คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1287/2535

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะ บ. ซึ่งเป็นมารดาโจทก์และจำเลยทั้งสามตาย บุตรทุกคนไม่ได้อยู่กับ ท. ซึ่งเป็นบิดาและ บ. ขณะนั้นจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องอายุ 19 ปีเศษ โจทก์และบุตรคนอื่น บรรลุนิติภาวะหมดแล้วนอกจากที่ดินพิพาทแล้ว ท. และ บ. ยังมีทรัพย์สินร่วมกันอีกหลายอย่างเมื่อ บ. ตาย ท. ได้เข้าจัดการทรัพย์สินทุกอย่างรวมทั้งได้ขอรับมรดกที่ดินของ บ. ลงชื่อ ท. ถือกรรมสิทธิ์ไว้คนเดียว และได้จดทะเบียนให้จำเลยทั้งสามถือ กรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แสดงว่า ท.ได้ถือตนว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งส่วนของตนและส่วนที่เป็น มรดกของ บ. แต่ผู้เดียวตลอดมามิได้ครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนบุตรด้วยแต่ประการใด โจทก์และบุตรทุกคนต่างยินยอมรับปฏิบัติตามต่อการกระทำของ ท.มาแต่ต้นไม่เคยคัดค้านการจัดการทรัพย์สินของท.เลย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อเกินสิบปีนับแต่ บ. ตาย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในทรัพย์มรดกของ บ. จึงเป็นอันขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสุดท้าย โจทก์ ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่ ท. ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสาม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายทองและนางบุญมา ศิลปสุวรรณ เป็นสามีภรรยากันมีบุตรด้วยกัน 8 คน รวมทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสาม นายทองและนางบุญมามีที่ดินมีโฉนดเป็นสินสมรสจำนวน 12 แปลง นางบุญมาถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2509 เมื่อแบ่งสินสมรสระหว่างนายทองและนางบุญมาแล้วส่วนของนางบุญมาเป็นมรดกตกได้แก่นายทองและบุตร8 คน คนละส่วน นายทองได้ครอบครองที่ดินมรดกของนางบุญมาไว้แทนบุตรทั้ง 8 คน ตลอดมา ครั้นวันที่ 28 มกราคม 2520 นายทองยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสามถือกรรมสิทธิ์รวม โดยยกให้เกินส่วนของนายทองทำให้โจทก์และทายาทอื่นไม่ได้รับมรดกของนางบุญมา ต่อมาจำเลยทั้งสามไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินขอแบ่งแยกที่ดิน โจทก์และทายาทอื่นเสียหาย ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ของนายทองซึ่งให้จำเลยทั้งสามมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท ถอนชื่อจำเลยทั้งสามออกจากโฉนดที่ดิน และเพิกถอนการขอแบ่งแยกที่ดินของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การว่า เมื่อนางบุญมาถึงแก่ความตาย นายทองได้ครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นมรดกของนางบุญมาร่วมกับจำเลยทั้งสามตลอดมา โจทก์และทายาทอื่นไม่ได้โต้แย้งคัดค้านหรือเข้าเกี่ยวข้องด้วย โจทก์ย่อมหมดสิทธิรับมรดกที่ดินของนางบุญมาเพราะพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่นางบุญมาตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความที่นายทองทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสามมีกรรมสิทธิ์รวมด้วยนั้นก็ไม่เกินส่วนของนายทอง และการที่จำเลยทั้งสามไปยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินก็เป็นการกระทำโดยสุจริตตามสิทธิที่มีอยู่ไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์หรือทายาทอื่น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า หลังจากนางบุญมามารดาโจทก์และจำเลยทั้งสามถึงแก่ความตายแล้ว นายทองบิดาโจทก์และจำเลยทั้งสามได้ครอบครองมรดกของนางบุญมาทั้งหมดเป็นของตนแต่ผู้เดียว มิใช่ครอบครองแทนบุตร โจทก์ซึ่งไม่ได้ครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกับนายทองไม่มีสิทธิเรียกร้องที่ดินส่วนของมารดาเกินกว่า 1 ปี นับแต่รู้ว่ามารดาถึงแก่ความตาย การที่นายทองโอนกรรมสิทธิ์ในส่วนของนางบุญมาให้จำเลยทั้งสาม จึงเป็นการโอนโดยชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินดังกล่าว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายทองยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสามหรือไม่โจทก์ฎีกาว่า นายทองได้ครอบครองทรัพย์มรดกของนางบุญมาไว้แทนบุตรทุกคน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น ได้ความว่าขณะนางบุญมาถึงแก่ความตาย บุตรทุกคนไม่ได้อยู่กับนายทองและนางบุญมา โดยโจทก์และนายประกอบ ศิลปสุวรรณ ไปอยู่ต่างประเทศ จำเลยที่ 3 ไปศึกษาอยู่กรุงเทพมหานคร บุตรคนอื่นต่างมีครอบครัวแยกย้ายกันไปอยู่ต่างหาก ขณะนั้นจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรคนสุดท้องอายุ 19 ปี 10เดือนเศษ โจทก์และบุตรคนอื่นบรรลุนิติภาวะกันหมดแล้วที่ดินพิพาทขณะนางบุญมาตายยังแยกโฉนดกันอยู่รวม 12 แปลง บางแปลงมีชื่อนายทองถือกรรมสิทธิ์คนเดียว บางแปลงมีชื่อนายทองและนางบุญมาถือกรรมสิทธิ์รวมกัน หลังจากนางบุญมาตายแล้วนายทองได้ไปขอรับมรดกของนางบุญมา แล้วลงชื่อนายทองถือกรรมสิทธิ์ไว้คนเดียวต่อมานายทองได้ขอรวมที่ดินพิพาททั้ง 12 แปลงดังกล่าว ที่ดินพิพาทนี้เป็นที่นาได้ให้คนอื่นเช่าทำนา บุตรเป็นผู้ไปเก็บค่าเช่านาแล้วนำมามอบให้แก่นายทอง นอกจากที่ดินพิพาทแล้วนายทองและนางบุญมายังมีทรัพย์สินร่วมกันอีกหลายอย่าง เมื่อนางบุญมาตาย นายทองได้เข้าจัดการทรัพย์สินทุกอย่าง โดยดำเนินกิจการร้านค้าทองแม่บุญมาเองโอนตึกแถวมาเป็นชื่อของตนถือกรรมสิทธิ์ ขายตึกแถวให้ธนาคารกรุงไทยจำกัด 2 ห้อง ที่เหลืออีก 14 ห้อง ได้โอนให้บุตรทุกคนไม่พร้อมกันคนละ 2 ห้อง ยกเว้นนายประกอบไม่ได้รับโอน ที่ดินที่จังหวัดลพบุรีได้จัดสรรขายให้แก่ผู้อื่น และยังขายที่ดินที่จังหวัดสระบุรีบางส่วนให้โรงงานปูนซิเมนต์ขาวตรากิเลนด้วย โจทก์และบุตรทุกคนไม่เคยคัดค้านการจัดการทรัพย์สินของนายทองเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 28มกราคม 2520 นายทองได้จดทะเบียนให้จำเลยทั้งสามถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แสดงว่านายทองได้ถือตนว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งส่วนของตนและส่วนที่เป็นมรดกของนางบุญมาแต่ผู้เดียวตลอดมาโจทก์และบุตรทุกคนต่างยินยอมรับปฏิบัติตามต่อการกระทำของนายทองมาแต่ต้น มิได้โต้แย้งคัดค้าน พฤติการณ์ดังกล่าว แสดงว่านายทองมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนบุตรด้วยแต่ประการใด หากแต่นายทองได้ครอบครองที่ดินทั้งหมดอย่างถือตนเป็นเจ้าของผู้เดียว โจทก์เพิ่งมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2529 เกินสินปีนับแต่เมื่อนางบุญมาตาย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในทรัพย์มรดกของนางบุญมาจึงเป็นอันขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754วรรคสุดท้าย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายทองยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสาม
พิพากษายืน.

Share