถึงวันฟ้อง ๕,๘๐๒.๑๘ บาท เมื่อรวมกับค่าปรับแล้วเป็นเงินที่จำเลยที่ ๑ ต้องชำระ ๕๖,๖๒๗.๑๘ บาท โจทก์ทวงถามจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ไม่ชำระ ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองชำระ อากรดอกเบี้ย และค่าปรับ รวม ๕๖,๖๒๗.๑๘ บาท กับดอกเบี้ยอีกร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้ชำระค่าอากร ๒ ครั้ง ๕,๕๗๕ บาท จริงและปล่อยลูกเต่าและลูกกระทะเลไม่ครบจริง จำเลยที่ ๒ รับว่าทำสัญญาค้ำประกันแต่วันเดียวกันนั้นเอง จำเลยที่ ๒ บอกเลิกสัญญาค้ำประกัน และขอถอนการค้ำประกันไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ชำระค่าอากรปีที่ ๒ งวดที่ ๑ แล้วยังไม่ถึงกำหนดชำระงวดที่ ๒ จำเลยที่ ๑ ก็โอนสิทธิตามประทานบัตรและข้อผูกพันตามสัญญาผู้ขาดให้แก่นายสนิท อังโชติพันธ์แล้ว จำเลยที่ ๑ จึงพ้นความผูกพัน ความจริงจำเลยที่ ๑ มิได้ผิดสัญญาโจทก์หรือผู้แทนโจทก์ต่างหากที่มิได้ปฏิบัติตามข้อผูกพัน โจทก์ไม่อยู่ในฐานะของผู้เสียหายที่จะถือเอาประโยชน์ตามข้อผูกพัน กับตัดฟ้องว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันชำระค่าอากรและดอกเบี้ย และค่าปรับรวม ๕๖,๖๖๗.๑๘ บาท กับดอกเบี้ยจากเงินต้นดังกล่าวในอัตราร้อยละ ๑๐ ต่อปี (อ้างพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓๙) ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินอากรจำนวน ๒๕,๒๒๗.๑๘ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๑๐ ต่อปี และชำระค่าปรับ ๓๑,๔๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อปี ดอกเบี้ยนี้ให้คิดตั้งแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะใช้ให้โจทก์เสร็จ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยตามประเด็นในฎีกาของจำเลยว่า
๑. ฟังว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ถอนสัญญาค้ำประกันดังที่จำเลยฎีกา
๒. จำเลยที่ ๑ มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข คือ ชำระค่าอากรที่ค้างอยู่เสียก่อน การโอนสิทธิหน้าที่ตามสัญญาไม่เกิดขึ้น
๓. เรื่องอำนาจฟ้องนั้น แม้ตามสัญญาผูกขาดตามเอกสาร จ.๑ จะไม่มีใบมอบอำนาจจากโจทก์ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกับสรรพากรจังหวัดลงนามแทนโจทก์ก็ตาม แต่ในสัญญาฉบับนี้มีข้อความในตอนต้นว่า”หนังสือสัญญาฉบับนี้ ทำระหว่างกระทรวงเกษตร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลและสรรพากรจังหวัดสตูล ในฐานะเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นผู้แทน …” และในกฎกระทรวงฉบับที่ ๘ (พ.ศ.๒๔๙๐) ว่าด้วยที่ว่าประมูลออกตามความในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ ข้อ ๑๐ ก็ว่า “ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่เป็นผู้ลงลายมือชื่ออนุญาตในประทานบัตร ส่วนในสัญญาผูกขาดที่กระทรวงเกษตราธิการทำกับผู้รับอนุญาตนั้น ให้ข้าหลวงประจำจังหวัดท้องที่กับประมงจังหวัด หรือผู้รักษาการแทนเป็นผู้ลงลายมือชื่อแทนกระทรวงเกษตราธิการ แต่ถ้าจังหวัดใดไม่มีประมงจังหวัดหรือผู้รักษาการแทนก็ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.๒๔๙๐ เป็นผู้ลงลายมือชื่อร่วมกับข้าหลวงประจำจังหวัด” จังหวัดใดไม่มีประมงจังหวัด ก็มีประกาศกระทรวงเกษตร ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๐๒ ให้สรรพากรจังหวัดเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ประกอบกับได้ความว่าเมื่อทำสัญญาผูกขาดรายนี้ การผูกขาดเก็บไข่เต่าในจังหวัดสตูลยังอยู่ในหน้าที่ของสรรพากร ศาลฎีกาเห็นว่า นายนอง ปานชู ปลัดจังหวัดซึ่งรักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กับนายผล ราชฤทธิ์ สรรพากรจังหวัดสตูลมีอำนาจลงนามในสัญญาผูกขาดตามเอกสาร จ.๑ แทนโจทก์โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามสัญญาดังกล่าวได้
พิพากษายืน