แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ขณะที่คดีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่อยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาได้พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ศาลอุทธรณ์จึงมีคำพิพากษาในเรื่องบังคับคดีโดยให้ยกเลิกการขายทอดตลาดโจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเรื่องการบังคับคดีหลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ไปแล้ว โจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป ทั้งโจทก์มิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี จึงไม่มีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเรื่องการบังคับคดีต่อไป เหตุที่ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง หากการบังคับคดีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ต่อมาจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดกลับให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีก็ตาม ก็ไม่ทำให้การขายทอดตลาดที่ได้ดำเนินการโดยชอบแล้วเสียไป กรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีที่มีคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 295(3) นั้นหมายถึงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีที่จะดำเนินการต่อไปมิได้หมายความว่าการบังคับคดีที่ผ่านไปแล้ว กลายเป็นการบังคับคดีที่มิชอบ เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทรัพย์ต่ำกว่าราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินกว่าสองเท่าตัว แม้จะมีการประกาศขายถึง 5 ครั้งแต่เป็นการเลื่อนการขายเพราะไม่มีผู้นำขายถึง 2 ครั้ง อีก 3 ครั้งเลื่อนเพราะมีผู้เสนอราคาต่ำ การขายในครั้งนี้แม้จะเป็นการขายครั้งที่ 4 ที่มีผู้เสนอราคา แต่ก็เห็นได้ว่าราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอต่ำเกินไป หากเลื่อนการขายออกไปอีกอาจมีผู้เสนอราคาสูงกว่าก็ได้เจ้าพนักงานบังคับคดีก็น่าจะถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดครั้งนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 แล้วประกาศขายทอดตลาดใหม่ การอนุญาตให้ขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513ประกอบ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 เป็นการไม่ชอบตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 627เป็นที่ดินของนางฉิ้ม วัฒนพันธ์ เป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และนางอำพรหรืออำมร สุพรหมมา ผู้เป็นทายาท ให้จำเลยทั้งสองไถ่ถอนจำนองและคืนที่ดินโดยปลอดจำนองแก่กองมรดกของนางฉิ้ม ให้กำจัดจำเลยทั้งสองมิให้ได้รับมรดกของนางฉิ้มศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนางฉิ้มตกได้แก่โจทก์และนางอำพรหรืออำมรผู้เป็นทายาท ให้จำเลยทั้งสองไถ่ถอนจำนองและคืนที่ดินพิพาทโดยปลอดจำนองแก่กองมรดกของนางฉิ้ม กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกของนางฉิ้ม จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดีในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 519 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และมีการจดทะเบียนจำนองต่อธนาคารเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวโดยปลอดจำนอง นางอำพรหรืออำมรสุพรหมมา เป็นผู้ซื้อได้ในราคา 125,000 บาท
จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดราคาต่ำกว่าราคาที่ประเมินไว้ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยเพียงแต่อ้างลอย ๆ ว่า ขายทอดตลาดในราคาต่ำเกินไป แต่ไม่ได้ระบุว่า การขายทอดตลาดไม่ชอบหรือผิดกฎหมายอย่างไร อีกทั้งจำเลยก็รับว่ามีการขายทอดตลาดมาหลายครั้งแล้ว และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ให้โอกาสจำเลยหาผู้มาซื้อ แต่จำเลยก็หาไม่ได้ ให้ยกคำร้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ศาลฎีกาได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชนะคดีเป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์
โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นทำการบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาโดยยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาดผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาด จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดได้ราคาที่ต่ำไปขอให้ศาลมีคำสั่งให้ขายทอดตลาดใหม่ ศาลชั้นต้นยกคำร้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3ศาลฎีกาได้พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมีคำพิพากษาในเรื่องการบังคับคดีโดยให้ยกเลิกการขายทอดตลาดการที่โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในเรื่องการบังคับคดีนี้หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโจทก์ไปแล้ว โจทก์จึงมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป ทั้งโจทก์มิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในเรื่องการบังคับคดีดังกล่าวต่อไปแม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของโจทก์ ก็เป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในฎีกาส่วนของโจทก์นี้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์มีว่า การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ โดยผู้ซื้อทรัพย์ฎีกาว่า คดีนี้มีการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลย เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แม้ต่อมาศาลฎีกาจะพิพากษาให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีการขายทอดตลาดก็มีผลบังคับตามกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ควรยกเลิกการขายทอดตลาด ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุที่ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดดังกล่าวได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง หากการบังคับคดีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว แม้ต่อมาจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดกลับให้จำเลยเป็นฝ่ายชนะคดีก็ตาม ก็ไม่ทำให้การขายทอดตลาดที่ได้ดำเนินการโดยชอบแล้วเสียไป สำหรับกรณีเจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีที่มีคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 295(3) นั้น หมายถึงให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีที่จะดำเนินการต่อไป มิได้หมายความว่าการบังคับคดีที่ผ่านไปแล้วกลายเป็นการบังคับคดีที่มิชอบแต่อย่างไรไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ศาลฎีกาได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์ หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่มี ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์และขายทอดตลาดไปนั้นจึงไม่มีผล เห็นสมควรยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวเสีย แล้วพิพากษากลับให้ยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์นั้น จึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ในส่วนนี้ฟังขึ้น แต่ที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ได้ราคาต่ำไปเป็นการมิชอบนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาใหม่ ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ความว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2531 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 519 เนื้อที่ 97 ตารางวาเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคา 291,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดครั้งแรก ในวันที่ 12 ตุลาคม 2531 แต่ไม่มีผู้นำขาย และเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2531 เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวเพิ่มเติม โดยประเมินราคาสิ่งปลูกสร้าง 17,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในวันที่ 19 ธันวาคม 2531 แต่มีผู้เสนอราคาต่ำ เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายใหม่ในวันที่ 19 มกราคม2532 เมื่อถึงวันนัดมีผู้เสนอราคาต่ำจึงเลื่อนไปขายในวันที่ 24กุมภาพันธ์ 2532 แต่ไม่มีผู้นำขาย เลื่อนไปขายในวันที่ 12 พฤษภาคม2532 มีผู้เสนอราคาต่ำ จึงเลื่อนการขายไปในวันที่ 21 มิถุนายน 2532ผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคา 125,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์ไป จำเลยทั้งสองจึงร้องคัดค้านการขายในครั้งนี้ เห็นได้ว่าที่ดินแปลงนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประเมินราคาไว้291,000 บาท ตรงกับราคาประเมินของเจ้าพนักงานที่ดินดังปรากฏตามเอกสารท้ายอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง และประเมินราคาสิ่งปลูกสร้าง17,000 บาท แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไปเพียง 125,000 บาท ต่ำกว่าราคาประเมินกว่าสองเท่าตัวแม้จะมีการประกาศขายถึง 5 ครั้ง แต่เป็นการเลื่อนการขายเพราะไม่มีผู้นำขายถึง 2 ครั้ง อีก 3 ครั้งเลื่อนเพราะมีผู้เสนอราคาต่ำการขายในครั้งนี้แม้จะเป็นการขายครั้งที่ 4 ที่มีผู้เสนอราคา แต่ก็เห็นได้ว่าราคาที่ผู้ซื้อทรัพย์เสนอนั้นเป็นราคาที่ต่ำเกินไป หากเลื่อนการขายออกไปอีกอาจมีผู้เสนอราคาสูงกว่านั้นได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็น่าจะถอนทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดในครั้งนั้นดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 แล้วประกาศขายทอดตลาดใหม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์ตามพฤติการณ์แล้วน่าเชื่อว่าหากมีการประกาศขายใหม่จะมีผู้สู้ราคาสูงกว่าในครั้งนี้ การอนุญาตให้ขายของเจ้าพนักงานบังคับคดีในครั้งนี้ จึงมิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการขายทอดตลาด เป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 513 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 308 เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้ยกเลิกการขายทอดตลาดทรัพย์ในครั้งนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน