แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สาเหตุน้ำท่วมนาของโจทก์เนื่องมาจากฝนตกเร็วกว่าปกติและมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีก่อน ๆ ซึ่งจำเลยไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ การที่จำเลยก่อสร้างซ่อมแซมทำนบที่กั้นลำห้วยสาธารณะเพื่อกักน้ำไว้เลี้ยงสัตว์น้ำให้ราษฎรจับเป็นอาหารในฤดูแล้ง จำเลยไม่มีเจตนาทำให้เกิดอุทกภัยหรือทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 228 และ 359
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันทำทำนบปิดกั้นลำห้วยบอนตรงบริเวณหนองฟ้าผ่า ซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณะไหลลงสู่แม่น้ำอูนทำให้เกิดอุทกภัย น้ำในลำห้วยไหลบ่าท่วมนาของโจทก์ ต้นข้าวในนาของโจทก์ทั้งเจ็ดได้รับความเสียหาย เป็นเนื้อที่รวมกันประมาณ200 ไร่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 228, 358, 359, 83ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้องจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 228, 359, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จึงให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 228จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 จำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 จำเลยทั้งหกอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2497 ราษฎรบ้านโนนทรายคำ ตำบลสว่าง อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ได้ก่อสร้างทำนบปิดกั้นลำห้วยบอนบริเวณหนองฟ้าผ่าซึ่งเป็นทางน้ำสาธารณะไหลลงสู่แม่น้ำอูนเพื่อกักเก็บน้ำไว้เลี้ยงปลาปูในฤดูแล้ง ต่อมาปี พ.ศ. 2519ทำนบชำรุดทรุดโทรม ราษฎรบ้านโนนทรายคำก็ช่วยกันซ่อมแซมจนเมื่อประมาณปลายเดือนเมษายน 2527 ฝนตกมากเป็นเหตุให้น้ำเอ่อท่วมนาของโจทก์ และราษฎรอื่นอีกเสียหายเป็นเงินประมาณ100,000 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหกกับราษฎรบ้านโนนทรายคำร่วมกันทำทำนบให้สูงและกว้างขึ้นกว่าเดิมจนเป็นเหตุให้น้ำในลำห้วยบอนไม่สามารถไหลลงสู่ลำน้ำอูน ทำให้เอ่อท่วมนาโจทก์เสียหายหรือไม่
ปัญหาข้อแรกมีว่า ทำนบดังกล่าวได้มีการซ่อมแซมเสริมคันทำนาให้สูงและกว้างกว่าเดิมหรือไม่ โจทก์มีโจทก์ที่ 2 กับนายแขม ราชวงศ์และนายธงชัย สุราษฎร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่เกิดเหตุเป็นพยาน โดยโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า แต่เดิมทำนบสูงจากพื้นดินประมาณ 4-5 เมตร ยาวประมาณ 20 เมตร กว้างประมาณ 5 เมตร จำเลยทั้งหกกับพวกช่วยกันก่อสร้างเพิ่มเติมโดยกั้นทำนบให้สูงขึ้นกว่าเดิม5-6 เมตร ยาวออกไปอีกประมาณ 10-20 เมตร และกว้างกว่าเดิมอีก1 เมตร นายแขมเบิกความว่าเดิมทำนบสูงจากพื้นดินประมาณ 3 เมตรครั้นเมื่อเกิดพิพาทกันแล้วได้ไปตรวจทำนบเมื่อวันที่ 25 เมษายน2527 ปรากฏว่าทำนบสูงกว่าเดิมประมาณ 2 เมตร กว้างประมาณ 5 เมตรและยาวประมาณ 30 เมตร นายธงชัยเบิกความว่า เมื่อวันที่ 1พฤษภาคม 2527 โจทก์ทั้งเจ็ดได้ไปแจ้งว่าน้ำท่วมนา จึงพากันออกไปตรวจดูที่ทำนบพิพาท ลักษณะทำนบนั้นยังใหม่ ไม่มีต้นหญ้า นอกจากนี้ตามบันทึกการเดินเผชิญสืบที่พิพาทของจ่าศาลปรากฏว่าสันทำนบกว้าง3 เมตร ฐานกว้าง 11 เมตร ยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก 37.20 เมตรแล้ววกจากทิศตะวันตกไปทางทิศใต้อีก 10.50 เมตร ลักษณะทำนบจากด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก 22.20 เมตร และจากปลายทางทิศตะวันตกไปทางทิศใต้อีก 10.50 เมตร เป็นดินแน่น ส่วนที่ห่างออกไปจากปลายทำนบด้านทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก 3 เมตร ลักษณะเป็นดินร่วมยาว 12 เมตร และสูงกว่าระดับทำนบเดิม 0.30 เมตร เห็นว่าลักษณะทำนบตามที่จ่าศาลได้บันทึกไว้นั้นจะมีส่วนทำนบเดิมซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 เป็นเวลากว่า 30 ปี ดินจึงจับกันแน่นส่วนปลายทำนบด้านที่ต่อออกไปจากทิศตะวันตกอ้อมไปทิศตะวันออกลักษณะเป็นดินร่วน แสดงว่าเพิ่งจะได้มีการปรับปรุงต่อเติมขึ้นใหม่ จึงทำให้คำเบิกความของนายแขมและนายธงชัยมีน้ำหนักมั่นคง เชื่อว่ามีการปรับปรุงต่อเติมทำนบพิพาท ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นายเสถียรและนายจอนซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ไปตรวจสอบได้ไปดูทำนบพิพาทแล้ว ไม่ปรากฏร่องรอยว่ามีการถมดินนั้น ไม่น่าเชื่อ เพราะพยานทั้งสองเป็นฝ่ายจำเลย คำเบิกความจึงขาดน้ำหนักไม่อาจหักล้างรายงานการเดินเผชิญสืบของจ่าศาลได้ปัญหาต่อไปมีว่าจำเลยทั้งหกเป็นผู้กระทำการต่อเติมทำนบกั้นหรือไม่ โจทก์มีโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2527พยานออกจากบ้านไปตามกระบือที่บริเวณทำนบพิพาทซึ่งห่างบ้านประมาณ 3 กิโลเมตร เห็นจำเลยทั้งหกกับพวกชาวบ้านโนนทรายคำกำลังช่วยกันขนดินไปปิดกั้นทำนบ โจทก์ที่ 4 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2527 พยานไปตามกระบือเห็นจำเลยทั้งหกกับพวกรวมประมาณ 30 คน ช่วยกันขุดดินทำฝายกั้นเป็นทำนบพิพาท โจทก์ที่ 1 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2527 พยานทราบจากเพื่อนบ้านว่ามีการปิดกั้นทำนบพิพาท จึงออกไปดูเห็นประชาชนเป็นกลุ่มกำลังสร้างต่อเติมทำนบพิพาทให้สูงขึ้น มีจำเลยทั้งหกรวมอยู่ด้วย เห็นว่าพยานโจทก์ทั้งสามคนนี้เป็นคนคุ้นเคยและรู้จักจำเลยทั้งหกดี เพราะอยู่บ้านตำบลเดียวกัน ไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ไม่มีข้อระแวงว่าจะแกล้งกล่าวหาจำเลย ได้ความว่าทำนบพิพาทนี้ราษฎรบ้านโนนทรายคำ ตำบลสว่างอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นผู้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้เลี้ยงปลา ปู ให้ราษฎรบ้านโนนทรายคำจับเป็นอาหารในฤดูแล้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 ต่อเมื่อปี พ.ศ. 2519 ชำรุดทรุดโทรมราษฎรบ้านโนนทรายคำก็ช่วยกันซ่อมแซมไปครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นจนถึงปี พ.ศ. 2527 เป็นเวลาเกือบ 10 ปี ไม่ได้มีการซ่อมแซมกันอีกเลย เชื่อว่าทำนบย่อมทรุดโทรมลงตามสภาพ จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านโนนทรายคำจำเป็นต้องนำลูกบ้านไปช่วยกันซ่อมแซมเพราะขณะที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไปเห็นนั้นใกล้จะถึงฤดูฝนแล้ว หากจำเลยทั้งหกกับพวกไม่รีบซ่อมแซมก็จะเก็บน้ำฝนไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เมื่อฝนตกน้ำท่วมที่นาของพวกโจทก์โจทก์ได้ร้องเรียนระบุเพียงว่า ขอให้จำเลยกับพวกเปิดทำนบเพื่อระบายน้ำออกโดยมิได้ระบุว่าจำเลยทั้งหกกับพวกเป็นผู้สร้างทำนบให้สูงขึ้นนั้น เห็นว่าครั้งนั้นโจทก์มิได้กล่าวโทษว่าจำเลยกับพวกได้กระทำความผิด แต่เป็นการที่โจทก์ขอร้องให้จำเลยกับพวกเปิดทำนบพิพาท การที่โจทก์ไม่ระบุชื่อจำเลยทั้งหกว่าเป็นผู้ร่วมกันกระทำการต่อเติมทำนบเป็นเรื่องธรรมดาไม่เป็นพิรุธอย่างไร พยานหลักฐานโจทก์เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งหกกับพวกร่วมกันก่อสร้างต่อเติมทำนบพิพาทจริง คดีมีปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ได้ความว่าทำนบพิพาทสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497แล้ว ไม่เคยมีปัญหาเรื่องน้ำท่วมที่นาของพวกโจทก์เลย โจทก์ที่ 1ก็ยอมรับว่าที่นาของตนเป็นที่ต่ำน้ำท่วมทุกปี จึงต้องปลูกพันธุ์ข้าวลอย และในปีที่เกิดเหตุประมาณน้ำฝนที่ตกในเดือนเมษายน2527 มากกว่าปีก่อนเล็กน้อย ดังนั้นสาเหตุที่เกิดน้ำท่วมที่นาของโจทก์คงเนื่องมาจากฝนตกเร็วกว่าปกติ และมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีก่อน ๆ ซึ่งในเรื่องนี้นายทรงสิทธิ์ กุลวิทัด พนักงานที่ดินประจำอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร พยานโจทก์ได้ออกไปตรวจสอบทำนบพิพาทตามคำสั่งของนายอำเภอพรรณานิคมก็ว่าตามความเข้าใจของพยานเป็นระดับน้ำท่วมนาเท่านั้น กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องของสภาพลักษณะภูมิอากาศทำให้ฝนตกมากกว่าปกติจำเลยทั้งหกกับพวกไม่สามารถที่จะทราบล่วงหน้าได้ว่าจะมีฝนตกเร็วและปริมาณมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา อนึ่งการที่จำเลยทั้งหกกับพวกก่อสร้างซ่อมแซมทำนบพิพาทก็เพื่อประสงค์จะเก็บกักน้ำไว้เลี้ยงปลา ปู ไว้ให้ราษฎรบ้านโนนทรายคำไว้จับเป็นอาหารในฤดูแล้ง ไม่มีเจตนาที่จะกระทำให้เกิดอุทกภัยหรือทำให้เสียหายซึ่งทรัพย์ของโจทก์ทั้งหมดการกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง”
พิพากษายืน