คำสั่งคำร้องที่ 907/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ข้อ 2.1 นั้นโจทก์ได้อุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ศาลแรงงานกลางไม่หยิบยกพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาวินิจฉัย โดยเฉพาะเอกสารหมาย จ.3 และ จ.5อันเป็นการขัดต่อกฎหมาย ตลอดจนศาลแรงงานกลางตีความสัญญาเอกสารหมาย จ.2 ไม่เป็นไปตามเนื้อความสัญญาและยังได้อุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายในข้อ 2.2 อีกว่า คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางขัดต่อพยานหลักฐาน ขอได้โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ ทนายจำเลยแถลงคัดค้าน (อันดับ 59)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 7,083.30 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันฟ้อง(วันที่ 30 กันยายน 2535) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว(อันดับ 51)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 55)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ลาออก โจทก์อุทธรณ์ข้อ 2.1 โดยขอให้ศาลฟังพยานหลักฐาน ของโจทก์ว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจ ในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะอ้าง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 มาสนับสนุน แต่สาระสำคัญก็คือการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางดังกล่าว อันเป็นอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อ 2.2 ในประเด็นว่า จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์หรือไม่นั้น โจทก์อุทธรณ์ว่า หากพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์แล้ว ย่อมฟังได้ว่า จำเลยติดค้างค่าจ้างโจทก์ ซึ่งเป็นการอุทธรณ์ โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันอุทธรณ์ทั้งสองข้อของโจทก์จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share