แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน2515 ข้อ 76 กำหนดให้ใช้ค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเท่าราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืนใช้บังคับหากในวันดังกล่าวไม่มีการซื้อขายที่ดินบริเวณที่ที่จะถูกเวนคืนโจทก์ก็นำสืบถึงราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในช่วงเวลาที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับมาเป็นเกณฑ์พิจารณาได้ จะอาศัยราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์กำหนดหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ราคาที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด โจทก์เพียงแต่นำเอาค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนแต่ลดน้อยถอยราคาลงไปเปรียบเทียบกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ลดน้อยถอยราคาลงเท่านั้น จึงหาได้ทำให้ค่าทดแทนส่วนนี้ซ้ำซ้อนกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนไม่เดิมที่ดินโจทก์ส่วนที่ติดซอยยาวประมาณ85 เมตร เมื่อถูกเวนคืนทำให้ที่ดินส่วนนี้เหลือกว้างเพียง10 เมตร ย่อมทำให้ใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนที่เหลือได้น้อยลง ที่ดินโจทก์ส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนจึงลดน้อยถอยราคาลง แม้จะยังไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนใช้บังคับโดยเฉพาะ แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 67 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากยอดเงินที่จะต้องชำระเพิ่มขึ้นนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 14660 และเลขที่ 287 แขวงบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานครทิศใต้ของที่ดินทั้งสองแปลงติดซอยสุขสวัสดิ์ 26 ตลอดแนวเขตยาวประมาณ 85 เมตร ที่ดินของโจทก์ดังกล่าวส่วนหนึ่งเนื้อที่612 ตารางวา อยู่ในเขตที่จะสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ส่วนที่ถูกเวนคืนให้โจทก์ 2 ราคา ที่ดินส่วนที่ติดซอยลึกจากซอยเข้าไป20 เมตร เนื้อที่ 277 ตารางวา ตารางวาละ 1,100 บาท และถัดจาก20 เมตรออกไป 335 ตารางวา ตารางวาละ 650 บาท รวมเป็นเงิน522,450 บาท ส่วนที่ดินที่เหลือจากการถูกเวนคืนลดน้อยถอยราคาลงจำเลยมิได้กำหนดให้ โจทก์ควรได้รับค่าทดแทนตารางวาละ 3,000 บาทรวมเนื้อที่ที่ถูกเวนคืน 612 ตารางวาเป็นเงิน 1,836,000 บาท โจทก์รับเงินมาแล้วจำนวน 522,450 บาท คงเหลือค่าทดแทนอีกจำนวน 1,313,550 บาท โจทก์ขอเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวประกาศใช้บังคับจนถึงวันฟ้อง แต่โจทก์ขอคิดเพียง 3 ปี เป็นเงิน 295,548.75 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 1,609,098.75 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ของต้นเงิน 1,313,550 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ ให้จำเลยชำระเงินค่าที่ดินในส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนลดน้อยถอยราคาลงเป็น 401,650 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จจำเลยให้การว่า ค่าทดแทนที่ดินที่จำเลยกำหนดให้โจทก์เป็นค่าทดแทนตามราคาท้องตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นจำนวนเหมาะสมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าที่ดินของโจทก์ที่ต้องลดน้อยถอยราคาลงโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกดอกเบี้ย และขณะนี้ยังไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ใช้บังคับขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 405,200 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 3 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 622,550 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 572,550 บาทนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไปมีกำหนดเวลา 3 ปี ในต้นเงิน50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับปัญหาข้อที่ว่า โจทก์จะมีสิทธิได้ค่าทดแทนเพิ่มขึ้นหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าการจ่ายค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนมิใช่ค่าทดแทนความเสียหายตามความเป็นจริงโดยสิ้นเชิงแต่เป็นค่าทดแทนให้โดยคำนึงถึงความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐในลักษณะที่เป็นธรรมและเหมาะสมเท่านั้น ที่จำเลยกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์โดยอาศัยราคาตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งคณะกรรมการกำหนดขึ้นใช้ในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับมาเป็นหลักเกณฑ์พิจารณากำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์จึงเป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ชอบด้วยกฎหมายพิเคราะห์แล้ว การกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนได้มีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 76 ระบุไว้ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาได้กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับหากในวันดังกล่าวไม่มีซื้อขายที่ดินบริเวณดังกล่าว โจทก์นำสืบถึงราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในช่วงเวลาที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับมาเป็นเกณฑ์พิจารณาได้ จะอาศัยราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมมาเป็นเกณฑ์กำหนดหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่ราคาที่ดินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาด ได้ความจากการนำสืบของโจทก์ซึ่งจำเลยไม่โต้เถียงฟังได้ว่าพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ก่อนพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับ นางชิด เชยแสง ขายที่ดิน 2 แปลงซึ่งอยู่ละแวกเดียวกันและไม่แตกต่างกับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนให้แก่นางสาวศิรินทร จิตต์วิวัฒน์ ไปเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม2522 ในราคาตารางวาละ 2,100 บาท และหลังจากพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวใช้บังคับ นางอรพินท์ นาครอด ขายที่ดิน 1 แปลงซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกันและไม่ต่างกับที่ดินโจทก์ที่ถูกเวนคืนให้แก่กระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2526 ในราคาตารางวาละ 3,000 บาท เห็นว่า วันซื้อขายที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวใกล้เคียงกับวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับประกอบกับนอกจากจำเลยจะไม่ได้นำสืบว่าราคาซื้อขายกันดังกล่าวไม่ใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดแล้วเรือโทประสพ โชควุฒิสาร พยานจำเลยยังเบิกความว่า ราคาที่ดินแปลงที่กระทรวงการคลังซื้อจากนางอรพิณท์เป็นราคาแท้จริง เจือสมพยานโจทก์ด้วยดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานจำเลยกรณีฟังได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันดังกล่าวเป็นราคาธรรมดาในท้องตลาด เมื่อเป็นราคาที่สูงกว่าค่าทดแทนที่จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินโจทก์ซึ่งอยู่ติดซอยสุขสวัสดิ์ 26 ในรัศมี 20 เมตร ตารางวาละ2,500 บาท ส่วนที่อยู่ถัดไปตารางวาละ 1,500 บาท จึงชอบและสมเหตุสมผล ที่จำเลยฎีกาว่า จะนำเอาราคาซื้อขายที่ดินทั้ง 3 แปลงดังกล่าวมาเปรียบเทียบเพื่อกำหนดค่าทดแทนที่ดินโจทก์ไม่ได้เพราะไม่ได้ซื้อขายกันในวันที่พระราชกฤษฎีกาให้เวนคืนที่ดินโจทก์ใช้บังคับ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาข้อที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนที่ลดน้อยถอยราคาลงหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าลดน้อยถอยราคาลงจากที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืน แต่ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนซึ่งจำเลยได้จ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์ไปแล้ว จึงเป็นการเรียกค่าทดแทนที่ซ้ำซ้อนนั้น เห็นว่า โจทก์เพียงแต่นำเอาค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนแต่ลดน้อยถอยราคาลงไปเปรียบเทียบกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนเพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ลดน้อยถอยราคาลงเท่านั้น จึงหาทำให้ค่าทดแทนส่วนนี้ซ้ำซ้อนกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่ถูกเวนคืนไม่ ได้ความว่าเดิมที่ดินโจทก์ส่วนที่ติดซอยสุขสวัสดิ์ 26 ยาวประมาณ 85 เมตรเมื่อถูกเวนคืนทำให้ส่วนที่อยู่ติดซอยดังกล่าวเหลือกว้างเพียง10 เมตร เช่นนี้ย่อมทำให้ใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนที่เหลือได้น้อยลงที่ดินโจทก์ส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนจึงลดน้อยถอยราคาลงเป็นธรรมดาดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนส่วนนี้เป็นเงิน 50,000 บาทจึงสมควรและเหมาะสมแล้ว ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาเกี่ยวกับดอกเบี้ย จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเพราะขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับที่ดินโจทก์ใช้บังคับ เห็นว่าแม้จะไม่มีพระราชบัญญัติดังกล่าวดังที่จำเลยฎีกา แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตามฟ้องโดยอาศัยอำนาจประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 67 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้เรียกดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากยอดเงินที่จะต้องชำระเพิ่มขึ้น นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นนั้น ศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้จึงเป็นฎีกานอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนปัญหาข้อที่ว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจำนวนเท่าไรโจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์คำนวณค่าทดแทนให้โจทก์ไม่ถูกต้องเห็นว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้ว่าที่ดินโจทก์ถูกเวนคืนรวมทั้งสิ้น 612 ตารางวา มีส่วนอยู่ในรัศมี 20 เมตร จากซอยสุขสวัสดิ์ 26 จำนวน 277 ตารางวา ส่วนที่ถัดไปจำนวน 335ตารางวา เมื่อที่ส่วนแรกกำหนดให้จ่ายค่าทดแทนตารางวาละ 2,500 บาทส่วนที่เหลือจ่ายค่าทดแทนตารางวาละ 1,500 บาท ดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น แต่ศาลอุทธรณ์จ่ายค่าทดแทนที่ดินส่วนแรกให้เพียง177 ตารางวา และจ่ายค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือ 435 ตารางวาเช่นนี้จึงไม่ถูกต้องดังที่โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาจึงคำนวณค่าทดแทนเสียใหม่ให้ถูกต้อง กล่าวคือที่ดินส่วนแรกจำนวน 277 ตารางวา ๆ ละ2,500 บาท เป็นเงิน 692,500 บาท ที่ดินส่วนที่เหลือ 335ตารางวา ๆ ละ 1,500 บาท เป็นเงิน 502,500 บาท รวมเป็นค่าทดแทน 1,195,000 บาท โจทก์รับค่าทดแทนไปแล้ว 522,450 บาทเหลือค่าทดแทน 672,550 บาท เมื่อรวมกับค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือจากถูกเวนคืนแต่ลดน้อยถอยราคาลงอีก 50,000 บาท ดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น จึงเหลือค่าทดแทนที่จำเลยต้องจ่ายเพิ่มรวมทั้งสิ้น 722,550 บาท ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 722,550 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 672,550 บาทนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องต้องไม่เกิน 3 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์