แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายจันทร์ มีทรัพย์สินมรดกเป็นที่ดินพิพาท บ. บิดาจำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทบางส่วนเพื่อทำนา ทำไร่ และขออาศัยที่ดินอีกประมาณ 4 ไร่ เพื่อปลูกบ้าน โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองเช่าและอาศัยอยู่ต่อไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า บ. เข้าจับจองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ ปี 2504 ต่อมา บ. ถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองทำประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน ที่พิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามคำฟ้องและคำให้การเป็นการโต้เถียงกันว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายปีละ 20,000 บาท จึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามา จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 และกรณีเช่นนี้จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสอง
คดีนี้เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์ และที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ 15,000 บาท นั้น เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ตามตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ศาลฎีกาจึงแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนบ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 8 ตำบลวังศาล อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ และออกไปจากที่ดินมือเปล่าเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ ของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 104 และ 105 ตำบลวังโป่ง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายปีละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกไปจากที่ดินโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท และรื้อถอนบ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 8 ตำบลวังศาล อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ ออกไปจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในอัตราปีละ 20,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 เมษายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกและรื้อถอนบ้านไปจากที่ดินพิพาท กับให้ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า เดิมนายจันทร์ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 104 และ 105 ตำบลวังโป่ง อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ เนื้อที่แปลงละ 50 ไร่ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นายจันทร์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 และศาลมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดก นายแบนเป็นน้องเขยของนายจันทร์และเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 เดิมนายแบนครอบครองทำประโยชน์และปลูกสร้างบ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 6 ตำบลวังศาล อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่อาศัยบนที่ดินไม่มีเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ เนื้อที่ 80 ไร่ 2 งาน 16 ตารางวา ที่พิพาทซึ่งอยู่ติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 105 ของนายจันทร์ด้านทิศตะวันออก หลังจากนายแบนถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2550 จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทสืบต่อมาจากนายแบนจนถึงปัจจุบัน
พิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิฎีกาหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายจันทร์ มีทรัพย์สินมรดกเป็นที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่า นายแบน บิดาจำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทบางส่วนเพื่อทำนา ทำไร่และขออาศัยที่ดินอีกประมาณ 4 ไร่ เพื่อปลูกบ้าน ต่อมาโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองเช่าและอาศัยอยู่ต่อไป ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและบริวารรื้อถอนบ้านและออกไปจากที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า นายแบนเข้าจับจองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2504 ต่อมานายแบนถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองร่วมกันครอบครองทำประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน ที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่าอันเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามคำฟ้องและคำให้การเป็นการโต้เถียงกันว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายปีละ 20,000 บาท โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองและศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามา จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และกรณีเช่นนี้จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาด้วย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสอง
คดีนี้เป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจำนวน 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์เสียค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ เป็นการเสียค่าขึ้นศาลชั้นต้นเกินกว่าที่โจทก์ควรจะเสีย จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์ และที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความแก่โจทก์ 15,000 บาท นั้น เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2551 ที่ให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่มีการฟ้องคดี บังคับแก่คดีจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งคดีนี้โจทก์ฟ้องก่อนพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวใช้บังคับ ศาลฎีกาจึงแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 และยกอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยทั้งสอง ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เป็นเงิน 3,000 บาท และคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นที่เกินมา 28,300 บาท แก่โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งหมดให้จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ